เมื่อก่อน “รุ่นพี่” ห้องเชียร์ แต่เดี๋ยวนี้ “กลับใจ?” แล้ว

กระแสรับน้อง สยองความรู้สึก วนเวียนกลับมาอีกครั้ง ล่าสุด กรณีที่เถียงกันเรื่อง บ่อน้ำ อันเป็นปฐมบทของเหตุระทึก ในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่นิสิตใหม่ ต้องเข้าโรงพยาบาล ด้วยอาการสาหัส สาเหตุ อันเนื่องมาจากกิจกรรม หรือบ้างก็ว่า เป็นการฝึก บ้างก็ว่าเป็นการทำโทษ

ย้อนกลับไปดูข่าว นี่ไม่ใช่กรณีแรกๆ และ นี่อาจไม่ใช่กรณีท้ายสุด เพราะผู้คนในสังคมจำนวนมาก ตั้งคำถามกับปรากฏการณ์นี้มานักต่อนักแล้ว

มติชนสุดสัปดาห์ จะพาไปพูดคุยกับ คนที่อยู่ในบทบาท ความเป็นพี่ ผู้มาก่อน ในรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมห้องเชียร์ กิจกรรมรับน้องใหม่ มีบทบาทหนึ่งที่เรามักได้ยินคือ การเป็น “พี่ว้าก” หรือการแสดงออกในเชิงบทบาท พี่วินัย อะไรทำนองนี้ ที่ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมกับน้องใหม่ ในลักษณะ กดดัน หรือ มีความเป็นอำนาจนิยมสูง อยากรู้เหมือนกันว่าตอนนี้ กับ ตอนนั้น เขาคิดอย่างไร เอาเป็นว่า เธอคิดอะไรอยู่?

13699991_10154409457608754_3924686763416542938_n

วิจักขณ์ พานิช 

คอลัมนิสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศาสนา จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านจิตวิญญาณการศึกษาและประวัติศาสตร์ศาสนา จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา พลิกตัวเองจากการจบ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ไปศึกษาเรื่องดังกล่าว ให้ความเห็นต่อการรับน้อง ว่า

รอบๆ ตัว มีเพื่อนหลายคนที่สมัยเรียนเคยเป็นพี่ว้าก เคยมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรับน้องมาก่อน
ตอนนี้บางคนเป็นอาจารย์ บางคนเป็นนักเขียน บางคนเป็นนักธุรกิจ เป็นพิธีกรที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง

และดูเหมือนเราจะมีความรู้สึกร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมองย้อนกลับไปยังกิจกรรมที่เราเคยอินกับมันสมัยเรียน เรารู้สึกละอายใจ เรารู้สึกว่าไม่น่าเอาตัวไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมไร้สาระพวกนี้เลยแม้แต่วินาทีเดียว

ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยผ่านกิจกรรมเหล่านั้นมา ตอนปีสี่นี่เคยถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานเชียร์ วิศวะ จุฬา ด้วยซ้ำไป ผมเคยหาข้อแก้ต่างว่ารับน้องห้องเชียร์เป็นกิจกรรมที่ดี ความรุนแรงทั้งหลายมีเป้าหมายเพื่อความดีที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่พอมองย้อนกลับไป ผมรู้สึกละอาย

ผมรู้สึกถึงความอ่อนด้อยประสบการณ์ของตัวเอง ความไม่รู้ ความสับสน ความกลัว ที่มักถูกแปรเปลี่ยนเป็นความกล้าหรือความมั่นใจอย่างผิดๆ

ที่น่าเศร้าคือ บ่อยครั้งกว่าจะมองเห็นอะไรชัด ก็เมื่อเราได้ออกมาจากโลกอันคับแคบของสถาบันการศึกษาไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

หากมีใครมาบอก มาเตือนเราตอนนั้น เราก็คงหาเหตุผลมายืนยันสิ่งที่ทำตามๆ กันมาว่าควรทำต่อไป เพราะมันง่ายที่จะเอาความรัก สถาบันมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีใครเคยสอนให้เรารู้จักรักและเคารพตัวเองเลยสักนิดเดียว

fun01290657p2

“พ่อหมอ” แห่งรายการ “เจาะข่าวตื้น”

มีชื่อจริงว่า “ณัฐพงศ์ เทียนดี เป็นรุ่นพี่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดีกรี เป็นพี่ว้าก ห้องเชียร์ด้วย เล่าความรู้สึกนึกคิดให้ฟังว่า

กับกรณีล่าสุด ผมรู้สึกว่า ถ้าลูกเขาตาย แล้วรับผิดชอบกันยังไง เอาคืนมาไม่ได้นะ

ถ้าเป็นการซ้อม แบบ ซ้อมไปเชียร์ จริงๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการฝึกความพร้อมเพรียง ความสามััคคี แต่ที่มันเป็นปัญหาคือ การลงโทษ มากกว่า บางคนก็ไปลงโทษอะไรที่มันพิเรน แล้วไอ้ระบบพวกนี้มันดันไปยอมรับและให้สิทธิการลงโทษเป็นของคนที่อายุต่างกันแค่ปีเดียว

ผมพูดตรงๆว่า ไอ้ประโยค หลายอย่างๆ ที่เราเอามาพูดกับน้องนี่ มันก็ประเภทจำรุ่นพี่มาอีกที ไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตผ่านโลกอะไรมามากมาย แต่ในส่วนของผมก็โชคดีอยู่ตรงที่ว่า เรามีประสบการณ์ทำงานกับผู้ใหญ่มาตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย

บางอย่าง ที่ทำไปไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย เอาความรักสถาบันมาเชื่อมโยงอะไรที่แปลกๆ สุดท้ายที่ทำๆมา ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับที่ผมมาทำ spokedark สุดท้ายมันอยู่ที่คน คนนั้น

มันเป็นความรู้สึกแบบรุ่นพี่ อยู่ดีๆก็มีคนมาโยนอำนาจใส่ เป็นอำนาจนิยมในตัวรุ่นพี่ ที่แบบเมื่อก่อนไม่เคยมี เคยถูกอำนาจพวกนี้กด พอมีอำนาจก็เอากันใหญ่ รู้สึกว่ามันแม่งเท่ ดีหว่ะ แล้วคือไม่ได้สนใจว่ามันเป็นวิธีสร้างสรรค์ หรือมันชอบธรรม หรือเปล่า

ผมอยากบอกว่า ท้ายที่สุด มนุษย์มันก็เป็นสัตว์สังคม มันมีโลกกว้าง มากกว่าที่จะรู้จักแค่เพื่อนพ้อง ในรั้วในกลุ่ม ย้อนกลับไปผมไปแก้อะไรมันไม่ได้ แต่ก็เข้าใจว่ามันไม่มีประโยชน์ ที่จะไปบังคับใคร

14293251821429325192l

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ 

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีต เป็นนิสิต รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำหน้าที่คล้ายๆเป็น พี่ว้าก ห้องเชียร์ หรือเรียกว่า พี่วินัย นั่นเอง กับกระแส ความรู้สึกตอนนี้ มาฟังกันว่า คิดอย่างไร

ตอนนี้เราได้เรียนรู้ และมองโลกแตกต่างมากขึ้น มากกว่าเดิม ตอนนั้นรู้สึกว่ามีอำนาจในมือ แล้วมันก็เลยเป็นปกติของมนุษย์ มันทำให้รู้สึกว่าเราเหนือกว่าคนอื่น แล้วเราก็เอามันมากดคนอื่น มาเจออำนาจภายนอกรั้วของจริง มันไม่ได้ง่ายต่อการใช้ชีวิตของเรานัก

ยอมรับว่า มันไร้สาระ แต่เราก็ไม่มีคำตอบว่าถ้าย้อนไปแล้วจะทำอะไรไม่ทำอะไร เพราะเอาเป็นว่า เราได้เรียนรู้จากมันด้วยก็แล้วกัน อย่างน้อย ถ้าไม่ผ่านจุดนั้นมา มันอาจสร้างให้เรากลายเป็นคนหลงอำนาจก็เป็นไปได้เหมือนกัน

มันรู้สึกสนุกดี ณ เวลานั้น มันมีสิทธิพิเศษ กับตัวเอง แล้ว เหนือกว่าคนอื่น ออกคำสั่ง ให้ทำ ไม่ให้ทำ แต่สังคมมันจะขัดเกลาเราในเวลาต่อมา ว่าอะไรดีกหรือชั่ว คำตอบ มันอยู่ที่ ตัวคนคนนั้น ด้วยนะ

เพราะ กฎกติกา การจะมาละเมิดกัน มันก็มีกฎหมายดูแล คุ้มครองอยู่ แต่มันมีอีกอย่างหนึ่งคือ สังคมไทย ไม่ได้ตกผลึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานตรงนี้เท่าไหร่ แล้วบางเรื่องเป็นวิจารณญาณของคนที่มีปัญหา

เขียน : ธนกร วงษ์ปัญญา