ย้อนเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”+ “มวลชนเสื้อแดง” ปัจจัยชี้ขาดถล่มทลายเพื่อไทยชนะ265เสียง!

มีสิ่งที่ต้องบันทึกสำหรับการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ไว้หลายประการ

เริ่มตั้งแต่ข้อมูลทั่วไปของผู้มาใช้สิทธิ

โดยจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,682 คน

มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบ “บัญชีรายชื่อ” 35,203,107 คน หรือร้อยละ 75.03

บัตรเสียจำนวน 1,726,015 บัตร หรือร้อยละ 4.9

บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 958,052 บัตร หรือร้อยละ 2.72

ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,777 คน

มาใช้สิทธิ 35,119,885 คน หรือร้อยละ 74.85

บัตรเสีย 2,039,694 บัตร หรือร้อยละ 5.79

บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,419,088 บัตร หรือร้อยละ 4.03

จังหวัดที่มีผู้มาลงคะแนนสูงสุด 3 อันดับ 1.ลำพูน มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 88.61 2.เชียงใหม่ ร้อยละ 83.13 3.ตรัง คิดเป็นร้อยละ 82.65

มี 11 พรรคการเมืองได้ ส.ส. ดังนี้

พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ ส.ส. 265 คน จากแบ่งเขต 204 คน บัญชีรายชื่อ 61 คน

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ ส.ส. 159 คน จากแบ่งเขต 115 คน บัญชีรายชื่อ 44 คน

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ ส.ส. 34 คน จากแบ่งเขต 29 คน บัญชีรายชื่อ 5 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้ ส.ส. 19 คน จากแบ่งเขต 15 คน บัญชีรายชื่อ 4 คน

พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ชพน.) ได้ ส.ส. 7 คน จากแบ่งเขต 5 คน บัญชีรายชื่อ 2 คน

พรรคพลังชล (พช.) ได้ ส.ส. 7 คน จากแบ่งเขต 6 คน บัญชีรายชื่อ 1 คน

พรรครักประเทศไทย (รปท.) ได้ ส.ส. 4 คน จากบัญชีรายชื่อ 4 คน

พรรคมาตุภูมิ (มภ.) ได้ ส.ส. 2 คน จากแบ่งเขต 1 คน บัญชีรายชื่อ 1 คน

พรรคมหาชน (พมช.) ได้ ส.ส. 1 คน จากบัญชีรายชื่อ 1 คน

พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) ได้ ส.ส.1 คน จากบัญชีรายชื่อ 1 คน

พรรครักษ์สันติ (รส.) ได้ ส.ส. 1 คน จากบัญชีรายชื่อ 1 คน

จากผลการเลือกตั้งข้างต้น จะเห็นว่าครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 75.03 เป็นความตื่นตัวที่ค่อนข้างมาก

ขณะที่พฤติกรรมการลงคะแนน จะเน้นไปที่ 2 พรรคใหญ่ชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม

ด้วยจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 204 ที่นั่ง และในแบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ 61 ที่นั่ง รวมเป็น 265 ที่นั่ง ทิ้งห่างจากพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งสำคัญในสนามที่ได้มา 159 ที่นั่งชนิดขาดลอย 106 ที่นั่ง

อาจไม่ถึงกับเรียกว่า”แลนด์สไลด์” แต่ก็” ถล่มทลาย “พอจะช่วยให้เส้นทางการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มั่นคงจนยากจะเกิดความเปลี่ยนแปลง

ทั้งยังเป็นการปิดประตูความวุ่นวายที่อาจเกิดจากการแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 2 อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ภายหลังการเลือกตั้งมีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยสาเหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเข้ามาถล่มทลายครั้งนี้ไว้หลายข้อ นอกจากการจับได้”เบอร์ 1” เป็นเบอร์ประจำพรรคและผู้สมัครในการลงสู้ศึก ที่แสดงถึงความ “เฮง “ตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ตแล้ว

ยังมีหลายปัจจัยที่ได้รับการยืนยันตรงกันคือ “กระแสทักษิณ” บวกกับ “กระแสยิ่งลักษณ์” และที่ขาดไม่ได้คือ”กระแสมวลชนคนเสื้อแดง” รวมถึงการนำเสนอนโยบายประชานิยมฉบับต้นตำรับ ที่โดนใจประชาชนรากหญ้ามากกว่าฉบับลอกเลียนแบบของพรรคคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องนำไปวิเคราะห์แยกแยะต่อไป ถึงจะเป็นแค่การพลิกล็อกเล็กๆ ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อยุทธศาสตร์รวมทั้งประเทศที่ต้องชนะเลือกตั้ง”เกินครึ่ง”ก็ตาม

คือผลการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายมากพอสมควร โดยพรรคเพื่อไทยแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ 23 ต่อ 10 ที่นั่ง ทั้งที่สารพัดโพลก่อนหน้า หรือกระทั่ง”เอ็กซิตโพล”ในวันเลือกตั้ง ให้พรรคเพื่อไทยชนะขาดมาตลอด

ต่างกันลิบลับกับพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นไปตามโพลฟันธงว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ใน 2 ภาคนี้

ซึ่งผลออกมาในภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยชนะแบบ”ยกจังหวัด” ทั้งกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน แพร่ พะเยา และอุตรดิตถ์

ภาคเหนือและอีสานนี้เองคือกุญแจ 2 ดอกสำคัญที่พรรคเพื่อไทยใช้ไขประตูสู่ชัยชนะอันถล่มทลาย

ในส่วนของภาคเหนือนั้นนอกจากฐานเสียงคนเสื้อแดงจะหนาแน่น

การที่เชียงใหม่ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของภาคเหนือ เป็นจังหวัดบ้านเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จึงเป็นเรื่องง่ายดายต่อการปลุกกระแสรวมพลังคนเมืองเลือก “นายกฯ คนเชียงใหม่คนที่ 2″ และ”นายกฯ หญิงคนบ้านเฮา”

แคมเปญนี้เองที่มีส่วนอย่างมากช่วยให้พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.เขต ภาคเหนือได้ถึง 49 จากทั้งหมด 67 ที่นั่ง กับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์อีกเฉียด 3 ล้านคะแนน

สำหรับภาคอีสานซึ่งมีเก้าอี้ ส.ส. ให้ช่วงชิงสูงสุด 126 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในพื้นที่นี้ได้ถึง 104 ที่นั่ง กับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์อีกกว่า 6.3 ล้านคะแนน

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสาน คือส่วนผสมลงตัวระหว่างกระแส”ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” และมวลชนเสื้อแดง

กล่าวอีกอย่างคือเป็นความสำเร็จสูงสุดของ”ยุทธศาสตร์การเมือง 2 ขา” คือพรรคเพื่อไทยกับ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ที่แยกกันเดิน ร่วมกันตี ทำศึกช่วงชิงอำนาจรัฐ

ทำให้พรรคคู่ต่อสู้อื่นๆ แตกพ่ายยับเยินไม่เว้นแม้แต่จังหวัดบุรีรัมย์เมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ใช่แค่ต้องเสียพื้นที่ ส.ส.เขต ให้กับพรรคเพื่อไทยไป 2 ที่นั่ง แม้แต่คะเนนปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังแพ้พรรคเพื่อไทยกว่า 1 แสนคะแนน

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานยังคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าในสมรภูมิเลือกตั้ง”กระสุน”ก็พ่ายแพ้ต่อ”กระแส”ได้เช่นกัน

ด้านภาคกลาง จำนวน 96 ที่นั่ง พื้นที่แย่งชิงของหลายพรรคการเมือง ยังเป็นพรรคเพื่อไทยที่ทำผลงานได้ดีกว่าใคร ได้รับเลือกมาถึง 41 ที่นั่ง

ในจำนวนนี้”ยกจังหวัด”เข้ามาได้ คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสระแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีแดง

แต่ผลงานของพรรคเพื่อไทยที่ทำให้ “มังกรการเมือง” นายบรรหาร ศิลปอาชา ถึงกับอยากจะ”เอาหัวมุดดิน” ก็คือการ”เจาะไข่แดง”เขต 5 สุพรรณบุรี เมืองหลวงของพรรคชาติไทยพัฒนา แถมยังแพ้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์จังหวัดให้พรรคเพื่อไทย 1.7 ต่อ 1.9 แสนคะแนน

ขณะที่ภาคใต้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เน้นมากนัก เพราะรู้ดีว่าเป็นป้อมปราการอันแข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยากจะเจาะทะลวงเข้าไปได้ เมื่อเจาะไม่ได้ ก็ไม่เสียเวลาเอาหัวโขกกำแพง

จากระยะเวลา 40 กว่าวันของการหาเสียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำทัพหลวงเพื่อไทยลงพื้นที่ภาคใต้แค่ครั้งเดียว ชูนโยบาย”เขตปกครองพิเศษ” ใน 3 จังหวัดชายแดนเสร็จก็ขึ้นมา แล้วไม่ได้ลงไปอีกเลย

แต่เนื่องจากสมรภูมิเลือกตั้งภาคใต้ เป็นอะไรที่คาดคำนวณล่วงหน้าได้อยู่แล้ว

มีนักวิเคราะห์บางคนชี้ถึงปัจจัยรายละเอียดที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบถล่มทลายว่า

ยังเกิดจากการที่พรรคเพื่อไทยมีการ”จัดตั้งมวลชน”อย่างเป็นแบบแผน เห็นได้จากการขยายตัวของ”หมู่บ้านเสื้อแดง”ที่แผ่ปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดภาคอีสาน

นอกจากนี้ การชูนโยบายหาเสียงที่ดูแล้วน่าจะดำเนินการเป็นรูปธรรม จับต้องได้มากกว่าคู่แข่งยังเป็นจุดเด่นของพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างถึงผลงานประชานิยมเดิมในสมัย”รัฐบาลทักษิณ” เป็นเครื่องหมายการันตีว่าไม่ได้”ดีแต่พูด”เหมือนรัฐบาลที่กำลังจะกลายเป็นอดีต

อาทิ การแจกแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ฟรีให้กับเด็กนักเรียน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี บัตรเครดิตเกษตรกร การรับจำนำข้าว ถมทะเลสร้างแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ การพัฒนาโครงข่ายระบบราง คืนภาษีบ้านหลังแรก-รถคันแรก ฯลฯ

กรณี “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์ว่า “ยิ่งลักษณ์”ไม่ใช่แค่น้องสาว แต่เป็นโคลนนิ่ง ตอนแรกหลายคนประเมินไม่ออกว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กันแน่

แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมาอาจเป็นการตอบคำถามได้ว่า”ทักษิณ”มีความแยบยลมากแค่ไหน ในการจับกระแสการเมืองในไทยได้แม่นยำทั้งที่ตนเองอยู่ไกลถึงต่างประเทศ

ทั้งต้องยอมรับว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ยังเกิดจากการแสดง”ภาวะผู้นำ”ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยส่วนหนึ่ง ที่เลือกใช้รอยยิ้มและคำพูดที่นุ่มนวลในการตอบคำถามสื่อมวลชน

โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการปะทะคารมตรงๆ กับฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะในประเด็นการนิรโทษกรรมทักษิณ หรือประเด็นเรื่องส่วนตัว พร้อมกับการท่องคาถา”ไม่แก้แค้น แต่จะแก้ไข”

กระนั้นก็ตาม ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจต่อชัยชนะของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ว่า

ยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้ง”ชนะเกินครึ่ง” ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาควบคู่กับการโหมกระแส”นายกฯ หญิงคนแรก” รวมถึงการชูนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เป็น”จุดแข็ง”ของพรรคเพื่อไทย

ไม่มีทางประสบความสำเร็จท่วมท้นอย่างที่เห็นได้เลยถ้าไม่มีพรรคการเมืองคู่แข่งเป็นตัวช่วยหนุนเสริม

หนุนเสริมด้วยการดีแต่พูด ด้วยความล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ด้วยการเป็นรัฐบาลมา 2 ปีแต่กลับไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ด้วย 2 มาตรฐาน ด้วยการทะเลาะกับมิตรประเทศ

สุดท้าย ยังหนุนเสริมด้วยการย่ำยีกรณี 99 ศพ

 

ที่มา คอลัมน์ในประเทศ จากมติชนสุดสัปดาห์

ฉบับวันที่ วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1612