มหากาพย์”หวยบำเหน็จ” ไทยสร้างไทย-พท.เคลมกันนัว “ศิธา”ฉะนักรบห้องแอร์ ค้านทุกเรื่อง

เมื่อพูดถึงแนวคิด “หวยบำเหน็จ” หรือ สลากการออมแห่งชาติแล้ว ถือว่าเป็นที่รู้จักครั้งแรกในฐานะนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกปล่อยออกมาโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ปี 2562 เพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ทันทีที่นโยบายนี้ปล่อยออกมา กลับกลายเป็นกระแสดังเพียงชั่วข้ามคืน

โดยในครั้งนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงนโยบายสลากการออมแห่งชาติ หรือ หวยบำเหน็จของพรรค ว่า เป็นนโยบายที่เอาความชอบของประชาชนส่วนใหญ่มาปรับ โดยการชวนประชาชนให้มาออมเงิน โดยการซื้อหวยทุกเดือน แล้วเงินไม่หายไปไหน ได้รับรางวัลคล้ายลอตเตอรี่ คือ มีรางวัล 2 ตัว 3 ตัว จะซื้อมากหรือซื้อน้อยก็ได้ เป็นความเต็มใจนำเงินมาออม

“เงินที่ซื้อหวยไม่หายไปไหน แต่จะกลายเป็นเงินออมของประชาชน มีดอกเบี้ยและเงินปันผลให้ อายุ 20 ปี เริ่มซื้อ ก็ซื้อไปจนถึงอายุ 60 ปี โดยผู้ซื้อต้องมีบัญชีซื้อหวย แต่ต่างกันที่หวยบำเหน็จสามารถเลือกซื้อเลขได้ ซึ่งหากเสียชีวิตก่อนเกษียณเงินก็จะตกเป็นของทายาท โดยเบื้องต้นฉลากจะขายเป็นหน่วย หน่วยละ50 บาท และประชาชนสามารถเลือกตัวเลขเพื่อลุ้นรางวัลได้” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

แม้หลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 1 ที่นำ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้ 137 คน แต่พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้คะแนนมหาชน (ป๊อบปูลาร์โหวต) มาเป็นอันดับ 1 สามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ร่วมกันตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้นโยบายหวยบำเหน็จไม่ได้ไปต่อ

กระทั้งในปี 2566 นี้ แนวคิดเรื่อง “หวยบำเหน็จ” ได้ถูกจุดประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง

ความจริงแล้ว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่คราวนี้มาในฐานะใหม่ “ประธานพรรคไทยสร้างไทย และผู้ร่วมก่อตั้งพรรค” ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้ระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 65 เมื่อครั้งแถลงนโยบายพรรค แต่ก็ไม่ได้มี “ดราม่า” อะไร

จนกระทั่งมีเซเลปทวิตเตอร์ “บอล-ธนวัฒน์ วงค์ไชย” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ออกมาทวีตถึงนโยบายดังกล่าว คราวนี้ต้องใช้คำว่า “แมส” มาก จนเกิดมหกรรมการเคลมนโยบายนี้เกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน

เริ่มตั้งแต่ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้โควตทวิตตอบกลับนายธนวัฒน์ วงค์ไชย ว่า

“…ดูเหมือนเป็นนโยบายเดิมที่เพื่อไทยใช้ในการเลือกตั้งมาแล้วนะ..ขอบคุณครับ”

มานิ่มๆ จัดไปหนึ่งดอก สรุปสั้นๆ ก็คือ นโยบายหวยบำเหน็จไม่ใช่ของใหม่นะจ๊ะ แต่ว่า “เพื่อไทย” ก็เคยทำมาแล้ว

ต่อมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. ได้ได้โควตทวิตตอบกลับนายภูมิธรรม ว่า

ใช่ครับ! และในวันนั้นคุณหญิงสุดารัตน์เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ริเริ่มนโยบาย #หวยบำเหน็จ วันนี้ท่านภูมิธรรมโพสต์มาก็ดีแล้ว นโยบายดีๆ เพื่อประชาชนแบบนี้ถ้ามีไทยสร้างไทยเสนอ และมีเพื่อไทยสนับสนุน น่าจะไปโลดครับ

ผู้การป๊อบ เน้นย้ำว่าคุณหญิงสุดารัตน์เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยในตอนนั้น เป็นนัยว่า คุณหญิงหน่อยมีบทบาทสำคัญในการคิดนโยบายนี้เช่นกัน พร้อมปิดท้ายสวยด้วยว่า ถ้าไทยสร้างไทย “เสนอ” และเพื่อไทย “สนับสนุน” ประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชน

 

เรื่องราวข้ามจากฝั่งนักการเมือง มาแวดวงนักเขียน-นักวิชาการ “ธีรภัทร เจริญสุข” หนึ่งในทีมงานหาเสียงของผู้ว่าฯ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้เผยถึงที่มาและกระบวนการคิดนโยบายหวยบำเหน็จได้อย่างน่าสนใจ ว่า

“…ไหนๆ ก็ไหนๆ ผ่านมาจะ 4 ปีแล้ว ขอเล่าเกร็ดเรื่องนโยบาย “หวยบำเหน็จ” แบบที่ไม่น่าจะมีคนเคยรู้มาก่อนให้มิตรสหายฟัง เป็นเรื่องสนุกๆ พอบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็แล้วกัน

1. ปี 2561 เริ่มมีทีท่าว่าจะเกิดการเลือกตั้งเสียที พรรคเพื่อไทยได้รวบรวมกลุ่มนักวิชาการ นักธุรกิจ อดีตข้าราชการวัยทำงานที่มีความคิดริเริ่ม ในช่วงวัย 30-40 ตั้งเป็นหน่วย Think tank เพื่อสนับสนุนคิดนโยบายให้พรรคเพื่อไทย ในชื่อกลุ่ม “โอกาส”

2. กลุ่ม “โอกาส” นี้ ได้รับความสนับสนุนจากคุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช ให้เข้าไปมีส่วนออกแบบวางแผนนโยบายสาธารณะเพื่อนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้ง 2562 ที่จะมาถึง แม้ยังจะไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไร และกลุ่ม “โอกาส” นี้ก็มีออฟฟิศเป็นเหมือนหน่วยนโยบายลับ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 5 อาคาร BBD (ม.ชินวัตร เดิม) ที่ทุกคนจะมาร่วมตั้งวงถกประเด็นนโยบายกันอย่างเข้มข้น

3. นโยบาย “หวยบำเหน็จ” ก็เป็นนโยบายหลักนโยบายหนึ่งที่ทีมงานกลุ่ม “โอกาส” คิดขึ้นเพื่อเสนอต่อกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้น ซึ่งก็ได้รับคำวิจารณ์และข้อแก้ไข เพื่อปรับปรุง มาจนถึงช่วงที่จะมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 มีนาคม 2562

4. กลุ่มตัวอย่างที่ทีมงานโอกาสใช้ในการออกแบบนโยบายหวยบำเหน็จ คือกลุ่มผู้ซื้อหวยใต้ดินและล็อตเตอรี่ ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน โฟกัสที่ จ.ชัยภูมิ อุดรธานี อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มตัวอย่างว่าถ้ามีจริงจะซื้อแน่นอนเดือนละ 500 บาทขั้นต่ำ

5. แต่นโยบายหวยบำเหน็จนี้ก็ถูกเก็บไว้ไม่นำออกมาพูดหาเสียง จนถึงโค้งสุดท้าย เพราะมีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยบางท่านยังแสดงความกังวลว่าจะถูกต่อต้านข้อหามอมเมา หรือถูกโยงไปถึงแผลเก่าในเรื่องหวยบนดินที่ทำให้เกิดคดีฟ้องร้อง ในคู่มือนโยบายพรรคก็ไม่มี สส.นำไปพูดถึงมากเท่าไร ต้องใช้ชื่อเป็นสลากการออมแห่งชาติด้วย เพราะเกรงจะผิด พรบ.การพนัน

6. จนกระทั่งวันที่ 16 มีนาคม 2562 ศุกร์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง วันหวยออก หลังหวยออกแล้ว หมอมิ้ง ตัดสินใจให้ทีมงานโอกาส และทีมงานสื่อปชส.ของพรรค ยิงโฆษณานโยบายหวยบำเหน็จ เป็นหมัดเด็ดโค้งสุดท้าย ยอมเสี่ยงว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คนจะสนใจแค่ไหน

7. ปรากฏว่า “หวยบำเหน็จ” กลายเป็น Talk of the town ดังเปรี้ยงทันที ยอดวิวหลักล้าน คนแชร์หลักหมื่น ทุกรายการวิเคราะห์ข่าว ทุกอินฟลูสายเศรษฐกิจ นำไปพูดคุยวิเคราะห์ต่อยอดมากมาย

8. คุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยในขณะนั้น เห็นเสียงตอบรับที่ดีมากในระดับประชาชนที่สอบถามมาขณะลงพื้นที่หาเสียง จึงเห็นความสำคัญและได้ให้ทีมงาน”โอกาส” ที่คิดนโยบาย ช่วยชี้แจงรายละเอียดและลงข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการปราศรัย และพูดในทุกเวทีอย่างจริงจัง

9. เช่นเดียวกับ อ.ชัชชาติ ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยในขณะนั้น ที่ขอข้อมูลความเป็นไปได้ เพื่อศึกษาและกล่าวต่อกับประชาชนว่า นโยบายหวยบำเหน็จ มีโครงสร้างที่ทำได้จริง ทำให้หวยบำเหน็จเป็นหนึ่งในนโยบายที่โด่งดังที่สุดในการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนสูงสุดมาจนถึงวันนี้

10. นโยบาย “หวยบำเหน็จ” จึงเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากการที่พรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญต่อการจัดตั้ง Think Tank นักวิชาการและนักธุรกิจระดับทำงานจริง คิดนโยบายที่สร้างสรรค์แปลกใหม่จากรากฐานชีวิตชาวบ้านจริงๆ และ “คุณหญิงสุดารัตน์” ก็ได้เห็นคุณค่านำไปพัฒนาต่อ ซึ่งน่าชื่นชม

11. ส่วน Think Tank กลุ่ม “โอกาส” เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง บางคนก็ยังทำงานต่อให้พรรคเพื่อไทย บางคนก็ขยายกิจการธุรกิจของตัวเอง บางคนก็กลับไปทำราชการในระดับสูงขึ้น บางคนก็ไปเป็น CEO บริษัทใหญ่ บางคนก็ยังเป็นนักยุทธศาสตร์การเมืองอิสระที่คิดนโยบายให้พรรคการเมืองต่อไป ส่วนเป็นใครบ้างนั้น ก็อยู่แถวๆ นี้แหละ ให้มาแสดงตัวกันเองละกัน

12. (จบ) “หวยบำเหน็จ” นั้นแทบทุกคนมองว่าเป็นนโยบายที่ดี มีประโยชน์ และสร้างสรรค์ ใครทำสำเร็จได้ก็เป็นเรื่องดี หวังว่าพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล จะผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง…”

ปิดท้ายที่ตัวตึง “ไทยสร้างไทย” น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นนี้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม โดยระบุว่า

“…ขอบคุณ “วิวาทะ หวยบำเหน็จ” ที่ช่วยทำให้พี่น้องประชาชน หันมาสนใจนโยบายนี้ครับ

ก่อนที่จะพูดถึงประโยชน์ของนโยบายนี้ ผมขอชี้แจง กรณีวิวาทะ ซึ่งเริ่มจากพี่อ้วน ภูมิธรรม ออกมาพูดว่า “หวยบำเหน็จ” (ที่ไทยสร้างไทยชูเป็นนโยบายหาเสียง) เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ครั้งที่แล้ว ซึ่งผมจะขอยืนยันอีกแรงว่า มันคือความจริง(ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ)ครับ

การเมืองยุคใหม่ เราควรจะพูดความจริงให้หมดว่า หวยบำเหน็จเคยเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยจริง โดยทหารราบที่ลงพื้นที่จริงๆ เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ รวมถึงผู้สมัครของพรรคฯ ชื่นชอบและเห็นด้วย โดยสนับสนุนและใช้เป็นนโยบายหนึ่งในการเดินตระเวนตากแดดหน้าดำ หาเสียงไปทุกเขตทั่วประเทศ

และก็เป็นความจริง ที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “นักรบห้องแอร์” บ้าง เป็นกลุ่ม “บ้านบางCare” บ้าง คนกลุ่มนี้ลงพื้นที่ไม่เป็น เป็นแต่ลงพื้นที่กระดาษA4 นั่งเทียนเขียนเฟซบุ๊ก ไขว่ห้างกระดิกเท้าตัวเย็นอยู่หน้าแป้นพิมพ์ ออกมาคัดค้านในทุกเรื่องที่พี่หน่อยทำ โดยที่ตัวเองไม่เคยออกมาตากแดดลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครของพรรคฯ เลย แต่คนกลุ่มนี้ซึ่ง สส.หลายคนในพรรคส่ายหน้า กลับมีโผรายชื่อเข้าไปนั่งในกระทรวงสำคัญตลอด ซึ่งขาประจำกลุ่มนี้ ก็คือคนที่ตั้งป้อมคัดค้าน “หวยบำเหน็จ”

น่าประหลาดที่พี่อ้วน ซึ่งเป็น “ขาประจำ” ในการคัดค้านแทบจะทุกนโยบายที่พี่หน่อยทำ หรือสนับสนุนให้พรรคทำ รวมถึงการที่ตัวเองก็คัดค้านนโยบายหวยบำเหน็จนี้ด้วย จะกล้าออกมาเคลมอย่างเต็มปาก ราวกับว่าพี่หน่อยไปแย่งนโยบายหวยบำเหน็จที่ตนเองสนับสนุนอยู่มาทำ

ผมมีความเชื่ออย่างนึงว่า “หากพรรคการเมือง คิดที่จะทำนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ยิ่งมีพรรคอื่นเห็นด้วยและสนับสนุนแนวความคิดไปด้วยกัน น่าจะยิ่งต้องขอบคุณ และเห็นเป็นโอกาสที่จะผลักดันนโยบายนี้ ให้สำเร็จมากขึ้น” ครับ

ต่อมาคือการให้เครดิต ต่อผู้ที่คิดนโยบายนี้ และพูดในมุมประโยชน์ของหวยบำเหน็จบ้างนะครับ

“หวยบำเหน็จ” มีที่มาจากกลุ่มน้องๆคนรุ่นใหม่ ที่รักและศรัทธาในอดีตนายกทักษิณฯ ได้ช่วยกันคิดและนำมาเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อนำไปต่อยอดแก้ปัญหาการเล่นหวยแบบการพนันของคนไทย ที่เล่นกันจนหมดเนื้อหมดตัว กลายเป็นภาระต่อลูกหลาน ไม่สามารถยังชีพในบั้นปลายของชีวิตได้

“หวยบำเหน็จ” เป็นชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่อยากนำธุรกิจใต้ดินทั้งหมด มาทำให้ถูกต้อง หารายได้เข้ารัฐ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เปลี่ยนจากเงินพนันเป็นเงินออม สำหรับไว้ใช้ในอนาคต(แถมยังได้ลุ้น) และตัดตอนมาเฟียที่ทำมาหากินบนความทุกข์ยากของประชาชน นำมาเสนอต่อพรรคการเมืองที่เขาคิดว่า น่าจะเป็นที่พึ่งที่หวังได้ ในการนำไป Implement ต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง

ผมอยากจะฝากขอบคุณน้องกลุ่มนี้ที่คิดนโยบายดีๆ เพื่อให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม และอยากจะขอโทษน้องๆทุกคน ในนามของนักการเมืองคนหนึ่ง ที่นโยบายดีๆที่เสนอมา ถูกนำมาใช้ดีสเครดิตทางการเมืองกัน แทนที่นักการเมืองจะร่วมกันทำประโยชน์ให้กับประชาชน

ผมเชื่อว่าน้องๆ กลุ่มนี้ อยากจะผลักดันให้นโยบายที่ตัวเองคิด ถูกนำไปคิดต่อยอด และใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจริงนะครับ (เอาตำนาน ไม่เอาตำแหน่ง)

ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ยิ่งหลายพรรคการเมืองเห็นด้วย และร่วมสนับสนุน น้องๆยิ่งน่าจะพึงพอใจมากขึ้น ซึ่งผมและพรรคไทยสร้างไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรค พร้อมที่จะทำตัวเป็นนั่งร้าน ช่วยสนับสนุน ผลักดัน ต่อยอด และส่งเสริมคนรุ่มใหม่ให้กล้าคิด กล้าแสดงออก และกล้าออกมาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ แบบนี้เยอะๆ

ไม่ว่าน้องกลุ่มนี้จะเป็นใคร ไม่ว่าจะเชียร์พรรคไหน ถ้าประโยชน์ของประชาชน คือคำตอบสุดท้าย เราคือเพื่อนกันครับ…”