5 ส.ค. 54 : สภาเลือกยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯหญิงคนแรก ย้อนพฤติกรรม-ใครเป็นใครทำอะไรในช่วงนั้น ?

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2554 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลา 10.00 น. โดยมีวาระสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ได้เปิดประชุมสภา ปีที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญทั่วไป) โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร(ณ ขณะนั้น) ทำหน้าที่ประ ธานการประชุม มีสมาชิกลงชื่อ 488 คนครบองค์ประชุม นายสมศักดิ์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาทั้ง 2 คน พร้อมหารือกับสมาชิกถึงมาตรการในการทำงานร่วมกันในสภา

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาวาระสำคัญเรื่องเสนอใหม่ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ โดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 28 ขอเสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่จะเป็นนายกฯ โดยมีสมาชิกซีกพรรคร่วมรัฐบาลกดบัตรรับรองถูกต้อง 294 เสียง งดออกเสียง 40 เสียง โดยไม่มีใครเสนอชื่อเป็นอย่างอื่น จากนั้นเวลา 10.50 น. ได้เริ่มการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อเรียงตามตัวอักษร พร้อมตั้งคณะกรรมการนับคะแนน หลังสมาชิกออกเสียงลงคะแนนโดยการขานชื่อครบทุกคน ประธานสภาได้แจ้งผลการลงมติว่า มีผู้เห็นชอบ 296 ไม่เห็นชอบ 3 งดออกเสียง 197 ถือว่าเสียงเกินกึ่งหนึ่ง เห็นชอบให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จากนั้นประธานได้สั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 11.44 น.

สำหรับ ส.ส.ที่ลงมติไม่เห็นด้วย มี 3 คนคือ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ส่วน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่งดออกเสียง 4 เสียง ประกอบด้วยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประ ธานสภา นายเจริญ จรรย์โกมล นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ

หลังปิดการประชุม แกนนำและส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างปรบมือแสดงความยินดี กับน.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ หญิงคนแรก โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยกมือไหว้ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมขอบ คุณทุกคนที่โหวตให้ จากนั้นส.ส.ต่างเข้าไปจับมือแสดงความยินดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น”

ข้อมูลประกอบจาก www.wikipedia.org
อ่านรายละเอียดข่าวนี้ และทุกข่าวอื่น ๆ ย้อนหลัง เพื่อเข้าใจทุกประเด็นสำคัญ สืบค้นเรื่องราวผ่านข้อมูลตลอด 40 กว่าปีของหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ในเครือ และสมัครสมาชิกได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลมติชน : www.matichonelibrary.com

ผลจากการเลือกครั้งและการเลือกนายกครั้งนั้น มติชนสุดสัปดาห์ ได้ขึ้นปก พร้อมพาดหัว “ประทานโทษ มือใหม่หัดขับ” พร้อมทั้งจัดเต็มบทวิเคราะห์การเมือง-อนาคตรัฐบาล ฉบับวางแผงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617

หนึ่งในบทวิเคราะห์สำคัญของเล่มคือการมองไปที่จุดแข็งสุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28  ว่าคงเป็นอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) บอก นั่นคือ

“ดูดี พูดจาอะไรเป็นหลักเป็นฐาน”

ซึ่งก็สอดคล้องกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ว่า

“ผมว่า (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ดูท่าทางกระฉับกระเฉง…การถูกปรามาสถือว่าดี เพราะทำให้ระมัดระวัง คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ทำงานได้”

ปฏิกิริยาจาก “คนคุมกำลัง” และจาก “คนเก๋าเกมทางการเมือง” เช่นนี้ คงทำให้ผู้ที่เอาใจช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ สบายใจขึ้น

และที่จริงหลายคนก็คงไม่เห็นต่างว่า สิ่งที่ดูดีที่สุดของนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้ก็คือ การพูดจาดี นอบน้อม และเมื่อผสานกับความสดใหม่ ทำให้ได้รับ “โอกาส” ทำงานค่อนข้างสูง

พร้อมทั้งเอาใจช่วย “มือใหม่หัดขับ” ให้ออกตัวและขับเคลื่อนประเทศไปได้อย่างราบรื่น

แต่กระนั้น การขอโอกาสด้วยการออกตัวแบบ “ประทานโทษ มือใหม่หัดขับ”นั้น ก็คงมี “ระยะเวลา” ให้ระดับหนึ่ง

ซึ่งก็คงไม่ยาวนานนัก หลังจากนั้นก็คงมีทวงถาม และซักไซ้ไล่เรียงถึง “ผลงาน” และ “สัญญา” ที่ให้ไว้

“มือใหม่” จำต้องแปรเป็น “มือเก่า” ให้ได้โดยเร็ว

ว่าที่จริง สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ “มือใหม่”

ก็ดูจะพยายามทำ “การบ้าน” ล่วงหน้าอยู่พอสมควร

สะท้อนผ่านคำแถลงหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามจะตอบสนองทุกภาคส่วน

นับตั้งแต่

1.การสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ด้วยการย้ำว่า จะจงรักภักดี ทุ่มเท อุทิศตนอย่างมุ่งมั่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

พร้อมทั้งยังระลึกถึงพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานให้แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2532 ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นบัณฑิตจบใหม่รุ่นนั้นด้วย ว่า

“ประการที่สำคัญ ต้องพยายามใช้ความคิด ความเฉลียวฉลาด ปรับปรุงตัว ปรับปรุงงาน ให้มีประสิทธิภาพเสมอ พร้อมทั้งพยายามประสานงาน ประสานประโยชน์ กับทุกคนและทุกฝ่ายที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย โดยสอดคล้องทั่วถึง งานจึงจะสัมฤทธิผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์ คือ เป็นประโยชน์แก่งาน แก่ตัวผู้ปฏิบัติ และแก่ส่วนรวม พร้อมทุกส่วน…จึงขอให้บัณฑิตนำสิ่งที่พูดนี้ ไปพิจารณาให้เข้าใจเพื่อใช้เป็นแนวทางต่อไป”

2.ยืนยันเจตนารมณ์ ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา มิใช่มุ่งแก้แค้น

3.พร้อมจะทำงานกับข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชนทุกพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงอย่างตั้งใจและเต็มใจ

4.การเป็นนายกรัฐมนตรีผู้หญิงในช่วงระยะของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จะไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานตรงข้ามความเข้มแข็งที่ควบคู่กับความอ่อนโยน การรับฟังปัญหาและความท้าทายด้วยทรรศนะที่แตกต่าง อาจเผยให้เราเห็นทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น และหลากหลายมากขึ้น

5.ใช้ความเป็นมืออาชีพ “สร้างสุข สลายทุกข์” ให้แก่ประชาชนอย่างสุดกำลังความสามารถ

6.ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อประเทศไทยของทุกคน

ซึ่งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำได้ตามที่ประกาศไว้ เชื่อว่า “มือใหม่” ก็คงขับเคลื่อนรัฐบาลไปได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม หลังรายชื่อคณะรัฐมนตรีปรากฏออกมามีเสียงห่วงใยติดตามมาทันที เนื่องจาก ไม่มีมือกฎหมายอาชีพ อยู่ในคณะรัฐมนตรีเลย

ทั้งที่โดยความจริงแล้ว “มือใหม่” ทั้งทางการเมือง และการบริหาร “ราชการ” อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้องมี “พี่เลี้ยง” ที่ไว้ใจได้ดูแล

เนติบริกรอย่าง นายวิษณุ เครืองาม ในตอนั้น ได้เตือนอย่างห่วงใยเกี่ยวกับ “ฐานความผิดใหม่” ที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นตามหลักนิติธรรม สุ่มเสี่ยงที่ฝ่ายการเมืองจะทำผิดสูงมาก

โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาจากภาคเอกชนที่ไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะนึกไม่ถึง

และยิ่งหาก “โคลน” เอาวิธีการทำงานของพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร มาใช้ คือทำงานเร็วและลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว โอกาส “พลาด” มีสูงมาก

ซึ่ง พลาด ในปัจจุบันไม่ใช่เพียงจะต้องรับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น

หากแต่จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลตายน้ำตื้นได้

คำเตือนเรื่องนี้จึงต้องพึงสำเหนียกให้ดี

เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเพื่อไทยมี “โจทก์” ทางการเมืองรออยู่เพียบ

พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถือเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพไม่ต้องพูดถึง ลับมีดรออยู่แล้ว

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมต่อต้านระบอบทักษิณ ก็ยังซุ่มรอเงื่อนไขเพื่อการลุกฮือ และจัดการตามช่องทางกฎหมายทุกช่องทางที่มีอยู่

ขณะเดียวกัน “กลุ่มอำนาจพิเศษ” ก็ยังกุมกลไกแห่งอำนาจรัฐและตุลาการภิวัตน์เอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

เหล่านี้ จะกลายเป็นปัญหาให้ “มือใหม่” ทันที

เป็นปัญหาเหมือนที่ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากนายกรัฐมนตรีด้วยข้อหาทำกับข้าวออกโทรทัศน์

เป็นปัญหาเหมือนรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พังครืนลงด้วยกระบวนการยุบพรรคพลังประชาชนผ่านกลไกแห่งตุลาการภิวัตน์

และ “โจทก์ทางการเมือง” เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่!