พฤติกรรมพระสงฆ์ไทย ปัญหาวนในอ่าง ทำไม ไม่มีทางแก้ข่าว “คาว” สุดฉาวได้ ?

สำนักพุทธฯทำอะไรอยู่ “ทำไมปล่อยให้พระฉันบวบสวบผัดไทยกับโยมในห้องน้ำสาธารณะ”

เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อวงการผ้าเหลืองอีกครั้ง หลังเมื่อประมาณวันที่ 12 กุมภาพันธ์ สื่อโซเชียลมีเดียทุกแขนง ล้วนนำเสนอคอนเท้นต์ ภาพพระ และโยมผู้ชายกำลังทำกิจกรรมที่ไม่สมควรในห้องน้ำสาธารณะ พร้อมแคปชั่นว่า “หลวงพี่ฉันบวบและนั่งฉันผัดไทอย่างเมามัน หลังโยมหนุ่มจัดถวายที่ห้องน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง โดยมีโยมที่อยู่ห้องข้างๆ สงสัยเห็นพระเดินตามผู้ชายคนนึงเข้าไปในห้องน้ำ จากนั้นมีเสียงดังมาเป็นระยะ จึงได้นำมือถือก้มลงไปถ่ายเห็นหลวงพี่กำลังทำท่านั่งคุกเข่า”

ทำให้ สังคม กลับมา “ตั้งคำถาม” สำหรับ “พระสงฆ์ไทย” กันอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ก็มีกรณี “ข่าวฉาว” ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่ามีบางส่วนที่ออกมาตั้งคำถามกับ ภาพที่แชร์นั้นว่าอาจไม่ใช่พระจริง หรืออาจเป็นการนำเสนอข่าวเพื่อเรียกกระแส และมีเจตนาต้องการทำลายชื่อเสียงของวงการพุทธศาสนาหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตามข่าวรูปแบบนี้ หรือการกระทำในเชิงประพฤติผิดในกามในวงการผ้าหลืองที่มีการนำเสนอหลักฐานอย่างชัดเจนนั้น มีให้เราเห็นอยู่อย่างมากมายจนเกิดเป็นการตั้งคำถามจากประชาชน หรือญาติโยมที่เคารพนับถือศาสนาพุทธว่า สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่กำกับดูแลสงฆ์ ทำอะไรอยู่ หรือจะแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไรบ้าง

ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้เคยสัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “ผู้เป็นพระกระทำความผิดทางศาสนาให้เราเห็นมากขึ้นทุกวัน” นี้ไว้ว่าความจริงแล้วการทำความผิดในศาสนามันก็มีมานานแล้ว ถ้าเราย้อนไปดูในเรื่องเล่าทางศาสนา หรือในพระวินัยเราก็จะเห็นว่าเรื่องราวของพระผู้ที่ทำผิดในเรื่องต่าง ๆ ก็มีอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในยุคของพระพุทธเจ้าหรือหลังจากนั้น ส่วนเรื่องการกระทำความผิดเหล่านี้มีมากขึ้น หรือน้อยลงนั้นก็ไม่ได้มีสถิติออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ส่วนนึงที่เราอาจเห็นว่าเรื่องพวกนี้มันมีเยอะขึ้นในปัจจุบัน ก็อาจเป็นเพราะโลกของการสื่อสารมันกว้างขึ้น การกระทำเหล่านี้จึงสามารถถูกทำให้ปรากฏออกมาได้ง่ายขึ้น

และคำถามที่ว่า “สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่กำกับดูแลสงฆ์ ทำอะไรอยู่ทำไมถึงแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้สักที” คำถามนี้ดร. ชาญณรงค์ ให้คำตอบว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบที่แรกที่เรานึกถึงเลยคือองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง คณะสงฆ์ของบ้านเราซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นองค์กรที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในแง่ของการจัดการผู้กระทำความผิด นั่นก็เพราะระบบการแก้ปัญหาของคณะสงฆ์นั้น ขาดทั้งองค์ความรู้ และกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

ย้อนกลับไปในอดีตผู้ที่จัดการปัญหาเหล่านี้ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์คือ กรมสังฆการี(ปัจจุบันคือสำนักงานพระพุทธศาสนา) ซึ่งมีอำนาจในการจัดการ หรือสึกพระได้และเป็นการรับคำสั่งมาจากพระมหากษัตริย์โดยตรงทำให้สามารถจัดการได้โดยที่ไม่ต้องกลัวอะไร เมื่อเวลาผ่านไปไม่มีองค์กรที่มีพระมหากษัตริย์คอยควบคุม แต่เปลี่ยนมาเป็นให้พระจัดการกันเองก็กลายเป็นว่าไม่สามารถจัดการกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทางคณะสงฆ์ไม่มีความสามารถในการจัดการปัญหาแล้วก็มีการโยนปัญหานี้กลับไปให้ทาง สำนักงานพุทธฯ แต่เพราะตามกฎหมายการแก้ไขปัญหาถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ ทางสำนักงานพุทธฯ จึงไม่ได้เข้ามารับผิดชอบเรื่องปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโยนปัญหากันไปกันมา ทำให้การแก้ไขปัญหาจึงไร้ประสิทธิภาพเช่นเดิม

ดร.ชาญณรงค์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ที่สำคัญอีกอย่างคือตอนนี้สำนักพระพุทธศาสนาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของ“รัฐ”มากกว่าของคณะสงฆ์โดยตรง ซึ่งเมื่อจะให้คณะสงฆ์จัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ กันเอง แต่กลับไม่สามารถใช้เครื่องมือของรัฐเข้ามาช่วยจัดการได้ ก็เหมือนกับทางคณะสงฆ์มีสิทธิแต่ไม่มีอำนาจในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นการตอบคำถามว่า ทำไมสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงไม่สามารถจัดการปัญหาที่พระสงฆ์กระทำความผิดเช่นนี้ได้สักที