เชิงบันไดทำเนียบ : อยู่ยาวไป! คสช. ผุด ‘พรรคลายพราง’ ปรับ ‘ครม.ประยุทธ์5’ พี่ป้อม-เพื่อนฉัตรไฟเขียว ?

“อย่าใช้คำว่ากล่องดวงใจ เป็นกล่องเงินของผม ไม่มี ผมทำของผมเองได้”

‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โต้คนพูดถึง ‘บิ๊กฉัตร’พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เพื่อนตท.12 ถูกโจมตีหนักท้านายกฯให้กล้าปรับเพื่อนและพี่ ออกจากครม. ซึ่ง ‘บิ๊กฉัตร’ ตกเป็นเป้ามาตั้งแต่ครั้งปรับ‘ครม.ประยุทธ์4’ปีที่แล้ว และมีการพูดว่าเป็น “กล่องดวงใจ-ถุงเงินนายกฯ” ยิ่งทำให้นายกฯต้องออกมาตอบโต้ทันที ซึ่ง ‘บิ๊กฉัตร’ ก็ออกมายืนยันแล้วว่า นายกฯไม่มีคำว่า‘เพื่อน’เวลาทำงาน

“เวลาทำงานนายกฯไม่มีเพื่อน เพื่อนนั้นเป็นนอกเวลางาน ตั้งแต่อยู่ในกองทัพท่านเป็นแบบนี้” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

อีกทั้งมีการ ‘กลับลำ’ หลังนายกฯออกมาพูดถึงแนวคิดการปรับลดเก้าอี้ทหารใน ‘ครม.ประยุทธ์5’ ทั้งที่สัปดาห์ก่อนยังเปิดเผยตรงกับ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่คสช.-บูรพาพยัคฆ์ ว่า มีแนวคิดการลดสัดส่วนเก้าอี้ทหารลง ด้วยเหตุผลช่วงก่อนมี ‘ครม.ประยุทธ์1’ หลังรัฐประหาร 22พ.ค.2557 ก็ใช้ทหาร-ในงาน 7 สาย ดูแลกระทรวงต่างๆและสายงานบังคับบัญชาของคสช.

“ทำไมจะต้องเกลียดทหาร ที่ผ่านมาในช่วงแรกๆ ผมอยากถามว่า ใครเป็นคนทำงาน ไม่รู้จะรังเกียจทหารอะไรกันนักกันหนา ทหารทำทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นไว้แล้ว แต่ถ้าจำเป็น ก็ปรับ แค่นั้นเอง” นายกฯ กล่าว

ทั้ง พล.อ.ฉัตรชัย และ พล.อ.ประวิตร ก็ให้อำนาจนายกฯในการตัดสินใจปรับครม. ไม่ได้พูดหรือสร้างแรงกดดันกับนายกฯ อีกทั้งการปรับครม.แต่ละครั้ง ในยุครัฐบาลทหารยากที่จะรู้ได้เลยว่า ใครจะอยู่ใครจะไป เพราะเป็นการทำงานกับลับๆ ใช้งานไม่กี่คนตามสไตล์ทหาร แต่ในความลับๆนี้ก็แฝงไปด้วยความ ‘เกรงใจ’ ในความเป็นเพื่อน-พี่-น้องทหาร

“ปรับ ครม.เป็นสิทธิ์ของท่าน ให้ถามนายกฯดู ถ้าถามผมหรือใครไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาถามใคร” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

“ปรับครม.เป็นเรื่องของนายกฯ ท่านดูแลทั้งหมด นายกฯไม่ต้องเกรงใจผมเลย” พล.อ.ประวิตร กล่าว


ซึ่งพล.อ.ประวิตร ก็ทราบดีว่าตนตกเป็นเป้าหลุดครม.มานานแล้ว แต่ครั้งนี้แรงเสียดทานลดลงไปจากปีที่แล้ว อาจเพราะในรอบปีที่ผ่านมา ไม่มีข่าวหรือตกเป็นเป้าเท่า ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รอง 3ป.บูรพาพยัคฆ์ และ พล.อ.ประวิตร ยังรู้ถึงกระแสวิจารณ์ ที่พูดออกมาโดยไม่มีใครถามหรือพาดพิงถึงว่าตนเป็น ‘ตัวถ่วง’ รัฐบาล
.
“ผมทำงานอยู่ทุกวันจะมาบิดเบือนในทุกเรื่อง หาว่าเป็นตัวถ่วงในการทำงานของรัฐบาล” พล.อ.ประวิตร กล่าว ทำให้ต้องไปตามถามกันอีกครั้ง ว่าไปอ่านเจอ ไปได้ยินมาจากไหน แล้วใครต่อว่า พล.อ.ประวิตร เผย เป็นหน้าที่ของคนพูด ที่ต้องการสร้างความขัดแย้ง อ่านเจอในโซเชียลฯ
.
มาพร้อมกระแส ‘ตั้งพรรคทหาร-คสช.’ ทั้งจะลงมา ‘เล่นเอง’ หรือผ่าน ‘นอมินี’ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือการปูทาง คสช. ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการล็อคหลายชั้นของคสช.เอง ที่ประเมินว่าพรรคเพื่อไทยหรือขั้วตรงข้ามคสช.ยังสามารถรวมพลังกลับมาได้ และมีการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของกองทัพกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ว่าสุดท้ายแล้วความไว้เนื้อเชื่อใจจะดีเช่นในอดีตหรือไม่
.
“ยกเว้นแต่มีความจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง” พล.อ.ประวิตร กล่าว
“คสช.ตั้งพรรคการเมือง ยังไม่ได้คิดตอนนี้ ดูสถานการณ์ไปก่อน มีเวลาอีกตั้งปี” นายกฯ กล่าว
.
คำตอบของทั้ง ‘นายกฯบิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ แม้จะไม่ยอมรับ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีแนวคิดเหล่านี้ โดยย้ำถึง ‘ความจำเป็น’ และ ‘เวลา’ ที่ยังเหลืออยู่ จึงต้องติดตามกันไปต่อว่า นายทหารใกล้ตัว ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ มีใครไปเคลื่อนไหว-ตั้งวงที่ไหนบ้างแล้ว

มหกรรมการการ ‘ดีล’ ที่แท้จริงกำลังจะมาถึง ซึ่งมีกระแสข่าวจากฟากพรรคเพื่อไทยมาด้วยซ้ำว่า ‘หญิงหน่อย’คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แคนดิเดทนายกฯหญิง ไปแล้ว
.
อีกทั้งมาพร้อมคำถาม 6 ข้อของนายกฯที่ถามกันตรงๆ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ชี้นำ’ และเป็นการ ‘โยนหินถามทาง’ ของนายกฯ ทั้งการปูทางตั้งพรรคทหารและการหาพรรคนิมินี ปูทางการได้มาซึ่ง ‘นายกฯตนนอก’ ที่เป็น ‘คนเดิม’ หรือไม่ เพราะจากคำถามของนายกฯ ที่ต้องการคำตอบจากประชาชน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหยั่งเสียง-จับกระแสประกอบการตัดสินใจ เพราะบทเรียนของกองทัพมีมาในอดีตทั้งการเป็นพรรคนอมินีและพรรคของทหารจริงๆ มักจบไม่สวยและมีแผลหลัง ‘ตั้งพรรค’ ทั้งสิ้น
.
โดยพาะคำถามข้อ 1 และ 2 ว่า 1. เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่-นักการเมืองใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้ง ครั้งต่อไปหรือไม่ ? การมีแต่พรรคการเมืองและนักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนา และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่ ? และ 2.การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ ? เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว
.
“การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือผมเองจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์ของผมหรือไม่ แล้วผมต้องไปเลือกตั้งหรือเปล่า ก็เปล่าอีก เลือกตั้งได้ไหม ก็ไม่ได้ ผมไม่ได้ลาออก ก็จบแล้ว อย่างนี้แล้ว ผมจะไปอะไรกับเขา สิทธิ์ของผม มีไม่ใช่หรือ ผมสนับสนุนใครแล้วจะไปบอกใคร และใครตั้งมา ผมจะไปสนับสนุนใครก็ได้ หรือไม่สนับสนุนใครเลยก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆมา ผมก็ไม่สนับสนุน” นายกฯ แจง

อีกทั้งมีการมองว่าจะเป็นการหาเสียงล่วงหน้าของคสช.หรือไม่ นอกจากนายกฯจะลงพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เรียกคะแนนจากประชาชนไปได้ไม่น้อย และการออกนโยบาย ‘ประชารัฐ’ โดยเฉพาะบัตรคนจน ที่เรียกเรตติ้งให้รัฐบาลกลับขึ้นมาได้ แม้ถูกโจมตีว่าไม่ต่างจากประชานิยมแค่เพียงเปลี่ยนชื่อเท่านั้น
.
ทั้งหมดนี้อยู่ที่ ‘บิ๊กตู่’ เป็นผู้วางเส้นทางอำนาจนี้ แม้นายกฯจะย้ำว่าตนไม่ได้ต้องการมีอำนาจ แต่ยิ่งใกล้วันลงหลังเสือตัวที่ขี่อยู่ ไปขึ้นหลังเสือตัวใหม่ ระหว่างลงและขึ้นเสือจึงมีความสำคัญ และเสือตัวใหม่จะควบคุมได้เช่นเสือตัวที่ขี่นี้หรือไม่ ก็ต้องฝึกและเรียนรู้ให้ดีก่อน

เพราะงานนี้ ‘ทหาร’ อยู่ยาวแน่นอน !!