ย้อนตำนาน การบุกทำร้ายร่างกาย “วรเจตน์” กับช่วงพีค ของ “คณะนิติราษฎร์” กับ ข้อเสนอแก้ “112” เมื่อ 2555

เผยแพร่ครั้งแรกใน “คอลัมน์ ในประเทศ” ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 1647 (9-15 มีนาคม 2555) ปก อ.วรเจตน์  ข้างหลัง “หมัด”

(หมายเหตุตำแหน่งทางวิชาการและชื่อบุคคล ถูกบันทึกไว้ในช่วงปี 2555 )

หากมองในแง่ปรากฏการณ์ เหตุการณ์ฝาแฝด “สุพจน์-สุพัฒน์ ศิลารัตน์” บุกไปทำร้ายร่างกาย “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ถึงคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์

คงเป็นเรื่องของกำปั้นเถื่อนๆ สองคู่ ที่กระหน่ำชกใส่ปัญญาชน ซึ่งนำเสนอแนวคิดทวนกระแสสังคม

แต่หากลองมองทะลุไปสู่เบื้องหลังของ “หมัด” เหล่านั้น และรอยฟกช้ำบวมเป่งบนใบหน้าวรเจตน์

เราจะพบประเด็นอื่นๆ ซ่อนแฝงอยู่มิใช่น้อย

เริ่มจากกรณี “สุพจน์-สุพัฒน์” ที่เมื่อถูกตรวจสอบประวัติแล้ว ดูเหมือนจะไม่ใช่คนหนุ่มบ้าระห่ำ “ธรรมดา” ทั่วๆ ไป

ทั้งคู่เป็นสมาชิกเว็บบอร์ดคนรักปืน และครอบครองปืนใน “โครงการสวัสดิการข้าราชการของรัฐ” ด้วยสถานะอาสาสมัครทหารพราน

ยิ่งกว่านั้น หลังก่อเหตุทำร้ายวรเจตน์และเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในอีกหนึ่งวันต่อมา

คู่แฝดก็เดินทางไปพักผ่อนที่ “ฮาวาย” กับครอบครัว และมีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 11 มีนาคม

ส่งผลให้คำอธิบายว่าการก่อเหตุชกนักวิชาการนิติราษฎร์เป็นเรื่อง “ความคลั่งส่วนบุคคล” ถูกถ่วงดุลด้วยเรื่อง “การถูกว่าจ้าง-สั่งการมา” มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ไม่ว่าจะเป็นความคลั่งหรือถูกสั่งการมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนแสดงให้เห็นถึงอาการ “ป่วยไข้เรื้อรัง” ของสังคมไทย

ซึ่งเพื่อนนักวิชาการหลายคนของวรเจตน์สามารถสะท้อนออกมาได้อย่างคมชัด

“สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามว่า ย้อนหลังไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม มีคนของรัฐบาลและสื่อบางฉบับ โจมตีนิติราษฎร์รายวัน

“คนเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบทางคุณธรรมอะไรหรือไม่ ที่ช่วยกันสร้าง “กระแส” และ “บรรยากาศ” ของความไม่มีเหตุผล ความ “คลั่ง”?”

ถือเป็นการวางแบ๊กกราวด์ “ปูทาง” มาสู่เหตุต่อยวรเจตน์

สมศักดิ์ยังให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากในโลกออนไลน์ ซึ่งเขาประเมินว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและมีการศึกษา แสดงความ “สะใจ” หรือเชียร์ว่า “น้อยไป” ต่อการทำร้ายวรเจตน์

โดยวิพากษ์ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงอาการ “ป่วย” มากๆ ของประเทศนี้ ที่คนมีการศึกษา ผ่านการอบรมบ่มเพาะเรื่องความรู้สมัยใหม่ และชอบยกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมาเป็นข้ออ้าง สามารถมีความ “ป่าเถื่อนทางจิตใจ” เช่นนี้ได้

“เกษียร เตชะพีระ” แห่งรัฐศาสตร์ มธ. ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อน “หมัดเถื่อน” นั้นจะชกออกมา “สื่อมวลชน” และ “นักวิชาการ” จำนวนหนึ่ง ได้สร้างคำโกหกเรื่อง “ล้มเจ้า”

เพื่อปูทางหรือเชียร์ให้คนบ้าเลือดพร้อมจะลงมือทำร้ายวรเจตน์และคณะ

เกษียรไม่ได้คาดหวังว่า “สื่อ-นักวิชาการ” เหล่านั้น จะออกมายอมรับผิด และเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อวรเจตน์และพวก ทว่ากลับทำนายอนาคตไว้ว่า

“พวกคุณต้องรับผิดชอบที่หว่านเพาะเชื้ออวิชชา มุสาวาทา และความเกลียดชัง เพิ่มพูนขึ้นแก่สังคมไทย ลูกหลานครอบครัวของพวกคุณจะอยู่ในสังคมเดียวกันนี้ที่คุณหว่านเพาะอวิชชา มุสาวาทา และความเกลียดชัง จนกลายเป็นความรุนแรงไปแล้ว

“ผมหวังว่ากรรมจะตามสนองพวกคุณทุกๆ คน ทุกๆ ถ้อย ทุกๆ คำ”

แต่ยังมีนักวิชาการบางคนที่แสดงความเห็นผิดแผกไปต่อกรณีนี้ เช่น “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเห็นว่า กรณีวรเจตน์ถูกทำร้ายร่างกาย เกิดจากความขัดแย้งของสังคม อันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น

ดังนั้น การที่นักวิชาการจะเสนอความเห็นต่างๆ จึงต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้

ส่งผลให้ “พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ในสมัยนั้น) ออกมาโต้แย้งว่า การที่สมบัติบอกให้นักวิชาการระมัดระวังในการแสดงความเห็น แทนที่จะประณามผู้กระทำความผิด แสดงว่า อธิการบดีนิด้ามิได้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ

เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ไม่ใช่การด่าทออย่างไร้เหตุผล อันนำไปสู่การรบพุ่งกัน แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในภาพเลวร้ายของอาการป่วยไข้ที่รุมเร้าสังคมไทย ยังปรากฏภาพดีๆ อยู่ข้างหลัง “หมัด” ของฝาแฝดสุพจน์-สุพัฒน์

คือ ภาพ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” เข็นรถพยาบาลให้ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นั่ง ขณะไปตรวจรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาล ซึ่งถูกแบ่งปันกันอย่างแพร่หลายในเฟซบุ๊ก

ผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า แอ๊กชั่นสะดุดตาในภาพถ่ายดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเล่นๆ เมื่อเพื่อนๆ ของคณะนิติราษฎร์ ออกไอเดียให้วรเจตน์ที่มิได้เจ็บหนักถึงขนาดเดินเหินไม่สะดวก ลงไปนั่งบนรถเข็น

แล้วเชิญชวนให้สมศักดิ์ที่เดินทางไปเยี่ยมวรเจตน์ มารับบทคนเข็นรถ ก่อนจะกดชัตเตอร์บันทึกภาพแห่งความทรงจำนั้นไว้

น่าสนใจว่า วรเจตน์ คือผู้เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ขณะที่สมศักดิ์ กลับมีข้อเสนอที่ไปไกลกว่านั้น คือ ให้ยกเลิก ม.112 พร้อมวิจารณ์ว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ถือเป็นการฉุดรั้งความก้าวหน้าของมวลชนบางส่วน

น่าสนใจว่า หลังจากถูกทำร้ายร่างกาย วรเจตน์, คณะนิติราษฎร์ และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ยังคงเลือกจะ “สู้” ด้วยการเดินหน้ารณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

แต่สมศักดิ์กลับเสนอให้ยุติการรณรงค์ล่ารายชื่อแก้กฎหมาย เพื่อถนอมกำลัง ป้องกันความสูญเสีย ไว้สำหรับการต่อสู้เรื่องความคิดและอุดมการณ์ในระยะยาว

ภาพประทับใจระหว่างวรเจตน์กับสมศักดิ์ ข้างหลัง “หมัดเถื่อน” ของสองฝาแฝด จึงบ่งบอกว่า

แม้คนเราจะคิดต่างกัน ก็สามารถอยู่ร่วมอย่างมีมิตรจิตมิตรใจต่อกันฉันเพื่อนมนุษย์ได้

โดยไม่ต้องลงมือทำร้ายกันด้วยความโหดเหี้ยมเกลียดชังเสมอไป