สุดสัปดาห์ชวนคุย – “Social Movement” คืออะไร?

จบไปแล้วสำหรับการประกวด Miss Universe ประจำปี 2017 ที่ สาวงามจากแอฟริกาใต้ คว้ามงกุฎไปครอง ส่วนตัวแทนสาวจากประเทศไทย อย่าง มารีญา พูลเลิศลาภ สามารถประชันจนเข้าถึงรอบ 5 คนสุดท้าย โดยในช่วงตอบคำถามจากผู้ประกาศ มารีญาได้คำถามที่ว่า “คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมใดที่สำคัญที่สุดในคนรุ่นเรา และทำไม?” (What do you think has been the most important social movement of your generation, and why? ซึ่งมารีญาสามารถตอบได้อย่างน่าพอใจภายใต้เวลา 30 วินาที

หลายคนอาจสงสัยว่า “Social Movement” หรือการเคลื่อนไหวทางสังคม มันคืออะไร ลองมาหาคำตอบกัน

Social Movement หรือ “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง LGBT โรคเอดส์ คนพิการ ฯลฯ ซึ่ง นายชาร์ลส ทิวลี่ นักสังคมวิทยาชาวสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความว่า “มันคือชุดของรูปแบบ การแสดงและรณรงค์ที่เป็นที่ถกเถียงกัน โดยคนธรรมดาที่ได้สร้างการอ้างอิงรวมหมู่กับคนอื่น สำหรับทิวลี่ ความเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเครื่องจักรสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในที่สาธารณะของคนธรรมดา

ส่วนนักสังคมวิทยาอย่าง จอห์น แม็คคาร์ธีและเมเยอร์ ซอลล์ ให้คำจำกัดความว่าเป็น ชุดของความคิดและความเชื่อในกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนคนที่ปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่างของโครงสร้างทางสังคม และ/หรือ สร้างการกระจายสิ่งที่สังคมควรได้รับ

ด้านศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตมาพร้อมกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก โดยเชื่อว่าเมื่อประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาย่อมมีสิทธิออกมาแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ประท้วง และเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองได้

กลุ่มคนที่เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท บางกลุ่มเป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อปลดแอกจากอำนาจผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม บางกลุ่มเป็นคนยากจนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และบางกลุ่มเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นสูงที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกัน

การเคลื่อนไหวทางสังคมในบางประเด็นขยายตัวจากในประเทศจนได้รับการยอมรับเกือบทั่วโลก โดยบางประเด็นมีต้นกำเนิดในโลกตะวันตก เช่น สิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิง การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่บางเรื่องก็มาจากโลกตะวันออก เช่น หลักการไม่ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) ของมหาตมา คานธี

การเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น การเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนดำในสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ อาหรับสปริงส์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปี 2554 การรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน การเปิดโปงข้อมูลการละเมดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทั่วโลกโดยวิกิลีกส์ หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของนักศึกษาไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการพัมนาเชิงบวกหรือทำให้สังคมให้ดีขึ้นเสมอไป เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนาซีใหม่ กลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อกดขี่ เลือกปฏิบัติ หรือปองร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกัน

การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในประเด็นใดมักมีความยากลำบาก เพราะมักถูกขัดขวางจากผู้เสียผลประโยชน์เสมอ และในหลายกรณีผู้เสียผลประโยชน์คือภาครัฐซึ่งมักใช้อำนาจปราบปรามหรือปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชนโดยมิชอบ ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆรายงานว่า รัฐบาลไทยตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างเข้าข่ายดังกล่าว เพราะมีการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและไม่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของประชาชนในประเด็นต่างๆ เท่าที่ควรจะเป็น

ที่มา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล