ย้อน 7 ส.ค. 59 : ประชามติรัฐธรรมนูญ-คำถามพ่วงผ่าน จุดเริ่มต้นความอลหม่านการเมืองไทย!

ย้อน 7 ส.ค. 2559 ผลประชามติ-คำถามพ่วง จุดเริ่มต้นปัญหาใหญ่การเมืองไทย

ก่อนจะมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.

ถือว่าเรียบร้อยโรงเรียนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ได้ฉายาว่าเป็น “ฉบับปฏิรูปและปราบโกง” พร้อมกับ “คำถามพ่วง” ในประเด็นที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ผ่านฉลุย!

หากจะไล่เรียงดูตัวเลขผลคะแนนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 จากการแถลงอย่างเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า

ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ 16,820,402 คะแนน คิดเป็น 61.35%

ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน คิดเป็น 38.65%

ส่วนประเด็นคำถามพ่วง ที่ระบุให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. ได้รับความเห็นชอบ 15,132,050 คะแนน คิดเป็น 58.07% ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน คิดเป็น 41.93%

จากผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 29,740,677 คน คิดเป็น 59.40% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด คือ 50,071,589 คน

ทั้งนี้ หากจะโฟกัสผลคะแนนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 45,092,955 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 25,978,954 คน คิดเป็น 57.61% จำนวนผู้ไม่มาใช้สิทธิ 19,114,001 คน คิดเป็น 42.39%

การลงคะแนนในครั้งนั้นผลคะแนนร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับการเห็นชอบ 14,727,306 คะแนน คิดเป็น 57.81% ไม่เห็นชอบ จำนวน 10,747,441 คะแนน คิดเป็น 42.19%

หากจะแยกแยะเป็นรายภาค ผลคะแนนมีดังนี้

ภาคเหนือ พบว่าประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ จำนวน 2,784,734 คะแนน คิดเป็น 57.67% ไม่เห็นชอบ จำนวน 2,044,227 คะแนน คิดเป็น 42.33% ส่วนผลการนับคะแนนในประเด็นคำถามพ่วง พบว่าคะแนนเห็นชอบ จำนวน 2,436,356 คะแนน คิดเป็น 54.09% ไม่เห็นชอบ จำนวน 2,067,791 คะแนน คิดเป็น 45.91%

ภาคกลาง พบว่า ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ จำนวน 5,955,874 คะแนน คิดเป็น 69.47% ไม่เห็นชอบ จำนวน 2,618,017 คะแนน คิดเป็น 30.53% ส่วนผลการนับคะแนนในประเด็นคำถามพ่วง พบว่าเห็นชอบ จำนวน 5,451,308 คะแนน คิดเป็น 66.18% ไม่เห็นชอบ จำนวน 2,786,349 คะแนน คิดเป็น 33.82%

ภาคใต้ พบว่า ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ จำนวน 2,707,316 คะแนน คิดเป็น 76.66% ไม่เห็นชอบ จำนวน 824,256 คะแนน คิดเป็น 23.34% ส่วนผลการนับคะแนนในประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ จำนวน 2,537,009 คะแนน คิดเป็น 74.35% ไม่เห็นชอบ จำนวน 875,156 คะแนน คิดเป็น 25.65%

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ จำนวน 3,993,944 คะแนน คิดเป็น 48.58% ไม่เห็นชอบ จำนวน 4,226,752 คะแนน คิดเป็น 51.42% ส่วนผลการนับคะแนนในประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ จำนวน 3,431,849 คะแนน คิดเป็น 44.57% ไม่เห็นชอบ จำนวน 4,267,561 คะแนน คิดเป็น 55.43%

หากจะมองผลคะแนนการทำประชามติเปรียบเทียบกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ที่แสดงถึงนัยทางการเมือง แน่นอนการโฟกัสของคนการเมืองย่อมหนีไม่พ้น “ภาคเหนือ” กับ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เนื่องจากเป็นฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย

เริ่มที่ “ภาคเหนือ” คะแนนโดยรวมยังคงเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เหมือนกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่สัดส่วนของจำนวนบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญกลับลดลง โดยปี 2550 เห็นชอบ 54.47% ไม่เห็นชอบ 45.53% ปี 2559 เห็นชอบ 57.67% ไม่เห็นชอบ 42.33%

สำหรับภาคเหนือมี 4 จังหวัด ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปี 2550 เห็นชอบ 69.25% ไม่เห็นชอบ 30.75% ปี 2559 เห็นชอบ 66.39% ไม่เห็นชอบ 33.61% ลำปาง ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 58.50% เห็นชอบ 41.50% ปี 2559 เห็นชอบ 51.61% ไม่เห็นชอบ 48.39% น่าน ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 60.79% เห็นชอบ 39.21% ปี 2559 เห็นชอบ 52.95% ไม่เห็นชอบ 47.05% และอุตรดิตถ์ ปี 2550 เห็นชอบ 59.46% ไม่เห็นชอบ 40.54% ปี 2559 เห็นชอบ 60.14% ไม่เห็นชอบ 39.86%

แม้จังหวัดในภาคเหนือที่เป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทยอย่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย จะมีมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อลงลึกไปในตัวเลขแล้วปรากฏว่ามีสัดส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญลดลง โดย จ.เชียงใหม่ ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 56.73% เห็นชอบ 43.27% ปี 2559 ไม่เห็นชอบ 54.3% เห็นชอบ 45.7% จ.เชียงราย ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 63.70% เห็นชอบ 36.30% ปี 2559 ไม่เห็นชอบ 55.36% เห็นชอบ 44.64%

ขณะที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ในภาพรวมของการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ คิดเป็น 51.42% เห็นชอบ 48.58% แต่พบว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ซึ่งมีสัดส่วนที่ไม่เห็นชอบ 62.80% เห็นชอบ 37.20%

โดยมี 5 จังหวัดที่ลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ประกอบด้วย จ.เลย ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 56.93% เห็นชอบ 43.07% ปี 2559 เห็นชอบ 54.17% ไม่เห็นชอบ 45.83% จ.นครราชสีมา ปี 2550 เห็นชอบ 64.11% ไม่เห็นชอบ 35.89% ปี 2559 เห็นชอบ 59.16% ไม่เห็นชอบ 40.84% จ.บุรีรัมย์ ปี 2550 เห็นชอบ 55.20% ไม่เห็นชอบ 44.80% จ.อำนาจเจริญ ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 50.83% เห็นชอบ 49.17% ปี 2559 เห็นชอบ 54.8% ไม่เห็นชอบ 45.2% และ จ.อุบลราชธานี ปี 2550 ไม่เห็นชอบ 56.45% เห็นชอบ 43.55% ปี 2559 เห็นชอบ 54.55% ไม่เห็นชอบ 45.45%

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งตอนนั้นมีฐานสำคัญในกรุงเทพมหานคร แต่คนเมืองหลวงกลับลงมติเห็นชอบ 69.43% ไม่เห็นชอบ 30.57% เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่เห็นชอบ 65.69% ไม่เห็นชอบ 34.31%

แต่ที่น่าสนใจนั่นคือฐานเสียงของคนภาคใต้ที่เห็นแย้งกับจุดยืนของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น) ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพราะคนภาคใต้ลงมติเห็นชอบ 76.65% และไม่เห็นชอบ 23.35%

ผลคะแนนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ครั้งนี้หากจะนำตัวเลขดังกล่าวไปถอดสูตรหาคำตอบในทางการเมืองนั้น ในมุมมองของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน วิเคราะห์ผลการทำประชามติว่า “เราไม่ควรเน้นว่าใครแพ้ ใครชนะ แต่ควรเอาผลการลงประชามติเป็นครู ท่านต้องคิดว่าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยกับคำถามพ่วง แม้จะดูไม่เป็นประชาธิปไตยนักก็ตาม เพราะประชาธิปไตยกับสิ่งที่ประชาชนคิดไม่เหมือนกัน รวมถึงสองพรรคการเมืองใหญ่ที่ควรทบทวนความคิดแผนการ และยุทธศาสตร์ รวมทั้งการจัดวางกำลังของตนเองอย่างจริงจังและเร่งรีบ

พรรคประชาธิปัตย์ต้องอย่าลืมว่า จุดยืนของหัวหน้าพรรค ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผู้คนในกรุงเทพฯ กลับรับร่างรัฐธรรมนูญเกือบ 70% และภาคใต้รับรัฐธรรมนูญเกือบ 80% ทั้งนี้ ประชาชนทำท่าจะไม่รับการชี้นำของพรรคเสียแล้ว ดังนั้น จะมั่นใจอย่างไรว่า ถ้าพรรคไม่เปลี่ยนอะไรเลย ถึงเวลาเลือกตั้งจะได้คะแนนจากกรุงเทพฯ และภาคใต้เท่าเดิม

ขณะที่พรรคเพื่อไทย และ นปช. นั้น ประกาศจุดยืนมาตั้งแต่ต้นว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ภาคเหนือตัวเลขประชามติกลับรับรัฐธรรมนูญ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวเลขรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญออกมาในสัดส่วนเกือบเท่าๆ กัน คือ ไม่ได้ปฏิเสธรัฐธรรมนูญชัดเจน

ผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และคำถามพ่วง จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่พรรคการเมืองขณะนั้น ที่ชัดเจนว่า ต้องการบอนไซพรรคการเมืองพรรคใหญ่ไม่ให้เจริญเติบโต แผ่ขยายฐานเสียง ไม่ให้เป็นพรรคใหญ่ครองเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเมื่อครั้งในอดีตได้อีกต่อไป

และอย่างที่ทราบกันในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญคือกับดักสำคัญที่ทำให้เรา ยังต้องอยู่ในวังวนแม่น้ำห้าสายของ คสช. อยู่แบบนี้ ที่หนทางทางแก้อย่างเห็นๆอยู่ว่า “ยาก” และ “ริบหรี่”

ที่สำคัญการออกเสียงประชามติในครั้งนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างเสรี เพราะมีการประกาศใช้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดโทษจำคุก หากมีการแสดงความคิดเห็นก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ การเผยแพร่ข้อความในลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญา และคำสั่ง คสช.อย่างเข้มข้น ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจทำได้อย่างกว้างขวาง และต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นระหว่างการลงประชามติรัฐธรรมนูญหลายรายด้วยกัน

แม้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงได้โหวตรับรองรัฐธรรมนูญดังกล่าวในปี 2559 แต่เมื่อกระบวนการลงประชามติ ไม่ได้เป็นไปด้วยความอิสระและโปร่งใส จึงกลายเป็นปัญหาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การยกร่างก็ดำเนินการโดยบุคคลที่แต่งตั้งจากคณะทหาร มิได้ยึดโยงกับประชาชน กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อคนบางกลุ่ม

สิ่งที่จะต้องดำเนินการในเวลานี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เปิดทางให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญภายในเวลาที่กำหนด แล้วจัดทำประชามติจากประชาชนในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เปิดกว้างและเป็นอิสระ ให้รัฐธรรมนูญใหม่มีที่มาอันชอบธรรม ผ่านกระบวนการอันชอบธรรม จึงจะเป็นหนทางนำไปสู่ทางออกและความปรองดองของประเทศอย่างแท้จริง