เอเปค 2022 : ไทย,จีน-รัสเซีย และ BCG ทำไมถึงมองรัฐบาลประยุทธ์ทำเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่มากพอ ?

เอเปค 2022 : ไทย,จีน-รัสเซีย และ BCG ทำไมถึงมองรัฐบาลประยุทธ์ทำเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่มากพอ

การประชุมเอเปคของไทย จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 18-19 นี้ ในการจัดตลอด 2 วัน ภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นความพยายามฟื้นความเชื่อมั่นของไทยในสายตาประชาคมโลก และรัฐบาลประยุทธ์ ที่ความนิยมตกต่ำลงท่ามกลางกระแสยุบสภาและนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่ หวังใช้โอกาสนี้กระตุ้นความนิยม ทว่า การจัดประชุมเอเปครอบนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงยืดเยื้อและลุกลามถึงขั้นแบ่งฝ่าย โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กินเวลามากกว่า 8 เดือน และส่งผลกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน

เป็นบรรยกาศที่แตกต่างกับไทยในยุคทักษิณ ชินวัตร ที่จัดประชุมเอเปค โดยไม่พบเจอการเผชิญหน้ากันของชาติมหาอำนาจที่หนักหน่วงเท่านี้มาก่อน หรือแม้แต่วาระสำคัญที่ไทยในฐานะเจ้าภาพปีนี้ชูขึ้นอย่าง Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และการนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยความมั่นใจว่าจะเป็นแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจากปัญหาโควิด-19 และภาวะโลกร้อนที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ

อย่างไรก็ตาม ก็ได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การประชุมเอเปครอบนี้ ไทยได้ประโยชน์ในทางปฏิบัติมากแค่ไหน และวาระเนื้อหาที่ยกใช้การประชุมรอบนี้ ทุกชาติจะขานรับตามหรือไม่?

พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายโอท็อปยุคไทยรักไทยและเคยร่วมคณะทำงานจัดประชุมเอเปคปี  2546 , นาย ปรีชา ตรีสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญการค้า การลงทุน ในต่างประเทศ ได้รวมประเมินและให้มุมมองต่อการประชุมรอบนี้ว่าไทยจะได้อย่างที่รัฐบาลประกาศไว้ได้แค่ไหน

ดร.กิตติ กล่าวถึงการจัดประชุมเอเปคปีนี้ ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพว่า คิดว่าท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้อยากลบหลู่ดูหมิ่นความพยายาม แต่ในเชิงเนื้อหา แม้ไม่รู้เรื่องทั้งหมด จะดูเป็นพิธีกรรมมากกว่า ถ้าต้องมีอะไรนั้น สมมติตัวเองนั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องดูว่า ประเทศไทยได้อะไรจากตรงนี้? สิ่งที่ได้อย่างน้อย 2-3 สิ่งคือ

สิ่งแรก การเจริญเติบโตทางการค้า ความสัมพันธ์ทางการค้า ประเทศไทยค้ากับประเทศไหนบ้าง ถ้าเราสำรวจดู แบ่งประเทศเป็นโซนต่างๆ ประเทศไทยมีการค้ากับประเทศต่างๆที่ราบรื่นดี แต่ถ้าดูบางประเทศ อย่างเช่น รัสเซีย ทำไมการค้าไทยกับรัสเซียน้อยไป (รัสเซียเป็น 1 ในชาติสมาชิกเอเปค) เราไม่ได้วิเคราะห์ตรงนี้ ไทยเรา ถ้าในเอเปค แก่นสำคัญคือ 1.เขตการค้าเสรี 2.ต้องสอดรับกับกติกาองค์การการค้าโลก 3.สิ่งอื่นนอกเหนือจากการค้าเสรีเช่น สิ่งแวดล้อม สังคม

แต่ว่าถ้าสหรัฐฯไม่เอาด้วย (ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเลือกไม่มาและส่ง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีมาแทน) การประชุมครั้งนี้จะเหนื่อย แม้จะมีเงิน แต่ว่าสิ่งที่จะพูดออกมา ไม่แข็ง ไม่ดัง จีนก็คิดว่าจะเอายังไงกัน

สมัยที่ผมทำงานท่านสุชาติ เชาว์วิศิษฐ (อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง) ตอนนั้นจัดประชุมเอเปคครั้งแรก อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ให้ท่านสุชาติเป็นคนดูแล ผมดูแลส่วนกระทรวงการคลัง การคุยกันทำให้เรียนรู้และบรรยากาศคึกคักพอสมควร และเราเรียนรู้ว่าจีนกับสหรัฐฯทะเลาะตลอด อย่างเช่นตอนนั้น สหรัฐฯกล่าวหาจีน ตั้งอัตราค่าเงินหยวนต่ำเกินไป แต่ยุคนี้กลับไม่ชัดเจน สหรัฐฯไม่มีวาระที่ชัดเจน จะซัดอะไรกับจีน จีนก็ไม่มีวาระพิเศษด้วย โดยเฉพาะหลังโควิด-19 เลยไม่รู้ว่าประเทศไทยจะได้อะไร

ถ้าเราเอาภาพทั้งระบบมาวาง การประชุมเอเปครอบนี้ ไทยได้อะไรจากตรงนี้ ควรมีกรอบเจรจาที่ชัดเจนกว่านี้ว่า การค้าไทยกับรัสเซียจะเอายังไง ไทยกับจีนเป็นยังไง ไทยกับอาเซียนเป็นยังไง โรดแมปนี้รัฐบาลต้องวางให้ชัดเจน ถ้าดูเฉพาะตัวเลขการค้า ไทยกับรัสเซียยังน้อยเกินไป ถ้าดูว่าเกิดอะไรขึ้น น่าจะมีปัญหากับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เราไม่พูดถึงสงครามนะ สงคราม(รัสเซีย-ยูเครน) เพิ่งมาเกิดตอนหลัง ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะจัดการเรื่องนี้ น่าจะขยายสิ่งที่ติดขัดในการค้าไทยกับรัสเซียให้ชัดเจน การค้าไทยกับรัสเซีย มีอะไร ระบบการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของการส่งเสริมการลงทุน เท่าที่ดูนี่ สำนักงานบีโอไอ อยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ทำไมไม่มีที่รัสเซีย ผมถามรัฐบาลเลย ทำไมเป็นแบบนี้

อย่างไรก็ตาม เวลาของรัฐบาลประยุทธ์เหลือน้อยเต็มทีแล้ว แต่ถ้าเอเปคจะเกิดประโยชน์ รัฐบาลไทยเอาเลย การค้า การลงทุน ระหว่างไทยกับรัสเซียจะเอายังไง  SMEs ไทยจะได้ประโยชน์จากการค้ากับรัสเซีย รัฐบาลจะสามารถสั่ง รมต.พาณิชย์ หรือต่างประเทศ สามารถปรับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย รวมถึงประเทศในยุโรปตะวันออกทั้งหมด อย่าลืมว่า รัสเซียมีความขัดแย้งก็จริง แต่เขามีแผนชัดเจนว่า รัสเซียโซนตะวันออกไกล อย่างเมืองวลาดิวอลสต๊อก เมืองท่าสำคัญของรัสเซียฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้เอเชียที่สุดแล้ว ส่งของทางนี้ ถ้าเขาต้องการอะไร เขาต้องการน้ำตาล ขณะนี้ ปัญหาน้ำตาลบ้านเราทะเลาะกันอยู่ น้ำตาลไม่มีคนกิน คนไทยจะแย่งกันเรื่องส่าเหล้า ทำเอทานอล แต่จีนกับรัสเซีย จะมีกรอบเจรจาที่ชัดเจนตรงนี้ไหม

รวมถึงอาหารสัตว์ จะเอายังไงกับรัสเซีย รัสเซียมีนะ แต่เราพึ่งกับบราซิลมาก ไม่คิดหันมองรัสเซีย ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น

อันที่สอง ที่มีปัญหาอาหารสัตว์ เรื่องที่ไทยจะขายของให้รัสเซีย หรือการตั้งศูนย์ธุรกิจต่างๆ ทูตพาณิชย์ไทยประจำรัสเซียทำหน้าที่มากแค่ไหน ตัวเลขชัดเจนว่ารัสเซียค้าขายกับไทยน้อยมาก ทั้งที่ประเทศรัสเซียใหญ่ แล้วอาหารสัตว์มีมากมาย ข้าวสาลีปริมาณอันดับต้นของโลก ปุ๋ยที่รัสเซียเป็นฟอสฟอรัส เราก็ขาด ซึ่งไทยทำไมไม่คุยกับรัสเซีย ถ้าจะประชุมเอเปคงวดนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำไมไม่คุย ไม่ถาม ให้ประชาชนได้ทราบ แล้วเป็นประโยชน์กับรัฐบาล แม้ไม่ชอบประยุทธ์ แต่ก็พอทำให้เกิดประโยชน์ได้

เมื่อถามถึง การประชุมเอเปครอบนี้ จะยกระดับบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศได้แค่ไหน เมื่อเทียบการประชุมเอเปคสมัยรัฐบาลไทยรักไทยกับรัฐบาลประยุทธ์ ดร.กิตติ กล่าวว่า ก็ไม่อยากพูดให้สะเทือนใจหรอกครับ แต่ท่านประยุทธ์ก็ทำเต็มที่ของเขาแล้ว เขาทำได้มากพอตรงไหน แต่คนไทยได้ประโยชน์อะไร

ผมอยากให้ประยุทธ์ ปฏิบัติการ มีกรอบเจรจากับรัสเซีย กับจีน กับญี่ปุ่นให้ชัดเจน แม้รู้ว่ากับญี่ปุ่นยังเหนื่อยอยู่ เพราะญี่ปุ่นยังอยู่กับการย้ายฐานการผลิต แต่เราต้องเป็นของตัวเอง อันนี้ไม่ได้พูดถึงรัสเซียในแง่สงครามที่กำลังเกิดขึ้น แต่พูดว่าเราได้อะไรจากการค้า เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ จะโหวตเอาด้วยไม่เอาด้วยมติอะไรก็เรื่องของเรา แต่เราไม่ได้ทุเรศกับกฎระหว่างประเทศ แต่เอเปคนี้ ไทยจะได้อะไร?

ถึงจุดนี้ ไทยจะใช้การประชุมเอเปคในการยกระดับบทบาทงบนเวทีระหว่างประเทศได้หรือไม่ ดร.กิตติ กล่าวว่า อย่างน้อย ประยุทธ์ จุรินทร์ หรือดอน อาจได้คำแซ่ซ้องสรรเสริญ ได้ผลประโยชน์ทางการค้า เพราะเอเปคคือเวทีการค้าการลงทุน ไม่ใช่นั่งกินอาหารเชฟดัง แต่นั้นเป็นส่วนประกอบส่วนเล็ก แต่เรื่องใหญ่คือ ไทยจะต้องกรอบข้อตกลงทางการค้า เอสเอ็มอีไทยได้อะไร กลุ่มธุรกิจก็คุยกันแล้ว แต่ยังกล้าๆกลัวๆอยู่ เพราะฉะนั้น ประยุทธ์ ต้องพูดเลย เอกชนจะเอายังไง ฉะนั้นประยุทธ์ต้องแสดงความเป็นผู้นำ สิ่งนี้ประยุทธ์จะมอบไว้ได้

ในช่วงสัปดาห์นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีงานประชุมระหว่างประเทศ 3 เวทีใหญ่อย่าง อาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา, เวทีเอเปคที่กรุงเทพ และเวที จี20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงต่อเนื่องกัน  มีความน่าสนใจยังไง คุณพลัฏฐ์ กล่าวว่า การจัดในช่วงไล่เลี่ยกันนี้ เกิดขึ้นในสภาวการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์มีความตึงเครียด ทำให้ผู้นำบางประเทศเลือกไม่มาร่วมประชุมเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือปะทะกัน

จริงๆแล้ว การประชุมสุดยอด มักเป็นเวทีสำคัญที่ประเทศเจ้าภาพใช้โอกาสนี้แสดงบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย จะมีโอกาสทำให้ปัญหาบางเรื่องคลี่คลายลง เช่น เปิดช่องส่งอาหารจากยูเครนไปทวีปแอฟริกา การซื้อขายพลังงานในช่วงฤดูหนาว ทั้ง 3 เวที เอเปคมีโอกาสทำได้ แต่ไม่ได้ทำ เลยมุ่งไปที่ จี20 ทำให้อินโดนีเซียฉายภาพความเป็นผู้นำอาเซียน รวมถึงเวทีอาเซียนในพนมเปญ

แต่ก่อนไทยเป็นชาติผู้นำในอาเซียน ตอนนี้กลายเป็นประเทศอื่นที่อาศัยจังหวะและความแข็งแกร่งมีบทบาทเหนือประเทศไทย และทำให้เกิดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ดีลกับเทสล่า มอเตอร์ ได้การลงทุนใหญ่โต หรือกัมพูชา ได้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล ไทยกลับไม่มากพอ สำหรับผมมองว่าน่าเสียดาย ทั้งที่จัดประชุมใหญ่ขนาดนี้ แต่ขาดการแสดงความเป็นผู้นำในนานาชาติ

ปรีชา ตรีสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญการค้า การลงทุนในต่างประเทศ

ด้านนาย ปรีชา กล่าวว่า ผมอยากให้ไทยเพิ่มบทบาทในการทำการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียมากกว่านี้ รัสเซียไม่ใช่แค่ประเทศมหาอำนาจ แต่ยังเป็นผู้นำกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียหรืออีอียู กำลังซื้อของรัสเซีย 1 คน เท่ากับนักท่องเที่ยวจีน 6 คน และอยากส่งเสริมการค้าและการศึกษา เอาสินค้าไทยเสนอขายให้รัสเซีย แม้รัสเซียโดนแซงซั่นเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะอียู แต่ผู้แทนหอการค้าไทย-รัสเซีย กล่าวกับผมว่าเขาก็อยากได้สินค้าจากไทยมาทดแทนสินค้าจากอียู ผมอยากเร่งเรื่องเจรจาการค้าเสรีไทย-รัสเซีย และรวมถึงอีอียู แต่ไทยยังไม่ทำเอฟทีเอกับใคร ผิดกับเวียตนามที่มีทำกับหลายประเทศ

ผมอยากให้เปิดช่องทางการค้าหักบัญชีซึ่งดีกว่าการต้องเสียค่าธุรกรรม รัสเซียเคยคุยถึงการค้าด้วยเงินบาทและรูเบิล ง่ายต่อการคำนวณค่าสินค้า และให้สินค้าไทยส่งจากไทยไปเมืองท่าวลาดิวอสต๊อก ซึ่งใช้เวลา 10 วัน  การขนส่งจะลดต้นทุนในสินค้า และยังเปิดเอสเอ็มอี แม้แต่รัสเซียภาคตะวันออกไกล ก็จะได้ยกเว้นภาษีเหมือนกันเกณฑ์ของบีโอไอ ช่องเส้นทางระหว่างไทยไปวลาดิวอลสต๊อก น้อยคนจะเข้าใจ ผมอยากให้เกิดความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการไทยทำการค้ากับรัสเซียว่า ไม่ได้มีปัญหากับการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเลย

ดร.กิตติ กล่าวว่า ผมคิดว่ายังไงปูตินก็ไม่มา ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมา เพราะเอเปคไม่มีอำนาจอิทธิพลเหมือนเวทีจี 7 ไม่มีกรอบเจรจาเรื่องการเมือง

เมื่อถามถึงความพยายามชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาในการประชุมเอเปค นาย ปรีชา กล่าวว่า แนวคิดนั้นเป็นประเด็นขับเคลื่อนระดับโลก ไม่ใช่กับเวทีทางการค้า มีวันหนึ่งผมไปบรรยายเรื่อง BCG พอพูดจบ หลายคนมาจับมือขอบคุณผมด้วยความดีใจ ที่เขาดีใจคือเราไปนำเสนอแล้วเขาได้หน้าแค่นั้นเอง

ดร.กิตติ มองด้วยว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่แนวคิดนี้ต้องเป็นกรอบทิศทางขับเคลื่อนระดับโลก ทำคนเดียวไม่ได้ คิดดูระหว่างเราดัน BCG แต่พื้นที่พม่าเลยแม่สาย ก็ยังเผาป่าอยู่ ไม่ได้ไง

คุณพลัฏฐ์กล่าวว่า เอเปครอบนี้ ที่ผ่านมามีอะไรดีๆเยอะ เช่น การเชื่อมโยงคน อย่าง APEC Business Card เพื่ออำนวยความสะดวกคนให้สามารถเดินทางและค้าขายกับกลุ่มสมาชิกเอเปคได้ เป็นวีซ่าพิเศษ การลงทุนต้องมากกว่านี้ แต่บางทีอยากได้อินเดียเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้เขตการค้าใหญ่ขึ้น ผมคิดว่าประเทศต่างๆที่เข้ามาร่วม เราอยากให้พูดถึงการค้ามากขึ้น ตอนสมัยรัฐบาลทักษิณก็พูดคุยทุกมิตินะครับ แต่ว่ารอบนี้ พูดถึงสิ่งแวดล้อมหรือโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทางเจ้าภาพก็ออกกลางๆ เพื่อทำให้ประเทศสมาชิกลำบากใจ เราจะไม่พูดเรื่องอะไรที่อ่อนไหว

อย่างไรก็ตาม การค้าโลกตอนนี้อยู่ในภาวะหดตัว จากโควิด การสงครามการค้าหรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลับเป็นโอกาสดีของไทย เราได้คุยกับผู้แทนหอการค้า เราเป็นพันมิตรได้กับทุกชาติ ในขณะที่คู่ค้าบางคนไม่ชอบกัน เช่น รัสเซียกับสหรัฐฯ หรือสหรัฐฯกับจีน รัสเซียกลับมองว่าเราเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดในอาเซียน ประเทศจีนบอกเราก็เป็นมิตรที่สุด สหรัฐฯก็เช่นกัน ทุกประเทศรักประเทศไทย ถ้าเราสามารถเป็นคนกลาง จะเป็นเรื่องดีมาก อินโดนีเซีย เคยพยายามใช้ตัวเองเป็นเวทีเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนเพื่อหยุดสงคราม เราเสียโอกาสในการใช้อำนาจของเวทีนานาชาติ ย้อนกลับไปเอเปครอบก่อน ไทยอยู่แถวหน้าของโลก สู่อังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นได้เลย แต่ว่าวันนี้ โอกาสดีขนาดนี้ แต่ยังไม่สามารถยกระดับประเทศไทยให้เกิดความเชื่อมั่นได้

 

“ผมคิดว่าอยู่ที่ประเทศเจ้าภาพ(จัดเอเปค) ถ้าเราได้ผู้นำประเทศเก่ง สามารถหยิบประเด็นมาพูดแล้วทุกคนเริ่มเห็นด้วย สมมติช่วงนี้ การค้าอ่อนไหว ก็พูดถึงการเดินทาง หรือหยิบเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจอ้อมๆ ที่ทุกคนรู้สึกสบายใจจะพูด เราเกิดเราทำ APEC Visa ได้ดีนะ ต่อไปประเทศไทย ซึ่งก็เคยเริ่มจัดประชุมอาเซม (ASEM) เอเชีย-ยุโรป ก็จะอิจฉาเรา และต้องมีวาระที่แข็งเพื่อมาสู้กับเอเปค และเราจะมีอะไรหลายอย่างทางการค้าทำกัน ผมคิดว่าสำคัญ ถ้าเราเดินได้ดี” พลัฏฐ์ กล่าว

เมื่อถามถึง กรณีถ้ามีการจัดประชุมระหว่างประเทศโดยไม่ใช่รัฐบาลนี้เป็นเจ้าภาพ อาจเป็นรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าพรรคไหน จะทำยังไงให้ทุกชาติแม้แต่ชาติที่มีปัญหากันสามารถคุยกันได้ คุณพลัฏฐ์ กล่าวว่า ผมคิดว่า สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมของไทย เป็นมิตรกับทุกประเทศ สมมติไปนั่งประชุมในประเทศที่บรรยากาศไม่น่าประชุม เขาก็ไม่อยากประชุมแล้ว เขามาไทย เราก็บริการดี ความสบายก่อนเลย คลายความตึงเครียดก่อน ตัวผู้นำประเทศ มีศักดิ์ศรีมีความน่าสนใจ เชื่อไหม การเมืองระหว่างประเทศ สมมติฝรั่งเศสเชิญนายกไทยมาร่วม แม้ไทยจะไม่มีอำนาจต่อรอง แต่เขาเลี้ยงฟรัวการ์จากไก่ จริงๆประยุทธ์ก็ดูเป็นผู้นำที่เข้มแข็งนะ เพราะอยู่มา 8 ปี การเมืองมีเสถียรภาพ ฉะนั้น เขาต้องเป็นผู้นำที่ทั่วโลกจับตา แต่ทว่าเขากลับให้ราคาประยุทธ์น้อยเกินไป ซึ่งน่าเสียดาย อยู่ตั้ง 8 ปี นึกว่าเก่ง สามารถประสานงานต่อเนื่องได้เหมือนซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย หรือมหาเธร์ของมาเลเซีย

นาย ปรีชา กล่าวตรงนี้ว่า การที่ผู้นำอยู่ได้นาน ถ้าเป็นการวางแผนที่ดี ติดตามงาน สร้างงานที่ดี 8 ปีถือว่าได้ผลงานมหาศาล ผมได้ไปสำนักงานส่งเสริมด้านอาหารของกระทรวงอุตสาหกรรม เขายังเก็บนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เขายังทำอยู่ ผมบอกเลย เขาก็อยากเปิด แล้วอีกอย่างประเทศในแอฟริกา เราไม่ได้ความสำคัญทั้งที่แอฟริกาไม่ได้จน เขามีทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่าง ผมอยากให้มีความสนใจ เพราะตลาดแอฟริกา เป็นดั่ง “มหาสมุทรสีคราม” หลังโควิด-19 ขณะนี้

แม้กระทั่งไม่นานมานี้ ผมได้พบปะกับนักธุรกิจจากคองโก และมีคนมาขอพบผมอีกกว่า 50 บริษัท ปัจจุบันจะมีผู้ค้าและนักธุรกิจจากแอฟริกามาไทยตลอด เขาก็มาสั่งซื้อสินค้าไทยส่งกลับไปขายในแอฟริกาแม้แต่ช่วงโควิด-19 แม้ต้องโดนกักตัวหลายวัน เขาก็ยอม เสร็จแล้วก็อยู่อีก 14 วัน เอาสินค้ากลับไปขาย ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและเรากำลังจะแพ้เวียตนามอีก เพราะว่า เวียตนามไปเช่าที่ดินในประเทศแอฟริกาปลูกข้าว เพื่อลดการนำเข้าจากเอเชียสู่แอฟริกา

คุณพลัฏฐ์กล่าวเสริมว่า จะเห็นว่าเราต้องมีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ แต่เรากลับสนแต่ดุลการค้า ทั้งที่มันเลยไปไกลแล้ว เราให้การสนับสนุนแม้ต้องขาดดุลการค้าไปบ้างแต่เราก็มีอิทธิพลกับประเทศนั้น เหมือนที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลกับเรา

ทั้งนี้ ดร.กิตติ กล่าวว่า แม้การประชุมเอเปครอบนี้ รัฐบาลไทยจะไม่มีวาระอะไรเลย แต่ถ้าผมเป็นประยุทธ์ ก็ประกาศเลยว่าจะช่วยโลก ไม่ใช่ยกโมเดล BCG แต่จะแก้ปัญหาความหิวโหยทั่วโลก โดยช่วยเหลือแอฟริกา