นิตยสาร : อนาคตของอดีต โดย กล้า สมุทวณิช

คล้ายกราฟสัญญาณชีพที่กระเตื้องวูบขึ้นมาสองจังหวะให้เห็นว่าวงการนิตยสารที่ถูกมองว่านอนเป็นไม้ใกล้ฝั่งอยู่ในห้อง ICU ยังมีชีวิตอยู่ กับข่าวการ “เรียกน้ำย่อย” นิตยสารหัวใหม่ ของบรรดา “ผู้กล้า” ที่เข็นเรือลำใหญ่ออกมาในวันที่เรือใหญ่และเก่าแก่หลายลำจอดเทียบท่า หรือล่มหายลงไปเมื่อถึงฝั่ง

นิตยสาร Mad About ที่จะมี โตมร ศุขปรีชา และ นิ้วกลม เป็นกัปตัน ร่วมกับบรรดาลูกเรือนักเขียนและคอลัมนิสต์ร่วมสมัย ซึ่งต่างคนต่างเป็น “แม่เหล็ก” ของแต่ละแนวแต่ละทางแบบไม่แยกสีไม่แบ่งค่าย เช่น วินทร์ เลียววาริณ ประภาส ชลศรานนท์ หนุ่มเมืองจันท์ คำ ผกา ปราบดา หยุ่น วรพจน์ พันธุ์พงศ์ อธิคม คุณาวุฒิ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ อุทิศ เหมะมูล อุรุดา โควินท์ ปองวุฒิ รุจิระชาคร และนักเขียนอีกหลายท่าน ชนิดที่ว่า “คอ” นิตยสารแทบไม่เชื่อว่าจะมีนิตยสารเล่มไหนที่สามารถรวบรวมนักเขียนและคอลัมนิสต์ระดับนี้มาไว้รวมกันได้

 

และอีกเรื่องที่เป็นคลื่นกระเพื่อมขึ้นของวงการนิตยสารสังคมการเมืองและวัฒนธรรม คือการเปิดหน้าลงสู่โลก Online เต็มตัวของนิตยสารรุ่นใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดีคือมติชนสุดสัปดาห์และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะเปิดเว็บใหม่อย่างเป็นทางการในวันนี้ ศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559

ในห้วงยามที่ท้องน้ำแห่งนิตยสารนั้นเงียบเหงา วันที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นขาลงของนิตยสารที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตแพร่หลายของเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุด ข่าวการปิดตัวของนิตยสารชื่อดังคุ้นหัวคุ้นชื่อมาเกินยี่สิบปีแต่ละฉบับนั้นในตอนแรกๆ ก็เป็นข่าวฮือฮา แต่แล้วก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นฉบับไหนออกมาประกาศข่าวร้ายเป็นรายต่อไปเท่านั้นเอง

นิตยสารใดที่ยังอยู่รอดบนแผงนั้นก็ต้องปรับตัวกันเป็นการใหญ่ บ้างก็ปรับตัวด้วยการลดหน้าลงหรือปรับลดความถี่ในการออกวางแผงให้ห่างไป มีน้อยมากที่จะ “หนาขึ้น” หรือเพิ่มเซ็กชั่น เติมคอลัมน์ เช่นนี้การออกมาเปิดตัวทำนิตยสารหัวใหม่ของบรรดานักเขียนและคอลัมนิสต์กลุ่มที่ว่า ก็ดูเหมือนจะเป็น “เรื่องบ้าๆ” สมดังชื่อนิตยสาร Mad About

สำหรับผู้คนที่เติบโตเป็นหนุ่มสาวมาในยุคก่อน พ.ศ.2550 นั้น นิตยสารเป็นทั้งสื่อบันเทิงอันสำคัญ กับแหล่งข่าวที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกความสนใจ ในสมัยก่อนนั้น ข่าวสารแบบเจาะลึกในแต่ละเรื่องของแต่ละวงการต้องหาอ่านจากนิตยสารเท่านั้น ซึ่งก็มีนิตยสารสำหรับแทบทุกวงการทุกความสนใจจริงๆ ตั้งแต่ข่าวสาร การเมือง สังคม วัฒนธรรม ดนตรี วรรณกรรม ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ แต่งบ้าน งานอดิเรก เครื่องเสียง สัตว์เลี้ยง พระเครื่อง ผี ไปยันวงการใบ้หวย ยิ่งถ้าข่าวต่างประเทศแล้ว นิตยสารอาจเรียกว่าเป็นแหล่งข่าวแหล่งเดียวสำหรับผู้เข้าไม่ถึงข้อมูลจากต่างประเทศเลยด้วยซ้ำ ในโลกยุคที่ผ่านมานั้น จินตนาการไม่ออกเลยว่าโลกที่ไม่มีนิตยสารนั้นจะเป็นเช่นไร

 

ทว่าเมื่อระบบสื่อออนไลน์ง่ายสะดวกและเป็นมิตรขึ้น นิตยสารประเภท “ข่าวคราวความเคลื่อนไหว” ทั้งไทยและต่างประเทศ ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต้องปิดตัวลงไป เพราะข่าวสารจากเครือข่ายที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบนั้นไว้เร็วและทันใจกว่ามาก อีกทั้งความเคลื่อนไหวของ “แวดวง” ก็ติดตามได้ผ่านสื่อออนไลน์รวดเร็วกว่า และเมื่อระบบ Facebook เข้ามาอยู่ในโทรศัพท์และแท็บเล็ตทุกเครื่อง ก็เหมือนกับทุกคนมี “นิตยสาร” ส่วนบุคคลที่เลือกเนื้อหาที่สนใจได้เอง จากนั้นความซบเซาก็มาเยือนวงการนิตยสารในภาพรวม ด้วย “สาร” ในนิตยสารนั้นมีให้เสพแสวงหาในโลกออนไลน์อย่างดูเท่าไรก็ไม่หมด

กับด้วยเหตุที่โลกและความสนใจในข่าวสารของผู้คนในยุคอินเตอร์เน็ตนี้สั้นลงอย่างมาก ข่าวใหญ่ประเด็นร้อนนั้นมีอายุเฉลี่ย 3-5 วัน หรืออย่างเก่งก็ไม่เกินสัปดาห์ ซึ่งเกือบจะเป็นการพ้นวิสัยที่นิตยสารจะตามไป “เจาะ” มาได้ทัน นิตยสารที่เหลือรอดอยู่ อาจจะต้องเป็นประเภท “สายแข็ง” มีแนวทางของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องเล่นกับเรื่องที่เป็นกระแสหรือข่าวสาร ซึ่งปัจจุบันพวกสายแข็งที่ว่านี้ก็ปรับตัวไปเป็นกึ่งๆ หนังสือกึ่งนิตยสารไปแล้ว เช่น Way Magazine หรือ Writer

จุดแข็งที่สุดของนิตยสารคือความเป็น “สถาบัน” ของมัน กล่าวคือนิตยสารถูกขับเคลื่อนไปด้วย “กองบรรณาธิการ” ที่เป็นเหมือนคณะกรรมการผู้จะคอยคัดสรรข่าวสาร คอลัมน์ เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นเนื้อหาของนิตยสารนั้นโดยมีแนวทางของแต่ละนิตยสารกำกับไว้ ซึ่งแนวทางที่ของนิตยสารบางฉบับอาจจะสืบทอดมาเป็นเวลาหลายสิบปี สั่งสมจนสร้างความเป็น “สถาบัน” จนผู้มาเขียนเนื้อหาหรือไม่ว่าจะคนในและคนนอกก็ผลิตเนื้อหาให้เป็นไปตามแนวทางของนิตยสารเช่นกัน

การที่เรื่องราว ข่าว บทความ ภาพถ่าย งานเขียนใดได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร จึงถือว่าเรื่องเหล่านั้นได้รับการประเมินจาก “กรรมการ” ของ “สถาบัน” นั้นแล้วว่า เป็นงานที่มีคุณค่าหรือคุณภาพในระดับที่ “สถาบันนิตยสาร” ฉบับนั้นยอมรับ ซึ่งเรื่องนี้นักเขียนรุ่นก่อนปี 2550 คงจำความตื่นเต้นที่งานเขียนของตัวเองได้ลงพิมพ์ในนิตยสารอย่างมติชนสุดสัปดาห์ Writer หรือช่อการะเกดได้ดี เพราะนั่นหมายถึงเราได้รับการยอมรับจาก “สถาบัน” ที่เราเชื่อถือส่งงานไปให้พิจารณา

แม้ว่าในโลกปัจจุบัน ใครๆ ก็เป็นคอลัมนิสต์ได้ หรือแม้แต่คอลัมนิสต์นักเขียนมืออาชีพหลายคนก็เขียนอะไรต่ออะไรลงในสื่อหรือชุมชนออนไลน์อ่านกันฟรีๆ แต่สิ่งที่อาจต้องยอมรับกันก็คือ ใครๆ ก็เป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ได้ แต่ไม่ใช่ใครๆ ทุกคนนั้นจะเขียนได้ดี และแม้นักเขียนและคอลัมนิสต์ผู้มีชื่อเสียงจะโพสต์ Facebook กันทุกวัน แต่งานเขียนที่ดีที่สุดของพวกเขาก็ถูกสงวนไว้สำหรับพื้นที่บนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอยู่ดี นั่นเพราะความเป็นสถาบันของนิตยสารนั่นเอง

สิ่งที่คนรักนิตยสารต้องคอยดู คือแนวโน้มในการเสพสื่อของคนในยุคปัจจุบันและยุคต่อไปนั้น “ความเร็ว” และ “ความหลากหลาย” จะสู้กับ “คุณภาพ” “แนวทาง” หรือ “ความเป็นสถาบัน” ได้หรือไม่ คำตอบของเราอาจจะต้องรอดูการเติบโตหรืออยู่รอดของนิตยสาร Mad About ที่เล่าไว้ข้างต้น ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

กับการเข้าสู่โลกออนไลน์ของมติชนสุดสัปดาห์และศิลปวัฒนธรรม ว่าจะสามารถรักษาความเป็นสถาบันนิตยสารที่ยืนยงมาร่วม 20-30 ปี ไปพร้อมกับการรับเอาข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีในแง่ของความรวดเร็ว ทันประเด็น และผู้อ่านสามารถมีส่วนร่วมได้ ของโลกออนไลน์มาเป็นประโยชน์และเสริมพลังของนิตยสารการเมืองและสังคมวัฒนธรรมรุ่นใหญ่ทั้งสองนี้ได้หรือไม่