เผยแพร่ |
---|
ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดในการดำเนินชีวิต รวมถึงการดำเนินธุรกิจ ทำให้มีผู้ประกอบการทั้งปัจจุบันและหน้าใหม่ หันมาสนใจปรับแนวทางดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกำลังมีธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นและสร้างผลงานเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงเป็นตัวอย่างของการสร้างการเจริญเติบโตพร้อมกับความยั่งยืนที่ดีกว่า
ดร.รูธ เอ.ชาปิโร่ นักวิชาการชาวอเมริกันและผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์การกุศลและสังคมแห่งเอเชีย (Centre for Asian Philanthropy and Society-CAPS) ได้ร่วมการบรรยายในชื่อ Building Back Greener : Trends in Asia จะพาไปสำรวจ 3 แนวโน้มที่เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อหลายธุรกิจกำลังหันมาดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมตอบแทนสังคมและชุมชนว่า จากการสำรวจธุรกิจใน 60 ประเทศทั่วเอเชีย ภารกิจคือการส่งเสริมให้การใช้ทรัพยากรที่ดีขึ้น ทั้งลดความสิ้นเปลือง ยั่งยืนกว่าเดิม โดยจะดูในส่วนทั้ง 3 เสาหลักคือ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม ที่ร่วมทำงานเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า
เรารู้ว่า โลกเผชิญหลายความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะ โควิด-19 เรารู้ว่า ทั้ง 3 ฝ่ายต้องทำงานร่วมกันและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่เราจะทำยังไงล่ะ อย่างที่เราเห็นต่อจากนี้คือ 3 แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเอเชียคือ 1) จุดร่วมกิจกรรมอยู่กับบริษัทเอกชน โดยหลายกิจกรรมนั้นบริษัทและภาคเอกชนทำหน้าที่แทน ซึ่งจะอธิบายว่าพวกเขาทำอย่างไร 2) หุ้นส่วนสาธารณะ-เอกชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีกำลังผงาดขึ้น และ 3) การถือกำเนิดองค์กรทางสังคมเชิงสิ่งแวดล้อม
ดร.ชาปิโร่ กล่าวว่า ในเอเชียนั้น แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะโลกร้อน ความยั่งยืน และสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับกิจกรรมที่ทำโดยบริษัทเอกชน ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเอกชน ก็เพราะพวกเขาต้องการทำอะไรที่ดีกว่า
ดังนั้น หลายรัฐบาลทั่วเอเชียจึงได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข้อกำหนดเบื้องต้นให้กับบริษัทเอกชน หลายประเทศต่างมีข้อกำหนดในแต่ละอุตสาหกรรมเฉพาะ อาจทำเป็นการดำเนินตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบ เช่นการมีข้อกำหนดการปฏิบัติในการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และในภูมิภาค ได้มีตลาดหลักทรัพย์ถึง 8 แห่งของเอเชีย รวมถึงอีก 2 ประเทศอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ ร่วมมีข้อปฏิบัติการทำรายงานการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG)
และในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้หลายบริษัทต้องทำในสิ่งที่ดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดหลักทรัพย์ นั่นทำให้จึงเห็นมีหลายบริษัททำกิจกรรมในลักษณะที่เป็น CSR หรือการตอบแทนสังคม ยกตัวอย่างกรณี ไทยเบฟ ที่เราเห็นจะมีการแจกผ้าห่มให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อสู้กับภัยหนาว แต่ความน่าสนใจของผ้าห่มที่ไทยเบฟมอบให้นั้น เมื่อ 3 ปีก่อนได้มีการแจกผ้าห่มที่ทำมาจากขวดพลาสติกที่นำมารีไซเคิล แค่ในปี 2021 ไทยเบฟ รีไซเคิลขวดพลาสติกกว่า 7.5 ล้านชิ้น เพื่อผลิตเป็นผ้าห่ม นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำ CSR และเอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงที่ส่งเสริมกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
อีกทั้งมีหลายบริษัทที่ตั้งเป้าให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกุญแจสำคัญของกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย ไม่ใช่ผลิตอะไรที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดี แต่ต้องยั่งยืนด้วย อะไรที่ให้กับคนอื่นได้ ทำอย่างไรให้เข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา อีกตัวอย่างคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทด้านเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ของไทย ได้ช่วยชาวนาในการปลูกกาแฟพร้อมกับสร้างรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน อย่างชุมชนตัวอย่างในบ้านสบขุ่น จ.น่าน ที่สามารถสร้างรายได้จากกาแฟคุณภาพดีพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซีพีไม่ใช่แค่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับเกษตรกร แต่ยังส่งเสริมเชิงเทคนิคในด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งซีพีเชี่ยวชาญด้านนี้
อย่างที่ทราบ ตอนนี้หลายบริษัทไม่ได้สนใจแค่ทำกำไรอีกแล้ว พวกเขาตอนนี้กำลังเชี่ยวชาญและใช้ทรัพยากรทำสิ่งที่น่าชื่นชม อย่างเช่น บริษัทจัดการกองทุนเอสเอ็มได้จัดทำโรงเรียนเพื่อความยั่งยืนให้กับพนักงานในฟิลิปปินส์ เหมือนโรงเรียนสีเขียว พวกเขาทำเพียงส่วนนี้ เพียงเข้าใจบทบาทและโอกาสว่าสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้
ดร.ชาปิโร่ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงเท่านี้ หลายบริษัทเริ่มดำเนินกลยุทธ์ในแบบที่ชนะทุกฝ่าย ด้วยการทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อบริษัท ไม่เพียงทำกำไรแต่การกระทำยังส่งผลทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำที่ดีเช่นเดียวกับการเอื้อต่อชุมชน อย่างบางบริษัท เอาวัสดุที่เหลือจากเขตก่อสร้างมาารีไซเคิลเป็นวัสดุเพื่อการก่อสร้างแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน จนทำให้มีวัสดุเหลือใช้หลายพันกิโลกรัมถูกนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายหมื่นชิ้น และยังคงดำเนินต่อไป
อีกตัวอย่างโครงการคือบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งของจีน พวกเขาตระหนักได้ว่าสามารถใช้พื้นที่ที่เหลือทำประโยชน์อื่นได้ อย่างในทุ่งโซลาร์เซลล์ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียทางภาคเหนือของจีน บริษัทนี้สร้างทุ่งแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 2 ล้านแผง พร้อมกับทำเกษตรกรรมในการปลูกโกจิเบอรี่พร้อมกันด้วย นี่เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจที่ชนะไปด้วยกัน
อีกแนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ การเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐและเอกชนเพื่อสิ่งที่ดีกำลังเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่า มีผู้นำทางธุรกิจในเอเชียถึง 80% เชื่อว่าหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อสิ่งที่ดีในสังคมนั้นจะมีความหมายมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างที่พูดไปตอนต้น ไม่มีบริษัทหรือรัฐบาลใดสามารถดำเนินการท่ามกลางความซับซ้อนได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเขาจึงต้องหันมาเป็นหุ้นส่วนทำงานร่วมกัน และยอมรับว่าหลายบริษัทสร้างคุณูปการในการส่งมอบสิ่งที่ดีให้กับสังคม ซึ่งมีการดำเนินการโดยรัฐบาลหรือเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในเอเชียนั้น มีลักษณะที่บริษัทเอกชนอยากร่วมทำงานกับรัฐบาลหรือชุมชนมากกว่า
ดร.ชาปิโร่ ได้ถามว่าทำไม 3 เสาหลักนี้ ถึงต้องสัมพันธ์กัน เอกชนต้องการสร้างทุนทางสังคมร่วมกับรัฐบาล เมื่อรัฐให้การสนับสนุนก็ทำให้เอกชนสามารถขยายบทบาทตัวเอง รัฐบาลก็เข้าใจว่าตัวเป็นยังไง และทุนสังคมก็ได้ให้กับชุมชน เอกชนไม่สามารถทำอะไรได้หากชุมชนไม่เอาด้วย แน่นอนว่า บริษัทเอกชนต้องผลิตสินค้าที่ดีและเป็นประโยชน์ต่่อลูกค้าโดยพื้นฐาน และท้ายสุดชุมชนเป็นผู้ชนะที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐและเอกชน
ส่วนแนวโน้มสุดท้ายอย่าง การเกิดขึ้นขององค์กรทางสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจพบว่า มีผู้บริจาคราว 80% สนใจมากขึ้นในองค์กรหรือผู้ประกอบทางสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นบทบาทด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น บริษัทของเกาหลีใต้ทำแอพลิเคชั่นเกมส์ปลูกต้นไม้ท่ี่สามารถระดมทุนให้เกิดการปลูกต้นไม้ขึ้นจริง หรือบริษัทหนึ่งในอินโดนีเซียที่นำวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างมาทำเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าใหม่ หรือที่ฮ่องกง ที่มีบริษัทให้บริการทำเกษตรบนหลังคายอดตึกระฟ้า
อย่างไรก็ตาม ดร.ชาปิโร กล่าวว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนและเอกชนกำลังลงมือทำแต่ว่าพวกเขาต้องการอะไรมากกว่านี้ อย่่างข้อมูลและการสร้างทักษะใหม่ซึ่งสำคัญมากและการร่วมกัน 3 เสาหลักจะต้องเป็นไปต่อเนื่อง โดยเรื่องความต้องการข้อมูลและทักษะ จากการสำรวจหลายบริษัทในไทยพบว่า 35% ยังขาดทักษะภายในต่อการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน 61% เห็นว่าต้นทุนเป็นกำแพงกั้นสำคัญในการสร้างความยั่งยืน 48% ยังไม่มีการทุ่มเททีมงานด้านความยั่งยืน และ 51% จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้ลดความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้เป็นความกังวลทั้งโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เดียว โควิดทำให้การใส่ใจสิ่งแวดล้อมถดถอย
ทั้งนี้ ดร.ชาปิโร่ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้คือ ธรรมาภิบาและบริหารองค์กรที่นำไปใช้, วิสัยทัศน์ที่ง่ายและชัดเจน, ปัจเจกบุคคลที่มุ่งมั่นและปรารถนาแรงกล้า เราต้องผู้นำ คนเก่งเลิศมาทลายช่องว่างนี้ และการส่งสัญญาณสนับสนุนจากรัฐบาลที่ชัดเจนและต่อเนื่อง