นฤมิตไพรด์ : หลากกลุ่มร่วมฉลอง Pride Month รวมพลังปลุกศักดิ์ศรี-ทวงสิทธิให้ LGBTQ

กทม.จัดใหญ่ “นฤมิตไพรด์” ฉลอง Pride Month “ชัชชาติ” ร่วมยินดีเทศกาลคืนชีวิต ชาว LGBTQ หลากพรรคการเมือง เดินขบวนสร้างสีสันพร้อมกระตุ้นส่งเสริมสิทธิ “สมรสเท่าเทียม-สุขอนามัย-Sex worker ถูกกฎหมาย”

 

วันที่ 5 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 15.00 น. บริเวณวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก สีลม คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์และแนวร่วมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายกลุ่มร่วมจัดงาน “นฤมิตไพรด์” เพื่อร่วมฉลองเทศกาลไพรด์พร้อมกับทั่วโลกเพื่อตระหนักถึงสิทธิที่ควรได้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ถือเป็นการจัดงานครั้งใหญ่หลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ที่เปิดรับฟื้นคืนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับเป็น 1 ในนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งชนะการเลือกตั้งจากชาวเมืองหลวงที่ลงคะแนนเสียงแบบถล่มทลาย

สำหรับขบวนนฤมิตไพรด์ ถูกแบ่งเป็น 6 ชุดตามสีของธงรุ้งเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จัดแสดงออกของสิทธิให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในแต่ละด้านออกไป ดังนี้ 1. ขบวนสีแดง “กฎหมายทุกช่วงชีวิตของ LGBT+” กิจกรรมสีดาลุยไฟ 2. ขบวนสีส้ม “รัฐสวัสดิการเพื่อ LGBT+ 3. ขบวนสีเหลือง “เติบโตอย่างมีความหวัง” 4. ขบวนสีเขียว “สัจธรรม” rap ความหลากหลายทางเพศ 5. ขบวนสีน้ำเงิน “สันติภาพโลก” กิจกรรมต่อตัวเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ และ 6. ขบวนสีม่วง “จิตวิญญาณสีรุ้ง” กิจกรรมแต่งงานของคู่รักเลสเบี้ยนจากภาคประชาชน และภาคเอกชน

โดยขบวนจะเริ่มเดินจากหน้าวัดแขกและสิ้นสุดถึงหน้าซอยธนิยะ หรือสีลมซอย 2 บริเวณแยกสีลมซึ่งเป็นย่านเริงรมย์ชื่อดัง ที่กำลังซบเซาด้วยหลายธุรกิจต้องปิดตัวลงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่กินเวลานานถึง 2 ปี จึงไม่เพียงเป็นการแสดงออกถึงการตระหนักและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังเป็นโอกาสฟื้นฟูพลังทางเศรษฐกิจให้กับย่านท่องเที่ยวชื่อดังแห่งนี้อีกครั้ง

ในการเดินขบวนไพรด์พาเหรดนับเป็นการเดินขบวนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 3,000 คนที่มีทั้งผู้ร่วมเดินขบวนและผู้ชมพาเหรดตลอดแนวเดินที่ยืนชมกันอย่างหนาแน่น มีบุคคลในแวดวงทั้งนักเคลื่อนไหว องค์กรสิทธิมนุษยชน ศิลปินและคนดังมากมายที่ร่วมแสดงออกในขบวนพาเหรด เช่น ณวัฒน์ อิสรไกรศีล เจ้าของงานมิสแกรนด์ที่ได้พาผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ รวมถึงมิสแกรนด์คนล่าสุดอย่าง อิงฟ้า วราหะ มาร่วมพาเหรด หรือศิลปินอย่าง ภัทรดนัย เสตสุวรรณ” หรือ “เขื่อน เคโอติก” เป็นต้น

หลากพรรคการเมืองร่วมสร้างสีสัน

ในขบวนพาเหรดไพรด์ของกลุ่มผู้มีความหลาก ยังมีพรรคการเมืองที่เรียกว่ามีจุดยืนสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย รวมถึงพรรคกล้า ที่กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคมาร่วมชมพาเหรดด้วยตัวเอง

มาที่พรรคไทยสร้างไทย น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย นาดา ไชยจิตต์ คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ และทีมไทยสร้างไทย ได้เข้าร่วมกิจกรรม บางกอกนฤมิต ไพร์ด พาเหรด ” Pride Month ” เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่ไม่เคยมีการจัดขบวนพาเหรดไพรด์ขึ้นในกรุงเทพ

พรรคไทยสร้างไทยในฐานะพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายส่งเสริม คุ้มครอง รับรองสิทธิประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศชัดเจน ทีมไทยสร้างไทยจึงเข้าร่วมเป็น ประจักษ์พยานเพื่อส่งสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง พร้อมจัดเต็มเรื่องการแต่งกาย การแสดงออกด้วยป้ายข้อความเชิงสัญลักษณ์ เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว โดยมีภาคีองค์กร นักกิจกรรม ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ นำโดยภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก

นาดา ระบุว่า พรรคไทยสร้างไทย ยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเดินหน้าผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองรับรองสิทธิความหลากหลายทางเพศให้เท่าเทียม ซึ่งต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้ประกาศว่าพรรคได้ยกร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับคำนำหน้านามและสิทธิด้านสวัสดิการต่างๆ ซึ่งวันนี้ทีมไทยสร้างไทย ได้นำเสนอนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศในขบวนพาเหรด โดยสะท้อนผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์การแต่งกายและข้อความต่างๆด้วย

ด้าน น.ต.ศิธา ระบุว่า พรรคไทยสร้างไทย ตั้งใจจริง ที่จะร่วมกันสร้างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ กฎหมายปลดแอกและคืนศักดิ์ศรีให้พนักงานบริการ และผลักดันนโยบายเคารพอัตลักษณ์ทางเพศ การศึกษาที่โอบรับและคุ้มครองนักเรียน การทำแท้งปลอดภัย ฯลฯ เพื่อทำให้เดือนไพร์ด ไม่ใช่แค่เดือนแห่งความภาคภูมิใจของ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เดือนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเท่าเทียม เสมอภาคของบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง

และขอให้คำมั่นอย่างหนักแน่นว่า พรรคไทยสร้างไทยจะสนับสนุนและคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกๆ มิติ โดยประกาศให้เป็นพันธกิจหลักที่พรรคไทยสร้างไทยจะร่วมผลักดันจนสุดความสามารถ จนกว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมและเสมอภาค

ส่วนพรรคฝ่ายค้านเบอร์ใหญ่อย่างเพื่อไทยนั้น นำโดย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่และรองหัวหน้าพรรค ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค ธีราภา ไพโรหกุล กรรมการบริหารพรรค ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรค ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงราย วิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อไทยและทีมคนรุ่นใหม่ เข้าร่วมเดินแสดงพลังความเท่าเทียมทางเพศ ในกิจกรรม BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารสาธารณะถึงการยอมรับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกลุ่มอัตลักษณ์ที่หลากหลาย สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อกลุ่ม LGBTQ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต การถูกเลือกปฏิบัติโดยกฎหมายและรัฐ

ชานันท์ ยอดหงษ์ เปิดเผยว่า ทีมพรรคเพื่อไทย ร่วมกิจกรรมขบวนพาเหรดในโซนสีเหลือง ที่มีความหมายถึงการเติบโตอย่างมีความหวัง เพื่อแสดงความจริงใจถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต สิทธิและเสรีภาพทางเพศ อันเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย สนใจรับฟังเสียงของกลุ่ม LGBTQ พร้อมจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ประชาชนร่วมกันจัด และยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดกับทุกอัตลักษณ์ความหลากหลาย
.
โดยตลอดระยะทางของขบวนไพรด์ ได้สื่อสารเสนอข้อเรียกร้อง เพื่อ LGBTQ และกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิ
.
– การสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นการการเสยอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 – 6 โดยเฉพาะมาตรา 1448 ซึ่งหัวใจหลักคือ ให้บุคคลสองคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้ โดยไม่กำหนดเฉพาะ ‘ชายกับหญิง’ เท่านั้น เพื่อให้คู่รักทั้งเพศเดียวกันและรักต่างเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ทุกอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
.
– การไม่เห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะนั่นคือการเลือกปฏิบัติ ไม่ยอมรับว่าคนรักเพศเดียวกันจะได้รับการยอมรับทางกฎหมายเทียบเท่าคนรักต่างเพศ และไม่ว่าคู่สัมพันธ์เพศวิถีใดก็สามารถเป็นคู่งชีวิตกันได้
.
– การแก้กฎหมายคำนำหน้านาม โดยไม่ต้องยึดติดกับเพศกำเนิด ให้แต่ละเพศสภาพสามารถเลือกใช้คำนำหน้านามตามความต้องการ
.
– การแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ มีวันลาปวดประจำเดือน ลาเพื่อข้ามเพศได้ โดยได้รับค่าจ้าง นายจ้างกับประกันสังคมจ่ายร่วมกัน
.
– กระบวนการข้ามเพศ อยู่ใน สปสช.
.
– สวัสดิการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ซึ่งเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินศึกษาพร้อมทำโครงการทดลอง เผยแพร่ในรูปแบบนิทรรศกี เมือเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
.
– เสรีทรงผมเครื่องแต่งกายและในสถานศึกษา สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในสถานศึกษาที่เป็นมิตรกับทุกเพศสภาพที่หลากหลาย แก้ไขหลักสูตรการศึกษาให้เป็น non-binary สร้างความรู้ความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ
.
– ต่อต้านความรุนแรงต่อ LGBTQ non-binary ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ขจัดการเลือกปฏิบัติในการสมัครงาน
.
– Sex work is work , sex creator is worker ต้อง decriminalized
.
– เรือนจำที่ non-binary และปลอดภัยกับทุกเพศ
.
– การยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
.
– สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ คนไร้สัญชาติ , คนไร้รัฐได้รับการคุ้มครอง และยุติความรุนแรง
.
– สันติภาพโลก พม่า ยูเครน ปาเลสไตน์ make love not war

“ข้อเรียกร้องของประชาชนทุกข้อพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญรับฟังและพร้อมที่จะศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นนโยบาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม” ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย กล่าวย้ำ

“ชัชชาติ” ร่วมพาเหรด เสียงโห่ร้องเชียร์ดังไม่ขาดสาย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด ซึ่งก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำทีมงานของสำนักงานอนามัยมาร่วมสังเกตการณ์เพื่อเฝ้าระวังมาตรการป้องกันโควิด-19 ในขบวนพาเหรด

ชัชชาติ กล่าวว่า เราไม่รู้ว่าใครมีความหลากหลายอย่างไร แต่ก็คือคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย นี่คือความสวยงามของความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก ก็รักกันได้ เข้าใจ ใส่ใจกันทุก ๆ เรื่อง ยอมรับให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

ชัชชาติกล่าวอีกว่า ในวันนี้มาในฐานะประชาชนชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ที่มางาน Pride Month ถือว่าในงานมีขบวนพาเหรดที่สนุกสนานอบอุ่น เราจะเห็นถึงเรื่องราวที่มีความหลากหลาย เข้าใจ ใส่ใจ เป็นสิ่งที่ดียอมรับ ไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเดียว แต่จะเป็นเรื่องการเมืองด้วย ซึ่งต้องมีความเข้าใจ แตกต่างได้ หลากหลายได้ แต่ไม่แตกแยก ในส่วนของ พ.ร.บ.คู่สมรส เป็นเรื่องของสภาใหญ่ ไม่ใช่ของ กทม. เป็นสิ่งที่คู่สมรสควรจะได้

สำหรับในเดือนมิถุนายน เทศกาล Pride Month ถือเป็นใน 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ นโยบายด้าน LGBTQ+ ใน กทม. หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ โดยได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่าง ๆ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงาน กทม. ต้องให้ความสำคัญ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเนื้อหาของการจัดงานต้องมาจากประชาชนที่เข้าใจรายละเอียดของงานที่มีความหลากหลาย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย กทม.ไม่เข้าใจรายละเอียดของเนื้อหา ถ้าจะจัดเองก็เป็นการจ้างออแกไนซ์มาจัด ซึ่งจะไม่สวยงามมีความหลากหลายเช่นวันนี้ กทม. พร้อมสนับสนุนด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย เริ่มจากวันนี้ ในส่วนของกทม.ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน  ข้าราชการ ลูกจ้าง สามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้ ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยก