สุภาภรณ์​ มาลัยลอย​ : ถ้าอยากมีอากาศสะอาดหายใจ ต้องเริ่มที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​

 

เรื่อง : สุภาวดี กลั่นความดี

ภาพ : พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

สุภาภรณ์​ มาลัยลอย​ : ถ้าอยากมีอากาศสะอาดหายใจ ต้องเริ่มที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​

          

เมื่อเราเกิดมา ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสิทธิในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ มีสิทธิที่จะมีแหล่งน้ำสะอาดไว้ใช้อุปโภคบริโภค นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ที่พึงมี

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รู้จักฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น เรียกได้ว่ารู้จักกันอย่างใกล้ชิดอยู่ด้วยกันแทบทุกลมหายใจ เพราะเจ้าฝุ่น PM 2.5 นี้พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยงเริ่มมีปัญหาด้านระบบหายใจ บางคนถึงกับเลือดกำเดาไหล ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลดลง ยิ่งสูดดม PM 2.5 เป็นเวลานานยิ่งส่งผลในระดับพันธุกรรม มีผลมากกับทารกในครรภ์ และยังเป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบอีกด้วย

แต่สำหรับทางภาคเหนือนั้นประสบปัญหานี้มายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว ซึ่งมักเกิดมาจากไฟป่าบนดอย เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังยังเป็นความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดซ้ำๆ ระหว่างรัฐกับชาวบ้านในพื้นที่ มีหลายครั้งที่รัฐเหมือนจะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่พอหมดหน้าฝุ่นก็กลับไม่มีอะไรชัดเจน จนเป็นปัญหาวนลูปไปทุกปี หรืออาจจะเป็นเพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กล่าวถึงสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้อย่างชัดเจน

หน้าฝุ่นกำลังจะบรรจบครบอีกรอบ ชีวิตคนไทยจะมีอากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดีได้อย่างไร เรามาถกถามหนทางแก้ไขกับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

 

รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอากาศสะอาดและการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญเป็นส่วนที่สำคัญในการมองกรอบในเรื่องหลักการ หากย้อนไปเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 จะมีหมวดสิทธิในมาตรา 67 เดิมที่พูดถึงเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ปรับมาอยู่ในมาตราที่ 58 กลายเป็นหน้าที่ของรัฐหากการดำเนินการใดของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐต้องทำการประเมินผลกระทบและรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนการดำเนินโครงการ

แทนที่เราจะมีสิทธิฟ้องร้องหรือกล่าวโทษต่อนโยบายของรัฐได้เลย ถ้าเรามองว่านโยบายหรือการดำเนินการที่กระทบต่อสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีของเรา กลายเป็นการสร้างกลไกให้เราไปเรียกร้องรัฐในเชิงหน้าที่ ซึ่งเป็นการลิดรอนคุณภาพชีวิตที่ดีของเราจากรัฐธรรมนูญ

 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

 

แล้วรัฐธรมมนูญปี 2560 มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องแก้ไข ? 

กลไกในรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกเขียนขึ้นเพื่อผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ โดยผู้มีอำนาจใช้อำนาจผ่านรัฐธรรมนูญราวกับเป็นการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจผ่านกฎหมาย หรือใช้อำนาจผ่านประกาศคำสั่งเรื่องสิ่งแวดล้อมของคสช. ก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังเขียนรูปแบบเชิงอำนาจผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป เรื่องนโยบายหรือกรอบการพัฒนาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนไว้ด้วย ดังนั้นรัฐจึงเป็นผู้ตัดสินใจในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ แทนที่จะเป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากร และตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการที่อาจเกิดผลกระทบต่อคนในพื้นที่ได้เหมือนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีหลักการที่ดีสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

และยังมีนโยบายขนาดใหญ่อย่างแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอีก ซึ่งเกิดขึ้นในคำสั่งที่ 2/2560 จากคำสั่งของหัวหน้า คสช. และเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ. EEC แนวคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ แม้จะมีมาตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีก็จริง แต่ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้เนื่องจากมีเสียงคัดค้านค่อนข้างมาก

แต่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้กลับเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วในรัฐบาลปัจจุบัน นี่คือโครงสร้างอำนาจการพัฒนาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

ต่อมาคือโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” การที่ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถผลักดันหรือเปลี่ยนแปลงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะได้นั้นต้องผ่าน คณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งก็เชื่อมโยงกับรัฐบาลส่วนกลางไม่ใช่แค่ตัว ศอ.บต.หรือกลไกราชการท้องถิ่นเท่านั้น

 

ทำไมประชาชนและองค์กรอิสระถึงต้องออกมาเคลื่อนไหวให้เกิดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อย่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด

เพราะเมื่อรัฐบาลเข้ามาวางแผนจัดการขยะ ออกคำสั่งโดยหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ระบุว่ากิจการบางประเภทสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องดูผังเมือง ซึ่งกิจการส่วนใหญ่นั้นก็เป็นเรื่องการจัดการขยะ หลุมฝังกลบขยะ เผาขยะ และโรงไฟฟ้าขยะ เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและมลพิษ ควรมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพราะต้องคุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย แต่รัฐมองว่าพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่ของชุมชนเป็นข้อจำกัดที่จะมีกิจการเกี่ยวกับขยะ ดังนั้นจึงออกคำสั่งให้ยกเว้นได้ …

แผนการจัดการขยะที่รัฐจัดการแก้ไขกฎหมายผังเมืองนั้น ปัจจุบันปัญหาขยะก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เห็นภาพว่าปัญหาขยะลดลงเลย แถมเพิ่มความขัดแย้งกับคนในชุมชนที่ไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้ากำจัดขยะและหลุมฝังกลบ รัฐไม่มีแผนการจัดการขยะแบบ Zero Waste ที่ต้องลด,แยกขยะเลย ซึ่งข้อเสียของโรงไฟฟ้ากำจัดขยะนั้นคือจะเปลี่ยนขยะที่เป็นชิ้นให้เป็นมลพิษทางอากาศ

โรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่กระบี่

และรัฐยังออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขประเภทกิจการที่ต้องทำ EIA หรือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) ด้วย เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เดิมถ้าเกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องทำ EIA แต่ประกาศแก้ไขใหม่ว่า ให้ยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะ หมายความว่า โรงไฟฟ้าขยะพลังงานความร้อน 20 เมกะวัตต์ ก็ไม่ต้องทำ EIA  สิ่งเหล่านี้คือการใช้กฎหมาย ประกาศ ลดทอนมาตรการเชิงคุ้มครองทางด้านสิ่งแวดล้อมและนโยบายเปิดพื้นที่ ให้มีกิจการโรงงานขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ก็จริงอยู่ที่ทุกกิจการย่อมมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ควรต้องผ่านกระบวนการในเชิงป้องกันด้านมิติสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง สิทธิในการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ ใช้มิติการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนบางประเภท โดยเฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ยกเว้นกฎหมายที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบางประเภท นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องแก้ไข และเขียนใหม่เรื่องสิทธิการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนเป็นกรอบหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

จากการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 สะท้อนให้เห็นอะไรจากรัฐบาล ?

รัฐบาลยังมั่นใจว่าสามารถผูกขาดอำนาจได้โดยไม่ฟังเสียงประชาชน การลงชื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนกว่าแสนรายชื่อรัฐบาลก็ไม่เห็นความสำคัญ และรัฐสภาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ  ทั้งๆ ที่เสียงของประชาชนนอกสภาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญกันอย่างกว้างขวาง

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปิดทางการมีส่วนร่วมของประชาชน หากรัฐสภาเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ คลี่คลายลงด้วย ดังนั้นการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ใช่แค่การปิดทางในเรื่องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังปิดทางการพูดคุยถึงเส้นทางการเดินต่อของประเทศด้วย

 

จากกรณีหมู่บ้านบางกลอยจนถึงหมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล รัฐควรแก้ปัญหาเรื่องสิทธิของชุมชนในการอยู่กับป่าอย่างไร ?   

ทำไมชาวบ้านที่หมู่บ้านบางกลอยถึงไม่สามารถอยู่ในที่ที่เขาเกิดได้ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอยู่กันมาก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเสียอีก ทำไมสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในเรื่องสิทธิชุมชนในการอยู่ร่วมกับป่า ว่าจะบรรจุและรับรองสิทธิอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากรัฐต้องพูดถึงความชัดเจนในตัวหลักกฎหมายแล้ว รัฐต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนความเป็นมนุษย์ด้วย

ในทางกลับกันรัฐกลับอนุญาตให้นายทุนทำเหมืองแร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ได้ การทำเหมือง คือการใช้ทรัพยากรแล้วหมดไป แต่ชุมชนที่อยู่ในป่าไม่ทำลายทรัพยากรให้หมดแน่นอน เพราะพวกเขาต้องอยู่ร่วมกับทรัพยากร หากรัฐเข้ามาพูดคุยกับชุมชน ร่วมกันแก้ไขปัญหา ยังไงก็สามารถจัดการเรื่องป่าได้แน่นอน ที่ผ่านมารัฐอ้างกฎหมายและไม่แก้ไขตัวกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาคนกับป่า แสดงถึงความไม่จริงใจและใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์อะไรบางอย่าง

คิดว่ารัฐบาลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าเพียงพอหรือไม่ ?

คิดว่ารัฐไม่ได้ขาดความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่รัฐยังให้ความสำคัญกับการลงทุนมากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน

หากรัฐจะนำคนออกจากป่า ก็ต้องรับผิดชอบชีวิตของพวกเขาด้วย ไม่ใช่แค่รัฐจะดูแลป่าโดยไม่คำนึงถึงชีวิตคน ไม่ได้กำลังจะบอกว่าใครถูกหรือใครผิด เพราะบางพื้นที่ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยนายทุน ซึ่งก็ต้องจัดการไปตามกระบวนการต่อไป

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดการให้ได้คือ จะพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างไรโดยไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มองแค่เรื่องป่าไม่มีคน

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

 

ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ถึงความผิดปกติต่อกลไกนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถฟ้องร้องให้เกิดกระบวนการตรวจสอบได้อยู่ดี เพราะอะไร ?   

ก็ย้อนกลับมาที่ตัวรัฐธรรมนูญ มันค่อนข้างยากที่เราเห็นแต่โครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยว แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ เพราะกลไกองค์กรอิสระที่เป็นเหมือนส่วนสนับสนุนประชาชนได้หายไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจากองค์กรอิสระจะมาช่วยสนับสนุนหรือเป็นพี่เลี้ยงให้ประชาชน ที่ต้องการจะเสนอเรื่องกฎหมาย ซึ่งในขั้นตอนการเสนอนั้นจะมีข้อจำกัดบางเรื่อง ทำให้ประชาชนอาจจะเขียนในเชิงมิติกฎหมายไม่ถูก เช่น เชิงหลักการ เหตุผล หรือประเด็นต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในส่วนนี้ได้

องค์กรอิสระจะเป็นที่ปรึกษาของประชาชนในการดำเนินการฟ้องร้องต่างๆ หากประชาชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐอีกด้วย พอไม่มีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง กลไกต่างๆ ไม่ตอบสนองความต้องการให้ประชาชน ประชาชนจึงต้องลงถนนเพื่อส่งเสียงให้รัฐได้ยิน

 

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ได้เสนอไปจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ 

การเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดมีอยู่ 4 ฉบับ มีฉบับหนึ่งที่เสนอเรื่อง PRTR หรือ การเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเอง ได้ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศเสนอร่างกฎหมายตัวนี้มานานแล้ว เพื่อเป็นเครื่องมือให้ทางอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ การที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 , ปัญหาน้ำมีสารปนเปื้อน ฯลฯ สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องรู้คือ อากาศพิษมาจากไหน น้ำเน่าเสียมีสาเหตุจากอะไร เพราะหากจะแก้ไขปัญหาแล้วต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ

เมื่อตอนที่ผลักดัน พ.ร.บ. เรื่อง PRTR ในต่างประเทศมีกฎหมายนี้ใช้กันแล้ว เปิดเผยข้อมูลว่าโรงงานต่างๆ ปล่อยมลพิษอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ มีการรายงานแบบออนไลน์ตลอดเวลา เช่น บ้านเรามีโรงงานอยู่ใกล้และเป็นโรงงานที่เข้าข่ายต้องเปิดเผยข้อมูล เราสามารถเปิดแอปพลิเคชันดูได้เลยว่าตอนนี้โรงงานที่อยู่ใกล้เรากำลังปล่อยมลพิษชนิดใดอยู่ และหากเราได้กลิ่นสารเคมีรุนแรงผิดปกติก็สามารถแจ้งรัฐได้ทันที กลไกแบบนี้ทำให้รัฐได้ทราบถึงแหล่งมลพิษที่กระทบของประชาชนอย่างรวดเร็วด้วย หากที่ไทยทำได้แบบนี้ประชาชนกับรัฐย่อมแก้ไขปัญหาร่วมกันได้

แต่การเสนอกฎหมายนี้ในประเทศไทยก็ไม่คืบหน้าสักที ทั้งๆ ที่ก็มีองค์กรต่างประเทศและกรมควบคุมมลพิษมาสนับสนุนด้วย ไม่ใช่แค่ภาคประชาชนที่ช่วยกันผลักดัน

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดอาจไปกระทบกับกิจการหรือการลงทุนหลายหน่วยงาน แต่หากรัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเกิดการปฏิรูปปรับปรุงโครงสร้างกลไกในองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากผู้แทน“เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย” นำโดย รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. เมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563

 

ประเทศอื่นที่ประสบปัญหามลพิษเหมือนเรา มีระบบการจัดการอย่างไร ?

และคิดว่ารัฐควรแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนอย่างไร ?

ยกตัวอย่างประเทศจีน มีประเด็นเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศเยอะมาก แต่เขาก็ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการคมนาคมอย่างเร่งด่วน ปรับเรื่องการลงทุนภาคอุตสาหกรรม และจัดตั้งหน่วยที่ดูแลปัญหามลพิษโดยเฉพาะ

ประเทศไทยก็เกิดวิกฤตปัญหาด้านมลพิษทางอากาศทุกปี แต่ก็ไม่มีมาตรการการแก้ไขที่ชัดเจน อย่างกรุงเทพฯ แทนที่รัฐจะจัดการระบบขนส่งมวลชนให้ดีขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ค่ารถไฟฟ้ายังแพงมาก คุณภาพของรถเมล์ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน กลายเป็นว่าคนที่ยังพอมีทางเลือกก็เลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวกัน ดังนั้น รัฐต้องจัดงบประมาณมาสนับสนุนการขนส่งมวลชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่การคมนาคมมีปัญหา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงขนส่งมวลชนมากขึ้น

หรือเรื่องการเกษตรที่เกิดกรณีการเผาป่า ตอนนี้เหมือนกับรัฐและสังคมโทษว่าคนในพื้นที่เผาแล้วปล่อยให้เกิดมลพิษอย่างเดียว หากรัฐต้องการจะแก้ไขปัญหาจริงๆ ต้องเข้าไปดูว่าชาวบ้านเผาอะไร ถ้าชาวบ้านเขาไม่เผา หากลงทุนอย่างอื่นอาจจะต้องเป็นหนี้เพิ่มหรือเปล่า รัฐมีอะไรจะสนับสนุนหรือมีทางเลือกอื่นให้ชาวบ้านหรือไม่อย่างไร แทนการมาข่มขู่ชาวบ้านว่าจะจับเข้าคุกหากเผาป่า

ภาพถ่ายจากมุมรพ.สะเมิง โดย Sumit Athiprom จากเพจ WEVO สื่ออาสา

รัฐต้องศึกษาและทำความเข้าใจ แนะนำปรับเปลี่ยนการเผา มีมาตรการจูงใจให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ไม่กระทบกับรายได้ของชาวบ้าน และถ้าจับชาวบ้านไป กลับออกมาชาวบ้านก็เผาเหมือนเดิมเพราะชาวบ้านไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และปัญหา PM 2.5 ในแต่ละภาคย่อมมีสาเหตุของการเกิดปัญหาต่างกัน รัฐจะใช้การแก้ปัญหารูปแบบเดียวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภาคไม่ได้ รัฐต้องแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ จัดตั้งหน่วยแก้ปัญหาเฉพาะกิจทำงานศึกษาทำความเข้าใจกับประชาชน อาจจะต้องมีมาตรการที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และรัฐต้องสื่อสารกับประชาชนโดยการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นพิษ PM.2.5 และมลพิษอื่นๆ ด้วย

ไฟป่าที่บ้านห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จากเพจ WEVO สื่ออาสา

 

ยังมีความหวังในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีในรัฐบาลชุดนี้ไหม ?

ในปัจจุบันเราเห็นแล้วว่ากลไกโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายนโยบายต่างๆ นำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่ส่งเสริมเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และไม่มีกฎหมายที่เอื้อต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าเรายอมเป็นแบบนี้ต่อไป ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจที่ไม่ถูกทางแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ตอนนี้ไม่คาดหวังกับกระบวนการแก้ไขกฎหมายแล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลชุดนี้ เห็นได้จากการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 กฎหมายที่ออกแบบกลไกมาเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่เราคาดหวังกับประชาชนที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียงในปัจจุบันมากกว่า ถ้ารัฐบาลไม่สนใจคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐบาลก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่บริหารต่อ กำหนดกลไกที่จะนำไปสู่การสร้างรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนโครงสร้างในรัฐธรรมนูญก่อน

การชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งที่เราสนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้เห็นพลัง ถ้าใครคิดว่ามีทางอื่นที่จะส่งเสียงก็อยากให้ทุกคนตระหนักว่าเรามีสิทธิที่จะส่งเสียง สื่อสารออกมาว่าตอนนี้คุณรับไม่ได้กับการจัดการหรือวิธีการแก้ปัญหาของรัฐอย่างไรบ้าง เชื่อว่ามีประชาชนอีกหลายส่วนก็รู้สึกไม่พอใจกับคุณภาพชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้ หากทุกคนรวมตัวรวมกลุ่มกันร่วมกันส่งเสียงออกมาว่าต้องการอะไร มันจะเป็นเสียงที่ดังมากขึ้นเพื่อให้รัฐบาลได้ยินว่าต้องฟังเสียงประชาชน

 

จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ?

ต้องทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น ประชาชนทุกคนสามารถเขียนได้ เคยจัดกิจกรรมให้ประชาชนถ้าเขียนรัฐธรรมนูญได้อยากเขียนอะไร จะเป็นพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่เขามีส่วนร่วมในการเขียนด้วย แต่ในส่วนของการแปลงเป็นคำทางกฎหมายก็ต้องมีกลไกที่จะต้องเข้ามาช่วยเขียน ถึงอย่างไรก็ต้องอธิบายความเป็นรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรู้สึกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของเราทุกคน

 

จากการทำงานกับประชาชนมายาวนานคิดว่าประเทศไทยควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการหรือผลักดันโครงสร้างในรัฐธรรมนูญไปในทิศทางไหนดี ?   

ควรผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียม เชื่อว่าหากทุกคนมีสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีบ้าน ที่อยู่อาศัย สิทธิในการศึกษาอย่างเท่าเทียม คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีและประเทศก็จะพัฒนาตาม ถ้าทุกคนมีการศึกษาก็จะมีพื้นฐานการเริ่มต้นชีวิตที่ดี นี่คือการทลายความเลื่อมล้ำในสังคม

ถ้ามีเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ประชาชนจะถูกปลูกฝังเรื่องจิตสำนึก มีความเคารพกัน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมว่าเกี่ยวข้องกับเราและโลกอย่างไร ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าโดยที่ประชาชนไม่ละเมิดสิทธิกัน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และยั่งยืน

 

ปรากฎการณ์คนหนุ่มสาวลุกมาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีความหวังเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นบ้างไหม ?  

หากมองในเชิงความหวัง ก็มีความหวังขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ยินเสียงคนรุ่นใหม่ ในมิติสิ่งแวดล้อมเองในปัจจุบัน ในคลับเฮาส์มีคนรุ่นใหม่,นักเรียน,นักศึกษาเข้ามาคุยกันในกลุ่ม ยังเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่อาจจะต้องใช้เวลา การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วในเชิงความคิดคนรุ่นใหม่ แต่ในปัจจุบันเราก็ต้องวิเคราะห์ในเรื่องโครงสร้างว่ายังมีปัญหา ต้องวิเคราะห์กันไปเรื่อยๆ ช่วยกันส่งเสียงไปเรื่อยๆ

เมื่อมีชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายรักษ์จะนะกับหมู่บ้านทะลุฟ้าในกรุงเทพฯ แล้วคนรุ่นใหม่ได้ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ได้เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ เป็นช่วงเวลาแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็สนใจประเด็นปัญหาเชิงพื้นที่และยังสามารถเชื่อมโยงประเด็นได้ด้วย คิดว่าต่อไปคนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นประชาธิปไตย เมื่อเขาได้เข้าไปอยู่ในกลไกโครงสร้างอำนาจเขาก็จะมีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศต่อไป 

 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)