ขอบคุณข้อมูลจาก | คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 มติชนรายวัน (4/09/59) |
---|---|
เผยแพร่ |
ตู่ที่ไม่ได้หมาย ลุงตู่
แต่หมายถึง “กิริยาเหมารวมเอาเอง”
เหมารวมเอาเอง หลังจากอ่านบทความ “คณาธิปไตยในการเมืองไทย” ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนรายวันมา 2 จันทร์ (22 และ 29 สิงหาคม 2559)
ถูกผิดอย่างไรไม่ทราบ ถือเป็นความเห็นส่วนตัวก็แล้วกัน
ในสายตาของอาจารย์นิธิมองว่า แท้จริงแล้วโมเดลที่ถูกใช้ขับเคลื่อนประเทศไทยตอนนี้มิใช่โมเดลที่ว่ากันอยู่ตอนนี้ แต่คือ “คณาธิปไตยโมเดล” มากกว่า
คณาธิปไตยที่สามารถแกว่งไปแกว่งมาระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการก้ำๆ กึ่งๆ
คือไม่ถึงกับรังเกียจประชาธิปไตย
แต่ประชาธิปไตยไทยนั้นจะต้องไม่ทำลายประสิทธิภาพที่จำเป็นแก่การปกป้องทรัพย์สินและรายได้ลงบางส่วนของคณาธิปัตย์
เช่นกัน คณาธิปัตย์ไทยก็ไม่รังเกียจเผด็จการเหมือนกัน
เพียงแต่ไม่ต้องการให้เผด็จการจำกัดการเข้าถึงอำนาจไว้ในมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยเกินไป เช่น ครอบครัวเดียว หรือกลุ่มเดียว เพราะนั่นก็อาจเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและรายได้
อาจารย์นิธิยกตัวอย่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัวแก่คณาธิปัตย์
นั่นคือ ผู้มีอำนาจไม่ได้รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือของตนแต่ผู้เดียว
แต่อำนาจนั้นกระจายไปถึงมือของคนอื่นๆ นอกกองทัพอีกมาก
เช่น ตุลาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายขวา แพทย์ นักวิชาการฝ่ายขวาในมหาวิทยาลัย ฯลฯ
บุคคลเหล่านี้จะเป็นสมาชิกขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญร่วมไปกับทหารสายคุมกำลัง
ขณะที่อำนาจจากการเลือกตั้งที่เป็นคู่แข่งจะถูกถ่วงดุลไว้อย่างหนาแน่น
โดยจะชัดเจนเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถูกคลอดออกมา
พิจารณา “คณาธิปไตยโมเดล” เช่นนี้แล้ว ทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยชัดเจนขึ้น
นั่นคือ ถึงจะไม่มี “ประยุทธ์โมเดล” แต่เหล่าคณาธิปัตย์ที่ฝังลึกในสังคมไทยมาโดยตลอด ก็จะร่วมกันผลักดันโมเดลของฝ่ายตนเองขึ้นมาทดแทนอยู่นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ “ประยุทธ์โมเดล” จะเผลอว่าตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทำตัวเป็น “สลากกินรวบ” ไม่ได้
จำเป็นต้อง “สามัคคี” กับส่วนอื่นอย่างละเลยไม่ได้
ประชารัฐก็เป็นหนึ่งในนั้น
การขับเคลื่อนประเทศคงเป็นไปไม่ได้หากทุนใหญ่ๆ ในประเทศไม่เอาด้วย
การที่รัฐบาลดึงเอาเจ้าสัวต่างๆ เข้ามาร่วมในงานประชารัฐ ถือเป็นการสามัคคีกับทุนประการหนึ่ง
และที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้ก็คือ การยอมลดพลังอำนาจของบูรพาพยัคฆ์ลงในกองทัพ
ด้วยการยอมเปลี่ยนเอานักรบหมวกแดงขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพบกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
จะถือว่าเสี่ยงก็เสี่ยงแต่ก็จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อหวัง “เดินทางไกล” ไปบนเส้นทางอำนาจ ก็จำเป็นต้อง “คาย” อำนาจออกมาบ้าง
ด้วยแนวโน้มของคณาธิปัตย์ ไม่ชอบให้ผู้มีอำนาจรวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือของตนแต่ผู้เดียวมากเกินไป
ซึ่งก็ดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่แสนชื่นมื่นที่บ้านสี่เสาเทเวศร์
มีการพูดถึงเหตุการณ์ที่ ป.ประยุทธ์ ดึง ป.ประวิตร ไปสามัคคีพี่น้องกับ “ป.เปรม”
เป็น “ป” โมเดลอันแข็งแกร่ง และมีคุณสมบัติครบถ้วน ที่น่าจะเข้าตาเหล่าคณาธิปัตย์
และพร้อมจะให้สิทธิ ป.ประยุทธ์ ไล่ล่าฝันการเป็น “ผู้นำสง่างาม” ต่อไป