90 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 ประชาธิปไตยไทยมาได้ไกลแค่นี้ ?

ถอดบทเรียน 90 ปี ปฏิวัติสยาม 2475

เป็นเวลาล่วงเลยมาแล้วหลายทศวรรษ หลังจากที่มีการปฏิวัติประเทศไทยโดย “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็นแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

เนื่องในวันที่ 24 มิถุนายนนี้จะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ทางมติชนสุดสัปดาห์ จึงถือโอกาสในการฉลอง 90 ปี “ปฏิวัติสยาม 2475” จัดทำบทความพิเศษ “ถอดบทเรียน 90 ปี การปฏิวัติ 2475” จาก 4 บุคคล ที่เกี่ยวข้องในวงการเมืองไทย ได้แก่ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คุณชานันท์ ยอดหงษ์ คุณมายด์ ภัสราวลี และคุณธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ ในหัวข้อที่ว่า

“ปฏิวัติสยาม2475 มาบรรจบกันเป็นปีที่ 90 มองว่าประเทศไทยถอดบทเรียนอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น”

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรสิริ
ในมุมมองของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรสิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และในฐานะของนักประวัติศาสตร์ไทย ได้ให้ความคิดเห็นว่า สิ่งที่คนไทยได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ในการปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎรนั้นถือว่า “น้อยมาก” ระยะเวลาที่อาจจะมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างชัดเจน ก็มีให้เห็นหลังจากนั้นไม่นานเท่าไร ผู้คนตระหนักและระลึกถึงการกระทำครั้งนั้นเพียงไม่กี่ปี พอเข้าสู่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้นมา ความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์ 2475 ก็เปลี่ยนแปลงไป การกระทำอันทรงเกียรติของคณะราษฎร “ถูกมองในแง่ลบ มากกว่าแง่บวก” เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ทำให้คนในรุ่น baby bloomer ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของคณะราษฎร

อ.ชาญวิทย์ได้เล่าว่า สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับเขานั่นก็คือ ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ กลับพยายามมองย้อนไปในอดีตว่า คณะราษฎรสมัยนั้นได้พยายามทำการปฏิรูปไปทำไม เพื่ออะไร โดยเขาได้กล่าวว่า “อันนี้เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผมมากทีเดียว ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ และศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 มาเป็นเวลานาน และนั่นเป็นข้อแตกต่างจากคนรุ่นผม และคนรุ่น baby bloomer ผมรู้สึกทั้งประหลาดใจและดีใจไปในเวลาเดียวกัน”

โดยเขาได้ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า นั่นอาจจะแสดงให้เห็นถึงการที่คนรุ่นใหม่พยายามที่จะใช้ประวัติศาสตร์ มาเป็นบทเรียนของปัจจุบันเพื่อที่จะเรียนรู้และเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดีมากยิ่งขึ้น

ชานันท์ ยอดหงษ์
ทางด้านนักเขียนและนักประวัติศาสตร์อย่างคุณชานันท์ ยอดหงษ์ ได้กล่าวว่าในมุมมองของตนนั้น คิดว่าสิ่งที่คนไทยได้เรียนรู้จากการปฏิวัติสยาม 2475 คือการได้เรียนรู้ทั้งความผิดพลาดต่างๆ รวมทั้งความก้าวหน้าของคณะราษฎรเองด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นผลมาจากเงื่อนไขและบริบทในช่วงเวลานั้นๆ ว่าทำไมพวกเขาเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร

คุณชานันท์กล่าวว่า “ประชาชนเกิดการเรียนรู้อะไรจากมันเยอะมากขึ้น ทั้งเพดานความคิด การต่อสู้ การเคลื่อนไหว ข้อเรียกร้องมันเข้มข้น แล้วก็ชาญฉลาดมากขึ้นถ้าเทียบกับ ณ ตอนนั้น” โดยช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่ระบอบการปกครองแบบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เริ่มเสื่อมถอยลงในระดับหนึ่งแล้วด้วย จึงนำไปสู่เรื่องของการอภิวัตย์สยาม เมื่อ พ.ศ.2475 โดยถ้าเทียบในปัจจุบัน ก็มีตัวอย่างให้เห็นถึงการเสื่อมโทรมและถดถอยลงของระบบทางการเมืองบางอย่าง จึงเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบันนั่นเอง

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
ในมุมของคนรุ่นใหม่อย่างน้องมายด์ ภัสราวลี แกนนำกลุ่มคณะราษฎร และ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ได้ออกมาพูดและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ 90 ปี ปฏิวัติสยามว่า กว่าจะผ่านมาถึง 90 ปี และเกิดประชาธิปไตยได้อย่างทุกวันนี้ แน่นอนว่าคนไทยผ่านอะไรมาเยอะมาก มีทั้งล้มลุกคลุกคลาน รวมถึงช่วงขึ้นช่วงลงของอำนาจประชิปไตย

โดยตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน มันเป็นเหมือนกับการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายประชาชนและฝ่ายอำนาจเดิม โดยปัจจุบันจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน จากการออกและการบังคับใช้ฎหมายต่างๆ ว่าควรจะรู้สึกต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้แบบไหน หรืออย่างไร

ตัวน้องมายด์เองมองว่า การที่จะพัฒนาประชาธิปไตยในไทยนั้น สามารถไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพราะในตอนนี้เรายังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าประชาธิปไตยที่ประเทศไทยได้รับนั้นเป็นแบบ “เต็มใบ” หรือเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ในปัจจุบันยังคงมีความเป็นเผด็จการอยู่ในหลายส่วน และมีความพยายามจะคงรูปแบบอำนาจเก่าเอาไว้ของผู้มีอิทธิพลต่างๆ

โดยสิ่งที่ตัวเองมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นแบบเต็มใบได้ยากนั้น คือการทำ “รัฐประหาร” เพราะถ้ามีรัฐประหารเมื่อไหร่การเติบโตของประชาธิปไตยก็มักจะหยุดชะงักลงเมื่อนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หลายๆคนที่มีอำนาจกำลังพยายามทำให้ประชาชนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ปลูกฝังว่าถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบเมื่อไหร่ ก็จำเป็นจะต้องมีการรัฐประหารเมื่อนั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั่น นี่ถือเป็นสิ่งที่ผิดมากๆ

และถ้าจะบอกว่าสิ่งที่เราเรียนรู้และควรจะถอดบทเรียนออกมาคืออะไร น้องมายด์บอกว่า “90 ปี บทเรียนที่ต้องถอดก็คือส่วนหนึ่ง เราอาจจะต้องมองว่าถ้าหากจะต้องตัดสินใจในช่วงจังหวะใด อาจจะต้องมองและมีการวางแผนระยะยาวมากขึ้น และถ้าหากเราจะคงความเป็นอธิปไตยให้ได้ในอนาคต อย่างน้อยๆประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในอำนาจทุกๆด้าน และไม่เกิดช่องว่างใดๆที่ทำให้ประชาชนคัดค้านไม่ได้”

โดยตนเองเข้าใจได้ว่าประเทศไทย มีการปกครองเป็นประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อำนาจส่วนใหญ่ในการกำหนดกฎหมายควรจะต้องอยู่ที่ประชาชนและเอาประชาชนเป็นหลักในการกำหนดสิ่งต่างๆ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ในด้านของคุณธนาธร ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันประธานคณะก้าวหน้ากล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยเราได้เรียนรู้จากการปฏิวัติ 2475 ครบ 90 ปีว่า “ครั้งใดที่ประชาธิปไตยออกดอกออกผล เริ่มจะงดงาม คุณก็จะเห็นว่า มีคนเริ่มตัดตอนมันไปทุกครั้ง ทำให้มันไม่สามารถเติบโตเบ่งบาน ยั่งยืน และปักหลักฐานที่มั่นคงลงสู่สังคมไทยได้”

เขาบอกว่า ถ้าพูดถึงประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้จ่ายเงินภาษีให้กับประเทศ ดังนั้นเวลาที่จะนำเงินที่ว่านี้ไปตัดสินใจทำอะไร ควรจะเป็นการทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมา เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันคือ จะต้องมีฝ่ายที่เป็นผู้เสียประโยชน์อย่างแน่นอน และกลุ่มคนที่เสียประโยชน์เหล่านี้นั่นเอง ที่เป็นแรงต่อต้านคอยขัดขวาง ทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้

เขายังกล่าวอีกว่า “ถ้ามองเป็นกราฟ ตอนนี้น่าจะเป็นจุดต่ำสุด แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป เชื่อว่ามันกำลังจะโงหัวขึ้น กราฟประชาธิปไตยกำลังจะพุ่งขึ้นแรง ถ้าเป็นหุ้นก็ต้องรีบซื้อตอนนี้เลย”

จากความคิดเห็นและแง่มุมของทั้ง 4 คน ที่มีต่อเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 นั้น สามารถสรุปได้ว่า ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ได้มีการเรียนรู้และตระหนักถึงการกระทำอันทรงเกียรติของคณะราษฎรในครั้งนั้นมากยิ่งขึ้น และพร้อมจะใช้บทเรียนจากอดีตมาเป็นตัวอย่างในการเรียกร้องเพื่อได้มาซึ่งประชาธิปไตย
และถึงแม้ในวันนี้เวลาจะผ่านมาแล้ว 90 ปี นับจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ประเทศไทยของเรา ก็ยังต้องต่อสู้กันต่อไป เพื่อที่จะทำให้ประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง