ครั้งหนึ่ง มติชนสุดสัปดาห์เคยขึ้นปก Lisa แต่ว่ามีอีกปรากฎการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน!

“มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์” อยากพาทุกท่านไปย้อนทบทวนความทรงจำ บันทึกไทย บันทึกโลกไว้ เพราะปีก่อน เกิดเหตุการณ์2อย่าง อันเป็นกระแสแรงๆใกล้กัน
1.Blackpink ทุบสถิติโลก!!
2.การดันชื่อ “นฤมล” นำทีมเศรษฐกิจ หลังจากทีมสมคิดออกจาก ครม.-พปชร

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 – 9 กรกฎาคม 2563 บันทึกปรากฎการณ์How you like that?

เอาไว้น่าสนใจดังนี้!!

Blackpink ทุบสถิติโลก!!

คือ พาดหัวในสื่อโซเชียล เซ็กชั่นบันเทิง โดยทั่วถ้วนหน้า

เมื่อวงเกิร์ลกรุ๊ป เค-ป๊อประดับแถวหน้าของโลกอย่าง BLACKPINK

ปล่อยเพลงใหม่ How you like that (เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563) เวลาหกโมงเย็นของเกาหลีใต้ ผ่านทางยูทูบออกไปทั่วโลก

ปรากฏว่า BLACKPINK สามารถทำให้ยอดวิวเอ็มวี ทะยานแตะ 100 ล้านวิวในเวลาแค่ 32 ชั่วโมงเท่านั้น!

ทำลายสถิติเป็นมิวสิกวิดีโอที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในโลก (ในขณะนั้น)

อีกทั้งยังเป็นมิวสิกวิดีโอที่มียอดวิวสูงสุดใน 24 ชั่วโมงแรกบนยูทูบด้วย

สามารถกวาดผู้ชมไปได้ 82.4 ล้านวิว

จากสถิติที่เคยบันทึกไว้ในก่อนหน้านี้ วง BTS วงบอยแบนด์ เค-ป๊อปเช่นกัน มียอดวิว 74.6 ล้านวิวใน 24 ชั่วโมงแรกกับเพลง Boy With luv

แต่ตอนนี้ เพลง How you like that ทำลายสถิติไปแล้ว

ถือเป็นความสำเร็จของเค-ป๊อป

ที่ทำให้คนไทยพลอยปลื้มไปด้วย

ด้วยเพราะ 1 ใน 4 สาว คือ ลิซ่า หรือ ลลิษา มโนบาล จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ก้าวไปเป็นศิลปินเค-ป๊อปที่มีชื่อเสียง มียอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมส่วนตัวมากกว่า 30 ล้านคน( ณ ขณะนั้น) และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เธอมีบทบาทสำคัญ และน่าจะมีส่วนทำให้ How you like that? — “คุณชอบมั้ยล่ะ? — “คุณชอบแบบนั้นไปได้ยังไง?” ซึ่งในบริบทของเพลง อาจสื่อความรู้สึกว่า “เจอแบบนี้แล้วรู้สึกยังไงบ้างล่ะ” หรือทำนอง “คุณชอบแบบนั้นแค่ไหนล่ะ”

ติดปากคนไปทั่วโลก นับแต่นี้

และ How you like that? นี้เชื่อว่า คงเป็นวลีติดปากคนไทยเช่นกัน

รวมถึงอาจจะลามเข้าไปในปริมณฑลการเมืองไทยด้วย

เพราะในเวลาที่ใกล้เคียงกับการปล่อยเพลง How you like that? ออกสู่ตลาดนั้น

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยนายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่เอี่ยม (ในเวลานั้นหลังจากทีมของ นายสมคิด-สี่กุมารเก็บของออก)

ได้มีการข่าวปล่อยชื่อนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกมาว่า จะเป็นทีมเศรษฐกิจ

คำถามก็ดังกระหึ่มทันที

ในอารมณ์เดียวกับ How you like that?

เป็นเสียงก้องกลับมาแบบฉับพลัน

ส่วนใหญ่เป็นเสียงด้าน “ลบ” คือไม่ชอบ

และไม่ยอมรับ

แม้นายอนุชาจะมาอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นความต้องการของพรรคที่ต้องตั้งทีมขึ้นมา ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ซึ่งในแต่ละด้านจำเป็นต้องมีบุคคลจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ โดยในด้านเศรษฐกิจนั้นถือเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ จึงได้แต่งตั้งนางนฤมลเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคและนักวิชาการ

“ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาคุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล”

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เสียง “ขานรับ” อาจารย์แหม่ม หรือนฤมล ดีขึ้นแต่ประการใด

กลายเป็นตำบลกระสุนตก ตั้งแต่เปิดตัว!

กดดันให้นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ต้องออกมาสื่อสารกับสังคมด้วยตนเอง

โดยยืนยันว่า ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา อยู่ในทีมเศรษฐกิจอยู่แล้ว เลขาธิการพรรคเลยบอกว่า ให้รับผิดชอบต่อ เท่านั้นเอง

ไม่ได้เรียกว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการทำนโยบายเศรษฐกิจของพรรค โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผ่านพรรคไปยังนายกรัฐมนตรี และ ครม.

แม้จะมีเสียงปฏิเสธมากมาย แต่นางนฤมลย้ำว่า

“จากประสบการณ์จริงๆ ของเรา แต่เดิมเป็นอาจารย์ สอนด้านการเงิน และนอกจากสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ก็ยังมีงานวิชาการที่ทำจนเป็นศาสตราจารย์ นอกจากงานเหล่านี้แล้ว ได้เป็นที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์ฯ มากว่า 10 ปี และเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารหลายแห่งในส่วนของตลาดเงิน และช่วยในเรื่องของภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ในตำแหน่งกรรมการ ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้เข้ามาช่วยงานในกระทรวงการคลัง ใครถามว่าเราทำอะไรมาบ้าง ก็คงตอบได้ประมาณนี้ เราก็มีความรู้ในเรื่องของตลาดทุน ตลาดเงิน งานวิจัยด้านนโยบายที่เคยช่วยมา อย่างที่กระทรวงการคลังที่ทราบประวัติกันดี”

ซึ่งเมื่อไปดูโปรไฟล์และความเป็นมาของเธอ

ก็เป็นอย่างที่ระบุ

คือ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ประยุกต์)

และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) จากวิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า

และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของสถาบันการเงินหลายแห่ง

ก่อนต่อมาได้รับการชักชวนจากนายอุตตม สาวนายน หนึ่งในทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ศาสตราจารย์นฤมลได้เข้าสู่งานด้านการเมืองจากเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรค และได้รับการเลือกตั้ง

ต่อมาภายหลังลาออกจากตำแหน่งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุผลที่นางนฤมลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“เข้าใจว่าท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) อยากได้คนที่สามารถชี้แจงนโยบายรัฐบาลให้ชาวบ้านฟังเข้าใจง่ายๆ เพราะเป็นอาจารย์มาก่อน และเป็นตัวแทนของพรรคในการขึ้นเวทีดีเบตนโยบายในช่วงหาเสียง”

“การเข้ามาช่วยตรงนั้นจะสามารถเชื่อมประสานทั้ง 3 ส่วน คือ พูดแทนท่านนายกฯ ต้องประสานกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) การทำงานในสภาให้ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเอกภาพ มีเสถียรภาพ”

อย่างไรก็ตาม บทบาทโฆษกรัฐบาล ที่นางนฤมลอ้างข้างต้น ดูเหมือนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่อ้าง

ตรงกันข้าม กลับถูกมองว่า ไม่อาจเชื่อมประสานหรือความเข้าใจฝ่ายต่างๆ ด้วย

แถมตลอด 1 ปีที่ทำหน้าที่ดังกล่าวในทำเนียบรัฐบาล และที่พรรคพลังประชารัฐ เธอปรากฏตัว-ชื่อในกลุ่มเครือข่ายอำนาจ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

และใช้ช่องทางนี้ปีนป่ายไปสู่ตำแหน่งที่ใหญ่กว่าโฆษกฯ

นั่นคือมุ่งมั่นไปสู่การเป็น “รัฐมนตรี”

แถมเมื่อถูกระบุว่าจะเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของพรรค ซึ่งในทางนัยการเมือง หมายถึง การมาแทนที่นายสมคิดและทีม 4 กุมาร ที่ชักชวนให้เธอเข้าสู่สนามการเมือง

และนี่เองที่ทำให้เธอถูกตั้งคำถามฉกรรจ์ว่า หักหลังหรือแทงข้างหลังนายสมคิด เพื่อที่ตัวเองจะเติบใหญ่หรือไม่

ซึ่งแน่นอนนางนฤมลปฏิเสธ

และชี้ว่าเป็นการตีความกันไปเอง

ด้วยบทบาทโฆษกรัฐบาล ที่ถูกกล่าวหาไม่น่าประทับใจดังกล่าว

แถมเมื่อปรากฏชื่อจะเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค

ทำให้เธอกลายเป็นตำบลกระสุนตกอย่างที่ว่า

ด้วยเพราะเกมแห่งการชิงอำนาจในพรรค พปชร. และรัฐบาล ยังไม่จบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้ขณะนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ภายใต้การสนับสนุนของเหล่า “นักการเมืองอาชีพ” จะสามารถยึดพรรคได้สำเร็จ

และรุกคืบไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา จนเธอได้รับการโปรดเกล้าเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ฝั่งฟากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมาร ที่แม้จะดูเพลี่ยงพล้ำ ทั้งเกมอำนาจในพรรค และถูกรุกไล่ในคณะรัฐมนตรี จนต้องยกธงขาวในเวลาต่อมา

ต่อมาโพลของซูเปอร์โพลที่ออกมาเมื่อ 28 มิถุนายน 2563 ช่วงที่ทีมนายสมคิดถูกรุกคืบนั้น

ชี้ว่า พลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 รู้สึกสงสาร เห็นใจ หดหู่ใจต่อการเมืองไทย เมื่อเห็นสี่รัฐมนตรีถูกกระทำโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและคนในพรรคพลังประชารัฐ

กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลรู้สึกสงสารเห็นใจมากถึงร้อยละ 43.6

ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ของผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลรู้สึกสงสาร เห็นใจ หดหู่ใจต่อการเมืองไทยเช่นกัน

โพลยังระบุว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 ไม่เห็นด้วยต่อการลาออกจากทุกตำแหน่งของสี่รัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นด้วย

ต่อมาเมื่อสี่กุมารลาออก มีการปรับครม. นายอนุชาผู้เป็นพ่อบ้านพรรค ตัวแทนจากสามมิตร กลับโดนพลังของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เบียดแซง จนมาคุมพรรคในที่สุด

แต่แล้วประเทศไทยต้องจารึกไว้ว่า 8 ก.ย. 2564 หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจบสิ้น กลับมีอาฟเตอร์ช็อกสำคัญ คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลด ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เหตุการณ์ต้นเรื่องจากปกมติชนปี 2563 มาสู่ขิต ก.ย.2564 เป็นช่วงปีกว่าๆที่แรงกระเพื่อมภายในพลังประชารัฐ มีสึนามิที่สำคัญทั้งสิ้น3ระลอก ตั้งแต่การออกไปของ 4กุมาร การขึ้นมาคุมพรรคเองของ พล.อ.ประวิตร และ สามมิตรรับบทพ่อบ้านพรรค ก่อนที่เวลาต่อมา สามมิตรกลับถูกเขี่ยไป โดยได้ ธรรมนัสมาแทนที่ และมี นางนฤมลประกอบผู้มีบารมีบ้านป่ารอยต่อไม่ห่าง แต่มิวาย เจอ นายกฯ ออกคำสั่งปลดฟ้าผ่าในเวลาต่อมา นี่คือปรากฎการณ์ที่อลหม่านภายในพรรคใหญ่ ที่ต้องจับตาดูต่อไปว่าจะ “ลงเอย” อย่างไร!