วันนี้ในอดีต : 26 กันยายน 2526 – ‘สตานิสลาฟ เปตรอฟ’ ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ หยุดสงครามนิวเคลียร์

สถานการณ์นิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่กำลังตึงเครียดอยู่ขณะนี้ และยิ่งเพิ่มความตึงเครียดไปอีกจากวิวาทะบนเวทีสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนถึงล่าสุดกับ นายรี ยอง โฮ รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือที่กล่าวว่า สหรัฐฯประกาศสงครามกับประเทศของเราแล้ว พร้อมประกาศตอบโต้ทุกทาง รวมถึงยิงสอยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯให้ร่วง

ความตึงเครียดในเวลานี้ อาจใหม่สำหรับใครหลายคน แต่โลกใบนี้ เคยผ่านช่วงเวลาตึงเครียดแบบนี้มาก่อน เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว ในหน้าประวัติศาสตร์ที่เคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่เรียกว่า “สงครามเย็น” ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯและสหภาพโซเวียต (หรือรัสเซียในปัจจุบัน) สองชาติมหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างแข่งขันสะสมอาวุธ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ จนเกิดความตึงเครียดทางนิวเคลียร์มาหลายครั้ง และก็เกือบจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นในช่วงนั้นแล้วด้วย แต่ก็ไม่เกิด เพราะการตัดสินใจของชายคนหนึ่งที่ช่วยโลกใบนี้ให้แคล้วคลาดจากมหันตภัยนิวเคลียร์ไปได้

ชื่อของเขาคือ “สตานิสลาฟ เปตรอฟ”

วันที่ 26 กันยายน ปี ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) หรือเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ในขณะนั้น พันโทเปตรอฟ ทำงานอยู่ในหน่วยป้องกันทางอากาศของโซเวียต ได้เข้าเวรทำงานอยู่ที่เซอร์ปุคอฟ-15 ฐานบังเกอร์ลับใต้ดินนอกกรุงมอสโคว์ เพื่อตรวจจับเตือนภัยผ่านระบบดาวเทียม แต่แล้ว ได้เกิดสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นสั้นๆในช่วงเที่ยงคืน เมื่อ 1 ในดาวเทียมของโซเวียตส่งสัญญาณมาว่า สหรัฐฯได้ยิงขีปนาวุธข้ามทวีป รหัส “มินิทแมน” 5 ลูก ทะยานมุ่งมายังรัสเซีย

ก่อเกิดเป็นความตึงเครียดถึงขีดสุดระหว่างสองประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ นาโต้ได้ยั่วยุโซเวียตด้วยการจัดซ้อมความพร้อมทางทหารและเกือบ 3 สัปดาห์หลังจากที่รัสเซียได้ยิงเครื่องบินของเกาหลีใต้ร่วง หลังพบว่าบินเดี่ยวอยู่บนน่านฟ้ารัสเซีย

นายเปตรอฟอาจได้รับการให้อภัยหากเชื่อว่าสัญญาณดาวเทียมนั้นแม่นยำ แผนที่ดาวเทียมที่ฉายภาพต่อนหน้านายเปตรอฟไม่ได้ลดความเครียดในตอนนั้นแม้แต่น้อย

แต่แล้วนายเปตรอฟรู้สึกถึงความผิดปกติ “ผมรู้สึกมวนท้องมาก” ว่านั้นเป็นสัญญาณเตือนผิดพลาด เพราะสิ่งเดียวที่รู้ มีรายงานที่ระบุว่าจับสัญญาณขีปนาวุธได้ถูกยิงเพียง 5 ลูก ซึ่งเขาคิดว่าสหรัฐฯต้องยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ใส่แน่

“ผมไม่ต้องการทำสิ่งที่ผิดพลาด ผมตัดสินใจ และก็เป็นเช่นนั้น” นายเปตรอฟกล่าวถึงความกังขาเพราะไม่เชื่อใจระบบเตือนภัยเบื้องต้นของโซเวียต จากนั้นได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเบื้องบนว่าระบบดาวเทียมขัดข้องทำให้ส่งสัญญาณเตือนผิดๆมาให้

นายเปตรอฟได้รับการชื่นชม แต่ก็ไม่นานก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและกลายเป็นแพะรับบาปจากความผิดพลาดของระบบนั้นไป

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้มีการสืบสวนหาสาเหตุจนพบว่า ดาวเทียมไปจับแสงของดวงอาทิตย์ที่สะท้อนอยู่ยอดเมฆในชั้นบรรยากาศ จนทำให้เข้าใจว่าเป็นขีปนาวุธถูกยิง

นายเปตรอฟให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ว่า “หากทุกคนจะเริ่มสงคราม มันจะต้องไม่เริ่มจากขีปนาวุธ 5 ลูกนี้”

ต่อมา นายเปตรอฟเกษียณอายุจากกองทัพในปี 1984 เพื่อมาทำงานเป็นวิศวกรอาวุโสให้กับสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งที่สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้านี้ แต่ก็ต้องเกษียณตัวเองอีกครั้งเพื่อไปดูภรรยาที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตลงในปี 1997

นายเปตรอฟใช้ชีวิตบั้นปลายกับลูกหลานอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งปี 1998 ได้มีการเปิดตัวหนังสือบันทึกของอดีตนายพลของโซเวียตที่ดูแลระบบป้องกันขีปนาวุธ นั้นทำให้วีรกรรมของนายเปตรอฟถูกหยิบยกขึ้นมา และทำให้นายเปตรอฟได้รับรางวัล 2 ครั้ง และเรื่องราวของนายเปตรอฟยังกลายเป็นต้นกำเนิดของหนังสารคดีในปี 2014 อย่างเรื่อง “The Man Who Saved the World.”

จนกระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2017 นายเปตรอฟ ได้จากไปอย่างสงบ ด้วยวัย 77 ปี ในย่านเฟรยาซิโน ชานกรุงมอสโคว์