‘มะเร็งปอด’ คือมะเร็งพบบ่อยในไทย มีผู้ป่วยใหม่ถึง 47 คน/วัน

นพ.แสนศักดิ์ ลิขิตพงษ์วิทย์ อายุรแพทย์โรคปอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์และพยาบาล รพ.บ้านแพ้ว กล่าวบรรยายในงานมหกรรมสุขภาพเฮลท์แคร์ 2022 หัวข้อ“มัจจุราชเงียบ มะเร็งปอด ภัยร้ายที่รักษาได้” ระบุว่า

สำหรับ “มะเร็งเต้านม” ปัจจุบันมีเทคโนโลยีตรวจเมโมแกรม ทำให้วินิจฉัยได้เร็วขึ้น ให้ยาได้ตรงเป้าขึ้น ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการอยู่รอด 5 ปี แต่ “มะเร็งปอด” อยู่ข้างใน คลำไม่ได้ บางทีเราไม่เคยเอกซเรย์ปอด รู้อีกทีไอเรื้อรังไปแล้ว ซึ่งมักเป็นคนไข้ระดับ 4 ไปแล้ว

เมื่อถามถึงสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ?

นพ.แสนศักดิ์เปิดเผยว่า อะไรที่รู้เร็วย่อมเป็นการดี เหมือนโควิด-19 ที่เมื่อก่อนไม่มีเอทีเค ต้องไปตรวจ RT-PCR เท่านั้นจึงจะรู้ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคือการสกรีนก่อน เพื่อรักษาถูกจุด ขอเชิญชวนมาคัดกรองมะเร็งปอด ถ้ารู้เร็ว ก็ไปหาหมอ เพื่อวินิจฉัยเพิ่มอีก

“สถิติมะเร็งที่พบบ่อยในไทย คือมะเร็งปอด ในผู้ชายเกิดเป็นอันดับ 2 ส่วนผู้หญิงอยู่อันดับที่ 5 กล่าวคือ ในประชากร 100,000 คน ผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงถึง 23 คน ส่วนผู้หญิง ประมาณ 10 คน ต่อ 100,000 คน

ในเรื่องของความรุนแรง เวลาเราจะบอกว่า คนไข้คนหนึ่งเป็นมะเร็งแล้วหายขาดหรือไม่ ดูจากระยะเวลา นาน 5 ปี เรื่องมะเร็งเต้านม ประมาณปี ค.ศ.1977 จะเห็นว่าอัตราการอยู่รอด 5 ปีของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม คือ 75 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา การรักษาดีขึ้น ทำให้มีโอกาสอยู่รอดเป็น 91 เปอร์เซ็นต์ กลับกันในปี 2014 มะเร็งปอด การอยู่รอดยังพัฒนาช้าอยู่ แล้วทำไมมะเร็งปอดช้า เพราะอยู่ข้างใน การเข้าถึงการสกรีนค่อนข้างลำบาก รู้อีกทีคือไอเรื้อรังไปแล้ว

“มะเร็งปอด มี 2 ประเภท คือ 1.ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก เจอได้ 10-25 เปอร์เซ็นต์ และ 2.ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ต่างกันที่เซลล์เล็กผ่าตัดไม่ได้ คนไข้มีแนวโน้มเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ซึ่งใน 3 เดือนหลังเจอก็อาจเสียชีวิตแล้ว ส่วนชนิดเซลล์ไม่เล็กจะกระจายได้ช้า และรักษาด้วยการผ่าตัดได้ง่ายกว่า

“ระยะแรก 1-2 จะมีชีวิตอยู่กับครอบครัวได้นานถึง 5 ปี ระยะท้าย อัตราสูงถึง 92 เปอร์เซ็นต์ รักษาหายได้ ถ้ารู้แต่เนิ่นๆ ถ้าเป็นเซลล์ชนิดเล็ก การพยากรณ์โรคไม่ดี จึงไม่สามารถผ่าตัดและหายขาดได้ ถ้าเจอตอนเซลล์ยังเล็กอยู่” นพ.แสนศักดิ์ระบุ

“มะเร็งปอด” คัดกรองด้วย Low Dose CT (LDCT) จะลดอัตราการตายจากมะเร็งปอดได้ถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์ บางทีเอกซเรย์ไม่เห็นก้อน เพราะเป็นภาพ 2 มิติ ไม่เห็นความลึก บางทีมีหนามโผล่ออกมาแล้ว ซึ่งปกติ การทำเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยจะสัมผัสสารก่อรังสีที่น้อยกว่า

นพ.แสนศักดิ์ ยังกล่าวถึงสาเหตุของมะเร็งปอดในประเทศไทยด้วยว่า เหมือนต่างประเทศ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งผู้ที่สูบมีโอกาสเกิดได้ถึง 8-20 เท่าของคนที่ไม่ได้สูบ คนที่สูบจำนวนมากและหลายปี ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

“แม้จะเลิกแล้วแต่ก็ยังมีความเสี่ยงถึง 2.5 เท่า ที่สำคัญกำลังทำร้ายคนในครอบครัว เช่น คนในบ้านไม่เคยสูบ แต่ภรรยาเป็นมะเร็งปอด เพราะสามีสูบบุหรี่ เป็นต้น

ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า คนไข้บางคนจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันได้ เป็นฝ้าขาว เหมือนคนไข้โควิด เพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้า บางคนที่บ้านสามีไม่สูบ หาสาเหตุไม่เจอก็จริง แต่บางคนเกิดจากสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ เช่น ประเทศจีน มีคนไข้กลุ่มนี้เยอะเช่นกัน รวมถึงคนไข้ ‘วัณโรคปอด’ คือสาเหตุที่เจอได้”

 

ถามถึงอาการคนไข้มะเร็งปอด ?

นพ.แสนศักดิ์ชี้ว่า ส่วนใหญ่ที่มีอาการ คือระยะ 3-4 แล้ว เช่น ไอ น้ำหนักลด เหนื่อย ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอกจากการที่มีน้ำในปอด หรือเสียงแหบ เป็นต้น

ส่วนระยะของมะเร็งปอด มี 4 ระยะหลัก ถ้าเจอเร็วสามารถผ่าตัดได้ โดยหมอจะฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือด ทำให้คุณหมอแยกได้ว่าตรงไหนคือวรรณโรค หรือมะเร็งปอด ถ้าเซลล์มีการกระจายไปอีก ก็ค่อนข้างแน่ชัดว่า เป็นมะเร็งปอด ถ้าเรารู้คำตอบ หมอจะส่งข้อมูลต่อ แล้วตรวจเพิ่มเติม ประเมินระยะของโลก ให้โอกาสคนไข้ถ้าผ้าตัดได้ให้ผ่าตัด ถ้าตัดไม่ได้อาจให้ทำคีโม ซึ่งระยะที่ 3 ต้องใช้เคมีบำบัด ระยะหนักกว่านั้นต้องใช้การฉายแสง เจอระยะแรกมีโอกาสอยู่รอด ถึง 92 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่ 4 มีโอกาสอยู่รอด เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปี

ถามถึงสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดในไทย ?

นพ.แสนศักดิ์ระบุว่า ส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นมะเร็งปอดนั้นมักเป็นระยะท้ายๆ เพราะการเอกซเรย์เข้าถึงลำบาก โดยสถิติ โรคมะเร็งปอดในประเทศไทย ที่มีผู้ป่วยใหม่ถึง 47 คนต่อวัน หรือ 17,222 คนต่อปี (ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถิติสาธารณสุข ปี 2562) ผู้ป่วยที่ตรวจเจอในระยะที่ 1 จะมีโอกาสอยู่รอดถึง 5 ปี ได้มากกว่าผู้ป่วยที่ตรวจในเจอในระยะที่ 4 ถึง 6 เท่า

นพ.แสนศักดิ์ทิ้งท้ายว่า ถ้าเรามีญาติหรือใครสักคนที่เป็นมะเร็งปอด แล้วมารู้ระยะท้ายๆ การเข้าถึงบริการค่อนข้างลำบาก หมอมีไม่เยอะ ต้องเป็นโรงพยาบาลใหญ่

“ถ้าเป็นไปได้ เราควรเอกซเรย์ปอดให้รู้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งอาจจะเจอความเห็นอื่นๆ ด้วย ถ้าเราผิดปกติ ค่อยไปเอกซเรย์อีกครั้งที่โรงพยาบาล ไม่ต้องกลัว บางคนเจอจุดเล็กๆ อาจไม่ใช่มะเร็งก็ได้” นพ.แสนศักดิ์กล่าว

 


หมายเหตุ : การบรรยายนี้ เกิดขึ้นในงานมหกรรมสุขภาพเฮลท์แคร์ 2022 ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม จัดโดนบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือเครือมติชน ผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จำนวน 14 แห่ง หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดจนภาคเอกชน