120 วัน เปิดประเทศ : ศรัทธา ความหวัง หรือแค่ความเพ้อฝันการท่องเที่ยวไทย ?

120 วัน เปิดประเทศ มาพร้อมความหวังและความฝัน นักวิชาการชี้ไทยพร้อมหรือไม่ ?

ภายหลัง นายกรัฐมนตรีประกาศตั้งเป้าต้องเปิดประเทศไทยทั้งประเทศภายใน 120 วัน โดยที่ไม่รอ ให้ประชากรทุกคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดสก่อน แม้ว่าอาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่การประกาศของผู้นำย้ำว่ามีความจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดในการทำมาหากินของประชาชน และต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน
มติชนสุดสัปดาห์พามา สนทนาประเด็นร้อนกับ อาจารย์ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒ์ นักวิชาการจากสาขา การสื่อสารและการท่องเที่ยว วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มศว

มุมมอง นักวิชาการกับนโยบาย 120 วัน เปิดประเทศ

อ.ยุคลวัชร์ กล่าวว่า จริง ๆ เมื่อทุกฝ่ายได้ยินคำว่า เปิดประเทศใน 120 วัน สามารถมองได้2มุม คือ ด้านของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว คมนาคม การขนส่ง หรือ โรงแรมที่พัก ต้องบอกว่าพอได้ทราบ ถึง นโยบาย 120 เปิดประเทศ มันมี 2 ความรู้สึกที่มาพร้อม ๆ กัน ด้านนึง คือ ความหวัง ในการที่จะได้กลับมามีรายได้ ได้กลับมาดำเนินธุรกิจของตัวเองให้ สามารถไปต่อได้ หลังจากผู้ประกอบการประสบอยู่ในภาวะที่ไม่รู้เลยว่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่

อ.ยุคลวัชร์ มองว่า หลังจาก 120 วันข้างหน้านี้สถาการณ์ก็ยังคงไม่ปกติ และมีแนวโน้มทรง ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่อีกความรู้สึกหนึ่งคือความฝัน คือการที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวนโยบาย 120 วัน จะเปิดประเทศ ตอนนี้มันเป็นเพียงประโยคคำพูด และปัจจุบันยังคงเป็นเพียงแค่ความฝัน ซึ่งความฝันกับความหวังนี้ มีความแตกต่างกัน

ความหวัง หมายถึง สิ่งที่ตั้งตารอ ส่วนความฝัน มันมาพร้อมกับความไม่แน่นอน และความไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นความสำคัญอยู่ที่ว่า การจะบอกว่าอีกกี่วันเปิดประเทศ ก็เหมือนมีหมุดหมายปลายทาง ที่ให้ประชาชน ผู้ประกอบการ หลายๆ คนตั้งตารอ ด้วยความหวังหรือความฝันก็แล้วแต่ มันจะไม่เกิดขึ้นจริง หรือ ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าหากว่า นโยบายมีเพียงเป้าหมาย แต่ไร้ความชัดเจน ในเรื่องของกระบวนการ วิถีการเสถียรภาพที่จะทำให้เปิดประเทศได้ และอาจจะเป็นผลกระทบมากกว่าด้วยซ้ำ

อ.ยุคลวัชร์ เสริม ประเด็นมุมมองของผู้ประกอบการ เมื่อได้รับรู้นโยบาย 120 วันเปิดประเทศ มันมาพร้อม 2 ความรู้สึก คือ ความหวัง กับความไม่มั่นใจ แต่ใครหลาย ๆ คน ก็คาดหวังที่อยากจะให้เป็นจริง

ในอีกมุมมองนึง ในฐานะคนในประเทศนี้ ที่อยากท่องเที่ยวในประเทศไทย เมื่อทราบถึงนโยบาย 120 วันจะเปิดประเทศ นั้น เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเป็นกันเหมือนกันคือ ไม่แน่ใจและหวาดกลัว และอย่างที่ทราบกัน ณ ปัจจุบัน สถาณการณ์โควิดในประเทศไทย มีสายพันธ์ุไวรัสแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้น และพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้นในมุมมองของคนที่อยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ประเด็นนึงเพราะ คนในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนที่จัดสรรโดยรัฐอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนในประเทศ

อ.ยุคลวัชร์ เชื่อว่า นโยบาย มาพร้อมกับความเสี่ยงและความกลัว เพราะปัจจุบันยังมีการติดเชื้อในประเทศ ยอดสูง ทั้งๆ ที่ รัฐ มีมาตรการป้องกัน ต่าง ๆ อาทิเช่น การกักกัน การมีระบบquarantine ต่าง ๆ แต่ยอดผู้ติดเชื้อคงที่ระดับ 2-3 พันคนต่อวัน มานานหลายวันแล้ว อีกทั้ง ก็ยังมีไวรัสสายพันธ์ุ แปลกๆ เล็ดรอดเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ถ้าหากเปิดประเทศแล้ว คนไทยในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนและมีความพร้อมที่จะรองรับ จริง ๆ ผมเชื่อว่าบรรยากาศในการท่องเที่ยว หรือใช้ชีวิตมันก็อาจ ไม่เต็ม 100 % และจะเกิดความหวาดกลัวซึ่งกันและกัน

ดังนั้น การที่รัฐมีการตั้งเป้าหมายจากการที่นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศ ให้ความรู้สึกที่ยังไม่มั่นใจ และไม่แน่นอน ตราบใดที่เรายังมองไม่เห็นว่า แผนการที่จะเปิดประเทศ 120 วันนั้น มันเป็นไปได้จริง และมีรายละเอียดขั้นตอนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันความชัดเจนยังไม่มีออกมา เอาง่าย ๆ แค่ว่า 120 วัน ท่านจะนับจากวันไหน นายกฯพูดอย่างหนึ่ง วันต่อมาโฆษกรัฐบาลพูดอีกอย่างหนึ่ง เรายังไม่รู้เลยว่าจะนับกันแบบไหน deadline อย่างไร  แค่เรื่อง basic ก็ยังไม่ชัดเจนอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ประชาชนควรจะต้องรับรู้

เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เขาต้องการในตอนนี้ คือแผนการว่าจะทำอย่างไรให้เปิดประเทศได้จริง ๆ

ผมอยากให้ทุกคนลองนึกถึงภาพของผลกระทบที่ตามมา ถ้าหากว่า 120 วันครบกำหนดแล้วไม่เปิดจะเป็นอย่างไร ?
อ.ยุคลวัชร์ เชื่อว่าก่อนหน้าจะถึง 120 วัน ผู้ประกอบการต่าง ๆ หากมั่นใจ เชื่อรัฐบาล หรือสิ่งที่นายกฯบอก เขาก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการ รีโนเวท การเตรียมความของพนักงาน สต๊อกวัตถุดิบ หรือการเตรียมแผนการตลาดต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อที่จะรองรับ เมื่อถึงคราวเปิดประเทศขึ้น จริง ๆ แต่หากถ้าถึงครบ 120 วันขึ้นมาแล้ว ปรากฏว่า เปิดขึ้นจริงไม่ได้ ความเสียหายมันจะยิ่งสูงขึ้น สิ่งที่ลงทุน เตรียมความพร้อม เม็ดเงินการลงทุนที่เอาไปเตรียมความพร้อมมันก็จะสูญเปล่าไป อันนี้คือสิ่งที่น่ากังวลใจ ประเด็นสำคัญถัดมาคือ ถ้าหากว่ามันมีแค่ตัวเลขกำหนดการ แต่ไม่ได้มาพร้อมความเชื่อมั่นและแผนการดำเนินการที่ทำให้ผู้ประกอบการ สามารถวางแผน ประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้

ประเด็นต่อมา ถึงแม้ว่า ครบ 120 วัน รัฐยังยืนยันเปิดประเทศไม่ว่าสถานการณ์ โควิด ณ ตอนนั้น ๆ จะเป็นอย่างไร อ.ยุคลวัชร์ กังวลถึง ความพร้อม ในด้านสาธารณสุข จำนวนผู้ติดเชื้อ แผนการดูแลต่าง ๆ มันดำเนินไปไม่พร้อม ๆ กัน

‘’สิ่งที่น่ากลัวคือสิ่งที่เรียกว่า เปิด ๆ ปิด ๆ’’

สมมุติ หากเปิดแล้วพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หรือมีการติดเชื้อ cluster แพร่ระบาดในแหล่งท่องเที่ยว ก็จะทำให้ต้องปิดเหมือนเดิม ตรงนี้แนวทางเป็นอย่างไร เพราะถ้าหาก เปิด ๆ ปิด ๆ ผลกระทบมันอาจจะมากกว่าการที่ เจ็บแต่จบ ปิดยาวและรอพร้อมจริง ๆ ค่อยเปิดเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจะสังเกตเห็นได้ว่าการตั้งเป้าหมาย 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี มี ข้อดี คือทุกคนมองเห็นเป้าหมายปลายทาง ทราบถึงเวลาในเตรียมตัวถึงเมื่อใด หรือ สายป่านที่รัฐ hold อยู่ทุกวันนี้ จะยาวถึง 120 วันไหม ถ้ามันไม่ถึงแน่ ๆ จะได้อาจลู่ทางอื่น แต่ถ้ามันพอที่จะถึงก็จะได้เตรียมตัว

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่เกี่ยวของในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องการจะรู้คือแผนการดำเนินการที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ว่าจะเป็นแบบไหน กลุ่มไหนจะเข้ามา หากมีการติดเชื้อเพิ่มจะทำอย่างไร มีมาตรการคุ้มครองไหมอย่างไร และคนในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับการช่วยเหลือวิธีไหนอย่างไรบ้าง หรือการสนับสนุนการเตรียมความพร้อม เป็นต้น

วัคซีน

กลุ่มเสี่ยงของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะต้องจะสัมผัสกับนักท่องเที่ยว เป็นด่านหน้า หลังการเปิดประเทศ รัฐจะมีขั้นตอนการดำเนินการอยู่จุดไหน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ตัวเลข 120 วัน สามารถเป็นได้ทั้งความหวังและความฝันของคนไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันปัจจุบัน ก็ยังเป็นสถาการณ์ใหม่ new normal ที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา เราเคยผ่านในช่วง lockdown เคอร์ฟิว คนไม่ออกจากบ้าน ซึ่ง ณ ตอนนั้นผู้ประกอบการก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวในรูปแบบนึง แต่ในปีที่แล้วจะไม่สามารถนำมาใช้ในอีก 120 วันที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้าได้เลย เพียงเพราะเป็นสถาการณ์ในอนาคตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกเช่นกัน เนื่องจากเราก็ไม่เคยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจริง ๆ เรื่องวัคซีนจะเป็นอย่างไร อนาคตคือสิ่งไม่แน่นอน สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเรียนรู้กันใหม่ ในฐานะที่ภาครัฐ เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในแวดวง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ข้อเสนอแนะภาควิชาการ

แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนอยู่ด้วยความไม่แน่นอนและหวาดกลัว ในเมื่อปัจจัยสำคัญมันคือการระบาดและโรคติดต่อ หากเราสามารถ กำจัดความกังวลใจในส่วนตรงนี้ จะทำให้บรรยากาศที่จะตอนรับนักท่องเที่ยว มันเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น อย่างแรก อ.ยุคลวัชร์ มองว่า บุคลากรหรือคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่จะต้องสัมผัส บริการ นักท่องเที่ยว ตรงนี้ต้องให้มั่นใจว่าได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด 100 % คือเป้าหมาย แต่ไม่ใช่ว่าทุกครบได้ฉีดครบ 100% ทันที แต่ต้องเป็นวัคซีนมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความอุ่นใจ ไว้วางใจได้

อย่างตอนนี้ทุกคนคงได้ยิน ตัวอย่างของ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ซึ่งจะลองให้ภูเก็ตเป็นโมเดลทดลอง อ.ยุคลวัชร์ย้ำว่า หลังการดำเนินการไปได้พักนึง รัฐบาลและผู้ประกอบการก็จะเริ่มเห็นเมื่อมีนักท่องเที่ยวกลับมาจริง ๆ สถาการณ์จริง ๆ จะเป็นแบบไหน พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ค่าใช้จ่ายต่อหัว ความระมัดระวังในการใช้จ่าย ความระมัดระวังด้านความสะอาด จะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ หลังจากการใช้ภูเก็ตเป็นตัวนำร่อง รัฐต้องถอดบทเรียน จากภูเก็ตว่า มีเรื่องอะไรบ้าง ที่ต้องกังวลใจ ก่อนจะนำไปต่อยอดสู่การเปิดประเทศจริง ๆ

Nai Yang Beach is located in Sirinat National Park, Phuket

ยกตัวอย่างว่า สมมุติว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) โมเดลนี้ทดลองจริงแล้วพบว่า นักท่องเที่ยว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในแง่ของความกังวลใจ ความสะอาด หรือ เม็ดเงินการใช้จ่าย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะต้องรีบนำไปถอดบทเรียน องค์ความรู้ พฤติกรรมใหม่เหล่านี้ ไปถ่ายทอด นำเอาไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาให้พื้นที่ท่องเที่ยว อื่น ๆ จังหวัดอื่น ๆ ได้เตรียมความพร้อม อ.ยุคลวัชร์คาดว่า นักท่องเที่ยวจากต้นแบบโมเดลภูเก็ตมีแนวโน้มที่อาจจะความสอดคล้องกับกลุ่มที่จะมาทดลองในจังหวัด ภูเก็ต 1 กรกฎาคม นี้เช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุด ในมุมมองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยากให้อุ่นใจด้วยว่ากลุ่มคนด้านการท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศจะได้รับวัคซีน ไม่ใช่เป็นจำนวนโดสอย่างเดียว แต่ต้องเป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะ ‘’สิ่งที่น่ากลัวคือสิ่งที่เรียกว่า เปิด ๆ ปิด ๆ’’ อาจจะสร้างความเสียหายมากกว่าเจ็บแต่จบและเปิดเมื่อพร้อมจริง ๆ