กลุ่ม JA : บ่วงที่ไร้ทางปลด ?

Japan's Prime Minister Shinzo Abe, who is also leader of the Liberal Democratic Party (LDP), attends a news conference at LDP headquarters in Tokyo, Japan October 23, 2017. REUTERS/Toru Hanai TPX IMAGES OF THE DAY

หนึ่งในเป้าหมายหลักของธนูดอกที่สามในนโยบาย “อาเบะโนมิคส์” หรือนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามาเกือบสามทศวรรษก็คือการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่น หรือ JA ซึ่งที่ผ่านมามีสถานะเป็น “ดาบสองคม” ของพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือพรรค LDP (Liberal Democratic Party) ในทางหนึ่ง ภาคเกษตรกรรมเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค LDP ที่ทำให้พรรค LDP ชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจในฐานะรัฐบาลญี่ปุ่น นับตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยในปีค.ศ.1955 พรรค LDP พ่ายแพ้การเลือกตั้งเพียงสองครั้ง ครั้งแรกในปี1993 ทว่ารัฐบาลในตอนนั้นก็อยู่ในอำนาจได้เพียงเก้าเดือนเนื่องจากขาดเสถียรภาพจากการเป็นรัฐบาลผสม ทำให้พรรค LDP กลับสู่อำนาจอีกครั้ง ส่วนความพ่ายแพ้ครั้งที่สองของพรรค LDP เกิดขึ้นในปี 2009 ที่พวกเขาพ่ายแพ้ให้แก่พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือพรรค DPJ (Democratic Party of Japan) คู่แข่งสำคัญของพรรค LDP ซึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000

การพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2009 ของพรรค LDP ถือเป็นการ “เตือน” จากกลุ่ม JA ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลพยายามจะปฏิรูปและเลิกปกป้องภาคเกษตรกรรม แต่กระนั้นพรรค DPJ ก็ไม่ได้สัมผัสชัยชนะอีก เหตุเพราะรัฐบาลพรรค DPJ พยายามพาญี่ปุ่นเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเปิดเสรีทางการค้า และหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในเงื่อนไขก็คือสินค้าการเกษตร ทำให้พรรค DPJ ถูก “ลงโทษ” และพรรค LDP ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในปี 2012 โดยมีนายชินโสะ อาเบะเป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่ม JA และภาคการเกษตรจึงเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่ต้องการคว้าชัยในการเลือกตั้ง ทำให้ภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนทางจีดีพีน้อยได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น และยังได้รับการปกป้องจากการแข่งขันภายนอก ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละปี รัฐบาลญี่ปุ่น (หรือพรรค LDP) สูญเสียงบประมาณของรัฐไปไม่น้อยกับการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมเพื่อคงฐานเสียงของตัวเองไว้

ในตอนนี้กลุ่ม JA และภาคการเกษตรจึงไม่ต่างอะไรกับ “บ่วง” ที่รัดคอพรรค LDP ไม่ให้ดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างซึ่งเป็นธนูดอกที่สามของ “อาเบะโนมิคส์” ได้อย่างอิสระ การปฏิรูปภาคการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของธนูดอกที่สามจึงยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบของ “รัฐมุ่งพัฒนา” (Developmental State) ที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวกระโดดจากประเทศผู้แพ้สงครามกลายเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วจนโลกต้องทึ่ง ในยุคนั้น กลุ่ม JA ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค LDP แล้ว ยังทำหน้าที่ในกลไกการออกนโยบายที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเหล็ก” (Iron Triangle) ซึ่งประกอบไปด้วยสามองค์กรหลัก ได้แก่ รัฐบาล (พรรค LDP) กระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และการประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fishery) ซึ่งเป็นภาคส่วนราชการ และกลุ่ม JA หรือกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งสามองค์กรทำงานร่วมกันในการออกนโยบายทางการเกษตร ทำให้กลุ่ม JA มีความใกล้ชิดกับพรรค LDP มากกว่าพรรคอื่นๆ ยังไม่รวมถึงการที่พรรค LDP ใช้วิธีเอื้อผลประโยชน์ (pork-barreling) ในเขตเลือกตั้งในชนบท เพื่อแลกกับการรวบรวมคะแนนเสียงจากกลุ่มเกษตรกรให้สนับสนุนพรรค LDP โดยมีกลุ่ม Koenkai หรืออาจเรียกว่า “กลุ่มหัวคะแนน” ไปออกตระเวนรวบรวมคะแนนเสียงด้วยวิธีการ “สัญญาว่าจะให้” ไม่ว่าจะเป็นโอกาสหรือสิ่งของ ขอเพียงลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรค LDP

คำถามคือ พรรคการเมืองอื่นก็ใช้วิธีสัญญาแบบนี้ได้ไม่ใช่หรือ? แต่เพราะเหตุใดผู้คนจึงยังเทคะแนนให้พรรค LDP มากกว่าผู้สมัครจากพรรคคู่แข่ง? คำตอบก็คือ เพราะพรรค LDP มี “เครดิต” หรือมีความน่าเชื่อถือมากกว่าพรรคอื่นๆ คนเชื่อว่าพรรค LDP มีโอกาสที่จะชนะเป็นรัฐบาลและสามารถทำตามสัญญาได้มากกว่า จึงพากันลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรค LDP

แน่นอนว่าการที่พรรค LDP พึ่งพากลุ่ม JA และ Koenkai ในระดับที่มากเกินไปเช่นนี้ ถือเป็นการเพิ่มพูนอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีต่อรัฐบาลไปโดยปริยาย นอกจากนี้การประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งของพรรค LDP ยังสร้างแนวปฏิบัติให้พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ปรารถนาจะชนะการเลือกตั้งแบบพรรค LDP บ้าง ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า – ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม – กลุ่ม JA และภาคการเกษตรก็ยังทรงอิทธิพลต่อการเมืองญี่ปุ่นอยู่จวบจนปัจจุบัน

การประกาศให้การปฏิรูปภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในเป้าหมายของธนูดอกที่สามแห่งอาเบะโนมิคส์ของนายกรัฐมนตรชินโสะ อาเบะจึงนับเป็นความกล้าหาญอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจนถึงตอนนี้การปฏิรูปจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ตาม

นอกจากนี้ บทเรียนจากการ “โดนลงโทษ” ของพรรคDPJในการพาญี่ปุ่นเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิคทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นนำโดยนายอาเบะต้องทบทวนเงื่อนไขการเปิดเสรีทางการค้าในความตกลงนี้ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลอเมริกานำโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาต้องการให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีในทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการเกษตร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจากสายเหยี่ยวของพรรคLDPคนนี้เลือกที่จะถอดภาคการเกษตรออกจากแผนการเปิดเสรีทางการค้าตามข้อตกลงTPPหลังจากที่พรรคLDPชนะการเลือกต้ังในเดือนตุลาคมเมื่อปีกลายและนายอาเบะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นสมัยที่สอง

แต่กระนั้น นายกฯอาเบะก็ยังไม่ละความพยายามที่จะบั่นทอนอิทธิพลของกลุ่มJAที่มีต่อพรรคLDPและการเมืองญี่ปุ่น ดังที่กล่าวมาข้างต้น การปฏิรูปสหกรณ์การเกษตรเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนโยบายอาเบะโนมิคส์ นโยบายมุ่งที่จะทำให้กลุ่มJAอ่อนแอลงด้วยการหันไปสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อกระจายอิทธิพลออกจากกลุ่มJA แต่ด้วยความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานระหว่างพรรคLDPและกลุ่มJAทำให้การปฏิรูปไม่มีความคืบหน้า ยิ่งไปกว่านั้น เงินมหาศาลก้อนแรกที่ใช้อัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นธนูดอกที่สองของนโยบายอาเบะโนมิคส์นั้น เห็นได้ชัดว่าเม็ดเงินกว่า40%ถูกใช้ไปเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคการเกษตร การป่าไม้ และการประมง

ถึงตอนนี้จึงยังไม่มีหลักฐานที่ประจักษ์ชัดว่านายกฯชินโสะ อาเบะและพรรคLDPถอนการสนับสนุนจากภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคที่ค่อยๆถูกลดความสำคัญลงอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลา ทั้งด้วยเป็นสัดส่วนที่เล็กเมื่อเทียบกับจีดีพีทั้งหมด จำนวนชาวนาที่ลดน้อยลง และผลผลิตที่ไม่เพิ่มขึ้น

แต่นอกจากแรงกดดันและอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์ภายในประเทศอย่างกลุ่มJAแล้ว นายกฯอาเบะยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากตัวแสดงและกระแสจากนานาชาติที่พยายามผลักดันให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าทางการเกษตร เมื่อต้านทานแรงกดดันไม่ไหว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องยอมนำเข้าสินค้าการเกษตรบางอย่าง อาทิ ข้าว ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มเกษตรกรในประเทศ นายกฯอาเบะจึงตกลงที่จะให้รัฐบาลซื้อข้าวที่ผลิตภายในประเทศในจำนวนเดียวกับข้าวที่ถูกนำเข้าเพื่อเป็นการชดเชยให้ชาวนาญี่ปุ่น

ณ ตอนนี้พรรคLDPจึงเสมือนถูก “ตรึง” อยู่ตรงกลางระหว่างกระแสความต้องการให้เปิดเสรีทางการค้าและเปิดเสรีภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นกระแสหลักอยู่ในขณะนี้รวมถึงเป็นความต้องการจากกลุ่มธุรกิจและตัวแสดงภายนอกหรือนานาชาติที่ญี่ปุ่นมีข้อตกลงทางการค้าเสรีด้วย และอีกฝั่งหนึ่งคือกลุ่มJAที่ความต้องการขัดกับกระแสการเปิดเสรีภาคการเกษตรและการค้า แต่กลุ่มJAมีอิทธิพลและพลังทางการเมือง อีกทั้งยังเป็นฐานเสียงสำคัญที่คอยรวบรวมคะแนนเสียงให้พรรคLDPและทำให้พรรคLDPครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

ในสมัยที่สองของนายกฯอาเบะกับธนูดอกที่สามของอาเบะโนมิคส์ที่เพิ่งถูกยิงออกไป ต้องรอดูกันว่านายกฯอาเบะจะสามารถปลด “บ่วง” ของกลุ่มJAออกจากพรรคLDPได้หรือไม่ และหากทำสำเร็จ โฉมหน้าการเมืองญี่ปุ่นอาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง