สุรพศ ทวีศักดิ์ : ปัญหาศาสนาในรัฐธรรมนูญ และปมแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

บทความพิเศษ

นักกฎหมายท่านหนึ่งตีความว่า ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชต้องมีอาวุโสทางสมณศักดิ์นั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมวินัย

เพราะธรรมวินัยให้ถืออาวุโสตามพรรษา ไม่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์

อันที่จริงถ้าบอกว่า “อาวุโสทางสมณศักดิ์ไม่มีในธรรมวินัย” ก็ต้องพูดให้หมดว่าระบบสมณศักดิ์ก็ไม่มีธรรมวินัยรองรับเช่นกัน เป็นเรื่องที่รัฐกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาโดยรับประเพณีแต่งตั้งสมณศักดิ์มาจากศรีลังกา

ในประเพณีการแต่งตั้งสมณศักดิ์ไม่ได้นำ “อาวุโสทางพรรษา” มาเป็นเกณฑ์

ฉะนั้น พระบางรูปที่พรรษาต่ำกว่าอาจมีสมณศักดิ์สูงกว่าก็ได้

แต่ในประเพณีปฏิบัติของพระไทย พระที่มีอาวุโสสูงกว่าทางสมณศักดิ์ยังคงทำความเคารพกราบไว้กันตามอาวุโสทางพรรษา

เช่น สมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปยังวัดป่าต่างจังหวัด ท่านก็กราบไหว้พระเกจิอาจารย์ที่มีสมณศักดิ์ต่ำกว่า แต่อาวุโสพรรษาสูงกว่า

การแต่งตั้งตำแหน่งในสายปกครองคณะสงฆ์ เช่น กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค ลงไปถึงเจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบล ก็แต่งตั้งกันตามอาวุโสทางสมณศักดิ์อยู่แล้ว หากมองว่าการถืออาวุโสทางสมณศักดิ์เป็นเกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่งปกครองระดับต่างๆ ขัดธรรมวินัย ก็ต้องถือว่าระบบสมณศักดิ์เองก็ขัดธรรมวินัยด้วย

เพราะไม่มีหลักธรรมวินัยรองรับให้มีระบบนี้ตั้งแต่แรก

คําถามจึงอยู่ที่ว่า ชาวพุทธไทย (ทั้งพระและฆราวาส) และรัฐไทยจะยึดระบบไหนกันแน่

ถ้ายึดระบบธรรมวินัยเพียวๆ (อย่างที่ชอบอ้างกันว่า “ต้องบริสุทธิ์ถูกต้องตามธรรมวินัย” หรือ “ต้องรักษาธรรมวินัยบริสุทธิ์เอาไว้”) ก็ควรยกเลิกระบบสมณศักดิ์ เมื่อไม่มีระบบสมณศักดิ์ก็ไม่มีระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์ มีแต่ระบบอาวุโสพรรษาตามหลักธรรมวินัยอย่างเดียว

ถ้ายึดระบบธรรมวินัยเพียวๆ ก็เท่ากับเดินตามระบบดั้งเดิมที่พุทธะวางไว้ นั่นคือเป็นระบบที่พระสงฆ์มีอิสระปกครองกันเองตามหลักธรรมวินัย ไม่มีสมณศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจและผลประโยชน์อื่นๆ ที่พ่วงมาด้วย คำติฉินนินทาเรื่องพระมีกิเลสยึดติด วิ่งเต้นเรื่องยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจ ก็จะหมดไป

ยิ่งกว่านั้น ถ้ายอมรับเสรีภาพทางศาสนาให้พระมีอิสระปกครองกันเองตามหลักธรรมวินัย ยังจะเป็นการยกระดับรัฐไทยให้มีสถานะเป็นรัฐสมัยใหม่ในบทบาทเกี่ยวกับศาสนา

นั่นคือทำให้รัฐไทยเป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) เต็มตัว ที่มีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น รัฐโลกวิสัยไม่มีหน้าที่ไปตัดสินถูก ผิดในเรื่องการสอน การปฏิบัติตามประเพณีพิธีกรรมของศาสนาใดๆ ไม่มีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของศาสนา เป็นเรื่องที่องค์กรศาสนา (ที่เป็นเอกชน) และชุมชนทางศาสนานั้นๆ จะดูแลคำสอน ความเชื่อ ประเพณีปฏิบัติที่พวกเขาศรัทธา

รัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อมีการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐจึงใช้ศาสนา คณะสงฆ์ หรือองค์กรศาสนาใดๆ เป็นเครื่องมือทางการเมือง และ/หรือเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจ อุดมการณ์รัฐไม่ได้

คณะสงฆ์หรือองค์กรศาสนาใดๆ ก็ใช้อำนาจรัฐ กลไกราชการเป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาของตนไม่ได้ เพราะมีการแยกบทบาทของรัฐกับศาสนา แยกการเมืองกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน

ถือว่าเรื่องของรัฐ-การเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะนับถือศาสนาใดๆ หรือไม่ก็ได้

ความมั่นคงของศาสนาเป็นเรื่องที่ชุมชนที่นับถือศาสนานั้นๆ จะดูแลรับผิดชอบกันเอง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ

แต่ชาวพุทธ คณะสงฆ์ และรัฐไทยก็ไม่เคยยึดหลักธรรมวินัยเพียวๆ และรัฐไทยก็ไม่ใช่รัฐโลกวิสัย แต่เป็น “รัฐกึ่งศาสนา” (semi-religious state) คือเป็นรัฐที่ปกครองด้วยหลักการทางโลกแบบรัฐสมัยใหม่ ทว่า รัฐยังมีบทบาททางศาสนาแบบรัฐสมัยเก่า ไม่ยอมปล่อยให้องค์กรศาสนามีอิสระในการปกครองตนเอง

รัฐยังกำกับควบคุมคณะสงฆ์ โดยตรากฎหมายกำหนดให้มีองค์กรปกครองสงฆ์เป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนนโยบาย อุดมการณ์ของรัฐ และผนึกรวมความมั่นคงของสถาบันศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของรัฐ

สภาวะที่รัฐไทยเป็นอะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ จะเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เป็นรัฐโลกวิสัยก็ไม่เป็น แต่เป็นรัฐกึ่งศาสนา จะเป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ไม่เป็น จะเป็นรัฐเผด็จการเต็มรูปแบบก็ไม่เป็น แต่เป็นรัฐกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ทำให้รัฐไทยเป็นเวทีความขัดแย้งทั้งในทางการเมืองและศาสนา

ทำให้เรื่องศาสนามีความเป็นการเมือง และทำให้เรื่องการเมืองมีความเป็นศาสนาสับสนปนเปกันไปหมด

ในการเมืองทางโลกแทนที่จะยึดถือมาตรฐานตัดสินถูกผิดบนหลักการและกติกาประชาธิปไตย กลับอ้างศีลธรรมแบบศาสนามาลดทอนความหมายและคุณค่าของหลักการและกติกาประชาธิปไตยในตัวมันเอง

แทนที่รัฐจะมีหน้าที่ส่งเสริมศีลธรรมสมัยใหม่หรือ secular morality ที่ถือว่าเสรีภาพ ความเสมอภาค การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือรากฐานของการมีศีลธรรม และการแสดงออกที่มีศีลธรรมก็คือการแสดงออกบนพื้นฐานของการเคารพปกป้องหลักการและกติกาที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในการอยู่ร่วมกัน

แต่รัฐหรือระบบการศึกษาของรัฐกลับเน้นการปลูกฝังสั่งสอนศีลธรรมแบบศาสนาที่มีเนื้อหาสาระในเชิงสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษนิยมและวัฒนธรรมอำนาจนิยม

ในทางศาสนา เรื่องสอนผิดสอนถูกตามพระไตรปิฎก การปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกตามหลักธรรมวินัย หรือการรักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของธรรมวินัย แทนที่จะเป็นเสรีภาพของพระสงฆ์ตามสายครูอาจารย์ต่างๆ และชุมชนทางศาสนา กลุ่มศาสนาต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายจะมีอิสระดูแลตัดสินกันเองตามหลักการที่พุทธะวางเอาไว้ แต่รัฐกลับเข้าไปกำกับควบคุมผ่านกลไกคณะสงฆ์ของรัฐและด้วยวิธีอื่นๆ

ผลก็คือทำให้เรื่องทางศาสนากลายเป็นการเมือง เกิดกลุ่มชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาสออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ใช้อำนาจมหาเถรสมาคมและอำนาจรัฐบาลจัดการกับกลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธที่ตีความคำสอนและมีแนวปฏิบัติบางเรื่องต่างจากพวกตน

ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติไทยๆ กำหนดให้รัฐสนับสนุนการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทเป็นพิเศษ

และให้รัฐสร้างระบบและกลไกป้องกัน “การบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่ารูปแบบใด” ซึ่งเปิดให้ตีความได้ครอบจักรวาล ยิ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมทางศาสนา

และเปิดโอกาสให้เกิดการ “ล่าแม่มด” ด้วยข้อกล่าวหาบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น

รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ต่างพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางศาสนาและการล่าแม่มดในนามศาสนา

แต่รัฐไทยปัจจุบันกลับสร้างเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นมา จากนี้ไปการเมืองในวงการศาสนา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

ปัญหาวัดพระธรรมกาย

ความรู้สึกไม่เท่าเทียมระหว่างศาสนานับวันจะยุ่งเหยิงมากขึ้น

เพราะไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องธรรมวินัยเพียวๆ เรื่องไหนเป็นเรื่องกฎหมายเพียวๆ

เรื่องไหนเป็นเรื่องเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มขัดแย้งต่างๆ ที่อาศัยกฎหมายและอำนาจรัฐบาลที่ฝ่ายตนสนับสนุนจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางศาสนาและทางการเมือง

ทุกอย่างจะสับสนปนเปกันไปหมด ถึงใครจะอธิบายว่า “ไม่เกี่ยวกับการเมือง” ก็ไม่มีใครเชื่อถือใคร

ในระยะยาวสภาวะยุ่งเหยิงดังกล่าว จะบั่นทอนความมั่นคงของพุทธศาสนาแห่งรัฐเองอย่างรุนแรง เพราะในปัจจุบันฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ไม่เอาพุทธศาสนาแห่งรัฐ แต่ต้องการพุทธศาสนาในความหมายที่ไปกันได้กับเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยมากกว่า ซึ่งจะมีคนรุ่นใหม่ตีความพุทธศาสนาในความหมายนี้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน องค์กรสงฆ์ของรัฐก็มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับรัฐราชการ ซึ่งนอกจากปมแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแล้วยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่ลงรอยกัน

ที่น่าเศร้าคือภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวนี้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ไม่สามารถพูดคำว่า “ศีลธรรม” “เสรีภาพทางศาสนา” “เสรีภาพทางการเมือง” “ความเสมอภาค” “ความยุติธรรม” “ประชาธิปไตย” “สิทธิมนุษยชน” ได้เต็มความหมาย

เพราะความหมายที่ถูกต้องของคำเหล่านี้จะถูกลดทอน หรือทำให้เบี่ยงเบนไปด้วยอำนาจรัฐกึ่งศาสนา กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยไปอีกนาน