“หมอพรทิพย์” ใต้หมวก ส.ว. “ขอไม่เลือกนายกฯ” : สภาเต็มไปด้วยคนมียศทำอะไรก็ต้องห่วงนาย 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 20 ม.ค. 2566

 

เปิดอกหมอพรทิพย์ ภายใต้ หมวก ส.ว. ขอไม่เลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง? ประกาศลั่นเข้ามา 4 ปีไม่มีปฎิรูป สภาเต็มไปด้วยคนมียศทำอะไรก็ต้องห่วงนาย 

“ถ้าไม่ได้เป็น ส.ว. อยากให้คนเห็นว่า หมอเป็นคนไทยที่ภูมิใจที่เป็นคนไทย ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอยากเป็นคนไทยที่คอยเก็บเศษแก้วแตกของสังคม” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดใจกับ “มติชนสุดสัปดาห์” ถึงวาระการเมืองและเรื่องราวที่อยู่ในใจตลอดการทำหน้าที่ ส.ว.ที่ผ่านมา

ปฏิรูปล้มเหลว ?

หมอพรทิพย์มองการปฏิรูปประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ที่ประชาชนสงสัยว่าทำไมถึงยังไม่สามารถปฏิรูปได้สักที ว่าอาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้มีการกำหนดประเด็นใหญ่ให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปองค์กร หรือปฏิรูปการทำงานด้านการอำนวยความยุติธรรม

สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การปฏิรูปการทำงานของตำรวจในงานยุติธรรม แต่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ซึ่งพ.ร.บ. ตำรวจกลับเป็นการมุ่งไปที่ปฏิรูปองค์กรแทน ซึ่งเมื่อได้เข้ามาทำงาน ในคณะกรรมาธิการ พอได้เข้าไปสัมผัสจริง ๆ จะรู้เลยว่าการปฏิรูปองค์กรของตำรวจนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะที่เราเห็นชัดตอนนี้เลย คือ ตำรวจมีส่วนร่วมกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป ทำให้เขาไปสนใจแต่เรื่องพวกพ้องการขึ้นตำแหน่ง และ พ.ร.บ. ที่ออกมาก็ไม่ตอบโจทย์ มีกระบวนการทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง  และปัญหาการรวมศูนย์อำนาจของตำรวจไว้ที่จุดเดียวก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข

ผลที่ตามมาคือเกิดการวิ่งเต้นเพื่อขอขึ้นตำแหน่งของตำรวจ ยังไม่ยอมแบ่งอำนาจ ยังคงไปรวมศูนย์อยู่ที่ ผบ.ตร. จึงไม่มีวันที่จะสามารถแก้ปัญหาได้  ผลที่ตามมาคือระบบการจ่ายส่วยก็เกิดขึ้นตามมา ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไข จนถูกมองว่าเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เราจึงไม่เห็นผลการปฏิรูปสักที ซึ่งต้องบอกตามตรงว่ามีผู้คอยบังคับผู้บริหารในระดับรัฐบาลอยู่ว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ และคนเหล่านี้ก็เป็นตำรวจเก่า ๆ ทั้งนั้น

“เดิมทีเรามีความตั้งใจ เรื่องการปฏิรูปงานในระบบยุติธรรม เนื่องจากเราเคยทำงานในกระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อเราเข้ามาก็พูดตรงๆ ว่าไม่มีวันทำได้ เพราะโครงสร้าง ส.ว. ถูกแบ่ง และในคณะ กมธ. กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และ กิจการตำรวจมีคนที่เคยอยู่ในอำนาจเก่าจาก สนช. ก็จะจับจองสัดส่วนเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยที่ไม่ได้มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์การปฏิรูป

ถ้าพูดตรงๆ คือ มีตำรวจที่เกษียณไปแล้วเต็มไปหมดมานั่งอยู่ในคณะ และมีความเชื่อมโยงผู้มีอำนาจ แล้วจะปฏิรูปในส่วนของความยุติธรรมได้ยังไง เพราะฉะนั้นแล้วด้วยระบบเดิมที่เราทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งโอกาสที่เราจะเสนออะไรก็ทำไม่ได้ ในสภาเต็มไปด้วยคนมียศเต็มไปหมด ใครที่จะไปเสนออะไรที่มันกระทบต่อนายของเขา อะไรที่ทำให้นายเขาไม่สบายใจ หรือกระทบต่อผู้นำรัฐบาลก็คงไม่มีใครกล้าทำ

ซึ่งรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการมี ส.ว. เพื่อให้มีการปฏิรูป แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ ไม่ได้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ตั้งแต้เริ่มต้นแล้ว เช่น โจทย์ในชั้น กมธ.กลาย เป็นตำรวจ เก่าๆเข้ามามีบทบาทมาก ทั้งที่เราควรให้ผู้น้อยมีส่วนร่วม หรือนำโมเดลตำรวจจากประเทศที่เจริญแล้วมาปรับใช้ ซึ่งเมืองนอกตำรวจเขาไม่ได้มาจาก ร.ร. นายร้อยเลย ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะทุกคนห่วงระบบการเลื่อนขั้น มีคนไม่อยากสูญเสียอำนาจหรือสูญเสียประโยชน์จากการแต่งตั้ง และประชาชนอาจไม่รู้ว่าตำรวจดีๆคนหนึ่งจะทำงานได้ยาก เพราะมีการเมือง ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามไม่กล้าแตะ การปฎิรูปจึงเกิดไม่ได้

เอาเข้าจริง ๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องปฏิรูปเลย จะอ้างว่าที่ผ่านมาเจอโควิดอะไรต่างๆ ทำให้การขับเคลื่อนตามแผนเกิดขึ้นไม่ได้ หรือปล่อยให้เป็นเรื่องของ สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานราชการทำหน้าที่แทน ซึี่งแต่ละหน่วยต่างก็ทำแต่งาน Routine เกือบทั้งหมดไม่มีอะไรที่เป็นลักษณะของการปฏิรูปเลย ซ้ำรัฐบาลยังกำหนดระบบในการติดตามผลให้เป็นระบบที่ว่ากันตาม “งบประมาณ” แทนที่จะว่ากันตาม “ผลสัมฤทธิ์” ทำให้ 3-4 ปีการปฏิรูปเรื่องหลักๆ อย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรม หรือการปฏิรูปตำรวจมันก็ดำเนินไปในแบบที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย

และที่เราเห็นว่า 3 ปีกว่าที่ทำอะไรไม่ได้ หรือเสนออะไรไม่ได้เลย ส่วนนึงก็เป็นเพราะระบบการทำงานทั้งของเดิม รวมถึงบุคคลที่เป็นทั้งประธาน รองประธาน ก็ใช้ระบบการทำงานแบบข้าราชการที่ทำตามกรอบเท่านั้น คิดนอกกรอบไม่ได้  หรือไม่กล้าเสนออะไรที่จะสะเทือนรัฐบาล

 

: สว. บางส่วนอยากเสนอให้นายกดำรงตำแหน่งได้เกิน 8 ปี

ในส่วนนี้หมอ พรทิพย์ให้ความเห็นว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะคิดเห็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น นายกฯต้องยอมรับ   วัฒธรรมการเมือง ไม่ใช่วัฒนธรรมของนักปฏิวัติ หรือนายทหารสูงสุด และจะเป็นนายกต่อไปอีกกี่ปีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะ “การเมืองไทยไม่ได้ถูกปฏิรูป”

ถามว่า 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีประโยชน์อะไรแล้วสิ่งที่เราจะทำได้หลังจากนี้มีอะไรบ้าง ? หมอพรทิพย์ให้คำตอบว่า ด้วยระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณปีครึ่งคงจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถ้าหากการบริหารยังเป็นไปในรูปแบบเดิม แบบข้าราชการ หรือบริหารแบบทหาร จะเปลี่ยนอะไรก็เป็นไปได้ยาก แต่โดยส่วนตัวจะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปรอจังหวะที่จะขับเคลื่อนเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาหาหนทางแก้ไข จะไม่หมดความหวังและจะทำให้ดีที่สุด

 

: ส.ว.เลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง หมอพรทิพย์เอายังไง ?

สำหรับในการเลือกตั้งรอบหน้า ส.ว. ยังมีบทบาท  รัฐธรรมนูญเขียนมาให้ ส.ว. เลือกนายกเพื่อที่จะปฏิรูป แต่ 4 ปีที่ผ่านมามันไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นครั้งหน้าเราจะเลือกไปทำไม ในเมื่อมุมนึงเราก็รู้ดีว่าอำนาจที่กฎหมายให้มานั้นไม่ถูกต้อง และกรอบของประชาธิปไตยในไทยที่เราเห็นกันอยู่ว่าไม่ใช่กรอบที่ควรจะเป็น เราเลยคิดว่าไม่ใช่กรอบที่เราจะต้องตาม ส่วนตัวจึงเลือกตัดสินใจที่จะไม่ใช้อำนาจตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในการเลือกนายกฯในครั้งถัดไป

 

: ส.ว.ไม่จำเป็น ต้องปิดสวิซต์ ?

หมอพรทิพย์ อธิบายว่าเข้าใจสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้คิด เพราะบางครั้งพวกเขาอาจไม่ได้หาข้อมูลรอบด้าน อาจจะบริโภคข้อมูลมาจากแหล่งเดียวซึ่งมันเป็นแหล่งที่เอนเอียงอยู่แล้ว พวกเขาก็ต้องคิดว่า ส.ว. ไม่มีประโยชน์เป็นปกติ

แต่โดยส่วนตัวแล้วเรารู้ดีว่า สว. ชุดนี้เป็นพยายามทำงานมาก เพียงแต่โดนกรอบที่มีทหาร-ตำรวจอยู่ค่อนสภาครอบไว้ ทำให้พวกเขาทำงานได้ไม่เต็มที่ คือไม่ได้เกิดการโกงแต่ว่าทำงานกันได้ไม่เต็มที่ การที่จะบอกว่า ส.ว. ไม่มีประโยชน์เลยนั้นมันไม่จริงประชาชนแค่ไม่ได้เห็นตอนพวกเขาทำงาน พอมีกลุ่มคนรุ่นใหม่มาบอกว่า ส.ว. เอามาไว้แค่เลือกนายกก็เลยเชื่อกัน ก็ปล่อยให้พวกเขาคิดได้ แต่เราก็ไม่ได้คิดมากตามเขา

 

: บทบาท “หมอพรทิพย์” ถ้าไม่ได้เป็น ส.ว.

หมอพรทิพย์ เล่าว่า “ก็จะเป็นคนไทย ที่ภูมิใจที่ในความเป็นคนไทย ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอยากเป็นคนไทยที่คอยเก็บเศษแก้วแตกของสังคม เพราะทุกวันนี้เศษแก้วเหล่านี้มันเต็มไปหมด ต้องทำให้คนทิ้งแก้วที่มันแตกให้น้อยลง และสร้างคนที่ช่วยกันเก็บเศษแก้ว เศษแก้วนี้คือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคม อย่างเรื่องของยาบ้าหรือกัญชา ถ้าเราปล่อยเศษแก้วเหล่านี้ไว้คนรุ่นหลังก็ต้องเป็นคนรับไป”