พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา “เจ้าหญิงนักกฎหมาย” ของปวงชนชาวไทย

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นพระราชธิดาองค์แรกใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (ม.ล.โสมสวลี กิติยากร) ทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ 7ธันวาคม 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

k4943654-5

พระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ด้านการใฝ่หาความรู้เป็นที่ประจักษ์ชัดในพระประวัติการศึกษา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชินีในระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียน Heathfield ในเมือง Ascot สหราชอาณาจักร ก่อนที่จะเสด็จกลับมาทรงศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่โรงเรียนจิตรลดา

hmtyjt5rj

ในระดับอุดมศึกษา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงศึกษาระดับปริญญาตรีในสองสาขาในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทยสองแห่งคือ ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง และปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และด้วยพระทัยที่ตั้งมั่นและพระวิริยอุตสาหะในพระองค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขอทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “สัญญาธรรมศักดิ์ประเภทนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2544” แห่งคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและพระปรีชาญาณ

k3933026-18

ในปีเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากา มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy Leagueอันมีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ (LL.M.) เพียง 1 ปีจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านนิติศาสตร์ (J.S.D.) เป็นเวลา 3 ปีโดยในช่วงเวลาดังกล่าว ทรงทุ่มเทพระวิริยอุตสาหะในการค้นคว้าวิเคราะห์ วิจัย และรวบรวมข้อมูลต่างๆด้านกฎหมายเพื่อนำมาประกอบในการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “สู่ความยุติธรรมอย่างเสมอภาค : การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา และจำเลยในกระบวนยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอเมริกา” ในระหว่างที่ทรงศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเอง พระองค์ยังทรงศึกษากฎหมายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาที่ประเทศไทยควบคู่กันไป ด้วยพระอัจฉริยภาพและผลแห่งความพากเพียรทำให้ทรงสำเร็จการศึกษาทั้งดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงเป็นเนติบัณฑิตไทย พร้อมกันในปี2548

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงสนพระทัยรวมทั้งทรงติดตามและเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และการต่างประเทศมาโดยตลอดทั้งในระหว่างที่ยังทรงศึกษาอยู่ และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว

umjyjej6

ในระหว่างที่ทรงศึกษาระดับปริญญาโทและเอก พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงฝึกงานกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน โดยทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้นยังได้ทรงฝึกงานกับสำนักงานอัยการประจำนครนิวยอร์ก (The Office of the District Attorney of New York) โดยทรงศึกษาขั้นตอนการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอีกทั้งได้ทรงฝึกปฏิบัติการสืบพยาน การหาหลักฐาน การเขียนสำนวนฟ้อง และการว่าความตามกฎหมายสหรัฐฯ อันเป็นการเพิ่มพูนพระปรีชาญาณในด้านกฎหมายอาญาเป็นอย่างมาก

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลในปี 2548 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะเลขานุการเอก ประจำคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติณ นครนิวยอร์ก ในระหว่างปี2548 – 2549 ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในพระเจ้าหลานเธอฯ ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการสั่งสมประสบการณ์ในการเจรจาการทูตพหุภาคี เพื่อผลักดันประเด็นที่เป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศ อันจะมีผลต่อกระบวนการพัฒนากฎหมายภายในประเทศต่อไป

kkk_9241

ตลอดระยะเวลาที่ทรงประจำการอยู่ ณ คณะทูตถาวรฯ ณ นครนิวยอร์กพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะนักการทูตด้วยความเป็นผู้นำและเสียสละ อุทิศทุ่มเท ด้วยพระอัธยาศัยและพระจริยวัตรอันงามสง่า ประกอบกับพระปรีชาสามารถ พระปฏิภาณไหวพริบเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างชาติ ช่วยเพิ่มพูนบทบาทและเกียรติภูมิของประเทศไทย รวมทั้งได้นำความก้าวหน้ามาสู่การทูตพหุภาคีของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม พระภารกิจที่ทรงปฏิบัติในฐานะนักการทูต มีมากมายหลาย ประการ ตัวอย่างดังต่อไปนี้

1.ทรงเป็นองค์ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) สมัยที่ 60 ณ นครนิวยอร์ก โดยทรงรับผิดชอบงานในกรอบคณะกรรมการที่ 3 (Third Committee) ได้แก่ เรื่องการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา สิทธิมนุษยชนผู้อพยพ การย้ายถิ่นฐาน และคณะกรรมการที่ 6 (Sixth Committee) ได้แก่ เรื่องกฎหมายทะเล กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์และการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานข้อคิดเห็นและข้อสังเกตให้แก่คณะทูตถาวรฯ และกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในประเด็นที่สำคัญต่างๆ

t5dl0635-690x545

2.พระปรีชาสามารถในการเจรจาการทูตพหุภาคี (Multilateral Diplomacy) ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนเมื่อประเทศไทยเสนอร่างข้อมติ(Draft Resolution) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่ 3 ในเรื่อง “การติดตามผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 11” (Follow-upto the Eleventh United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี2548 โดยทรงร่วมยกร่างข้อมติและทรงใช้พระปฏิภาณไหวพริบทางการทูตร่วม เจรจากับนักการทูตชาติอื่นๆ เพื่อผลักดันให้มีการรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) แนบท้ายร่างข้อมติดังกล่าว นำไปสู่การรับรองข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 60/177 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2548 โดยฉันทามติ อันเป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญในการผลักดันการทูตเชิงรุก และสร้างสรรค์ของประเทศไทยในเวทีโลก และนับจากนั้นเป็นต้นมา พระเจ้าหลานเธอฯ ก็ทรงให้ความสนพระทัยกับงานของสหประชาชาติในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2549 พระเจ้าหลานเธอฯ เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อทรงงาน ณ สำนักงานอัยการสูงสุด อันจะนำคุณูปการมาสู่การพัฒนากฎหมายและการพัฒนาระบบพิจารณาความอาญาของไทยในอนาคต

นอกเหนือจากทรงรับราชการด้านกฎหมายและการต่างประเทศแล้วพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยังทรงโปรดฯให้จัดตั้งโครงการอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากขึ้น เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันนอกจากนี้ยังทรงรับมูลนิธิกุมารโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าไว้ในพระอุปถัมภ์ตลอดจนทรงริเริ่มโครงการต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านกำแมด จังหวัดอุดรธานี เพื่อที่จะพัฒนาหมู่บ้านนี้ให้เป็นชุมชนต้นแบบในการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนชาวไทย

dsc_2290-1

ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ได้มีการประชุมของคณะกรรมาธิการการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 20 โดยการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 20 ซึ่งมีวาระในการรับรองรายงานร่างมติต่าง ๆ และการลงมติรับรองคณะผู้บริหารของคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหม่ ซึ่งเป็นสมัยที่ 21 ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 1 ปีเพื่อเป็นประธานการประชุมในด้านที่เกี่ยวกับภารกิจของคณะกรรมาธิการการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 21 โดยจะทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 จนถึงเดือนธันวาคม 2555

ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์สุขของสังคมและประเทศชาติ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของปวงชนชาวไทยที่พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศ

rthrthesh4h

สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกันถวายการสดุดีแด่พระเจ้าหลานเธอฯ ในฐานะ “เจ้าหญิงนักกฎหมาย” เพื่อเป็นกำลังใจให้ทรงมีพระวิริยะสืบสานพระภารกิจอันทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสืบไป

เรียบเรียงจาก : เอกสารการรวบรวมผลงานผ่านมาที่พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงงาน ผ่านโครงการกำลังใจและโครงการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดย สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม มีนาคม 2555