ซื้ออาวุธแล้ว อย่าลืมทหารเกณฑ์! | ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

รายงานข่าวทางทหารชิ้นหนึ่งในภูมิภาคของเรา ที่ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างมากกับครอบครัวของทหารเรืออินโดนีเซียทุกท่านก็คือ ข่าวการสูญเสียของเรือดำน้ำนังกาลา-402 (The Nanggala-402) พร้อมกับลูกเรือ 53 ชีวิตของกองทัพเรืออินโดนีเซีย และล่าสุดได้พบว่า เรือดำน้ำดังกล่าวแตกออกเป็นสามท่อน จมลงในบริเวณทะเลบาหลีที่ความลึก 850 เมตร (หรือ 2,790 ฟุต) ซึ่งเป็นความลึกที่เกินกว่าขีดความสามารถของเรือดำน้ำดังกล่าว

ภาพจากอินสตาแกรม-Evgenia-Zibrova

เรื่องราวความสูญเสียของกองทัพเรืออินโดนีเซียครั้งนี้ เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับรัฐบาลในภูมิภาคเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งในสภาวะที่กองทัพต้องเผชิญกับปัญหาบางประการนั้น เห็นได้ชัดว่า ความสนับสนุนอุปกรณ์ที่ทันสมัยของระบบค้นหาเรือดำน้ำจากประชาคมระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ

โศกนาฏกรรมของเรือดำน้ำอินโดนีเซียจึงน่าจะเป็นข้อเตือนใจที่ดีสำหรับ “นักเรือดำน้ำนิยม” ที่อธิบายยุทธศาสตร์ทางทะเลของไทย เพียงด้วยเรื่องของการมีเรือดำน้ำเท่านั้น

ยิ่งเมื่อต้องพิจารณาปัญหาความมั่นคงไทยในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอย่างรุนแรงเป็นระลอกที่ 3 นั้น ความต้องการมีระบบอาวุธสมัยใหม่ที่มีราคาแพงจึงเป็นประเด็นที่อาจจะต้องนำมาคิดด้วยใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในยามที่ประเทศต้องการงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้ในทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากนั้น กองทัพกลับสนใจแต่เพียงว่า จะต้องจัดซื้ออาวุธตามที่ได้รับงบประมาณมาแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสนใจกับ “สภาวะแวดล้อมภายในที่เป็นจริง” ของสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามชุดใหม่” ที่เป็นเรื่องของ “สงครามโรคระบาด”

ดังปรากฏในการแถลงข่าวของกองทัพบกว่า ที่กองทัพซื้ออาวุธ ก็เป็นไปตามการ “ใช้งบประมาณตามที่ได้รับการจัดสรร” และในการนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ “กำชับทุกหน่วยทหารว่า งบประมาณอะไรที่สามารถปรับมาใช้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ ก็ขอให้พิจารณา” (ข่าวสดออนไลน์, 26 เมษายน 2564)

คำตอบเช่นนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องสนใจสิ่งที่เป็น “ภัยคุกคามจริง” ของสังคมไทย และจะเดินหน้าจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่อไป แต่หากจะมีงบประมาณส่วนใดที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ก็เป็นเพียงการ “ขอ” ให้ผู้บังคับหน่วยไปพิจารณากันเอง ซึ่งเท่ากับเป็นคำตอบว่า ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพไม่ได้มีนโยบายอะไรที่ชัดเจน และโยนภาระในเรื่องนี้ให้ผู้บังคับหน่วยในระดับรองลงไปพิจารณากันเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่ผู้บังคับหน่วยต่างๆ จะตัดสินใจตัดงบประมาณของตนเอง อาจจะไม่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

คำแถลงของกองทัพบกเช่นนี้จึงไม่ได้มีสาระอะไร หากเป็นเพียงการแถลงยืนยันว่า กองทัพบกจะซื้ออาวุธตามที่ต้องการ!

น่าสนใจอย่างมากว่า ผู้นำทหารไทยไม่มีชุดความคิดอื่น นอกจากยึดมั่นอยู่กับ “ลัทธิอาวุธนิยม” ที่เชื่อว่า อาวุธเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างในทางทหาร จนแม้สถานการณ์โควิดทวีความรุนแรงขึ้น ผู้นำกองทัพก็ยังอยู่กับความคิดในการซื้ออาวุธ โดยไม่ตระหนักว่า ประเทศไทยวันนี้ไม่ได้เผชิญกับโจทย์ความมั่นคงที่เป็นเรื่องของ “สงครามระหว่างประเทศ” หรือปัญหาของ “สงครามภายในประเทศ” แต่อย่างใด

หากสถานการณ์ที่เป็นจริงและชัดเจนคือ ไทยและรวมทั้งประเทศต่างๆ ในเวทีโลก ล้วนเผชิญภัยคุกคามชุดเดียวกัน คือ “สงครามโรคระบาด” จากเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ในสงครามชุดนี้ ทุกประเทศทั่วโลกล้วนแต่ต้องการอาวุธที่สำคัญที่สุดคือ “วัคซีน” … วันนี้ไม่มีประเทศไหนในเวทีโลกที่จะไม่แสวงหาวัคซีน และ “การแข่งขันวัคซีน” ได้เข้าแทนที่ “การแข่งขันสะสมอาวุธ” ในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งวัคซีนกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงของประเทศวันนี้ไม่ได้เกิดจากการซื้ออาวุธ หรือการสะสมอาวุธแต่อย่างใด

บรรดาผู้ที่สมาทาน “ลัทธิอาวุธนิยม” ควรจะตระหนักอย่างมากว่า ปัญหาความมั่นคงไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของภาครัฐในการฟื้นฟูชีวิตของผู้คนในสังคม ปัญหาความมั่นคงไทยจึงไม่ใช่การเตรียมรับภัยสงคราม และเร่งจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ หากแต่เป็นปัญหาการสร้างสังคมด้วยการเสริมสร้าง “ความมั่นคงของมนุษย์” ในมิติต่างๆ รวมทั้งการสร้าง “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” อีกด้วย

ดังนั้น การออกมาแถลงข่าวของกองทัพบก ด้วยคำอธิบายว่า ที่กองทัพซื้ออาวุธเป็นเพราะมีงบประมาณถูกจัดสรรไว้ให้แล้วนั้น จึงสะท้อนให้เห็นถึงชุดความคิดของผู้นำทหารในสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องการซื้ออาวุธ ปัญหาเช่นนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการละเลยปัญหาใหญ่ที่กองทัพอาจต้องเผชิญเฉพาะหน้าคือ การเกณฑ์ทหารที่เพิ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมานั้น ทหารที่ถูกเกณฑ์ในผลัดแรกมีประมาณ 50,000 นาย และอาจจะมีจำนวนสำรองอีกร้อยละ 10

กำลังพลผลัดแรกกำลังจะถูกนำเข้าสู่การฝึกในเบื้องต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งในการนำเอากำลังพลัดแรกเข้าสู่ชีวิตของความเป็นทหารนั้น กำลังพลเหล่านี้จะ “พักร่วมกัน ฝึกร่วมกัน กินร่วมกัน” กล่าวคือ ชีวิตในค่ายทหารจะเป็นแบบ “กิจกรรมรวมหมู่” ซึ่งการฝึกในเบื้องต้นเช่นนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นกำลังพลทหารใหม่จะถูกส่งแยกย้ายไปตามหน่วยต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ขึ้นกองร้อย”

คำถามสำคัญในสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน คือ ทหารเกณฑ์ผลัดแรกเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้วหรือไม่ เพราะหากกองทัพละเลยปัญหาเช่นนี้ สิ่งจะที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ก็คือ ค่ายทหารอาจกลายเป็น “คลัสเตอร์ทหาร” ได้ไม่ยาก

วันนี้ถ้าเหล่าทัพและกระทรวงกลาโหมไม่คิดจะช่วยเหลือด้วยการตัดลดงบประมาณทหาร เพราะเชื่อด้วยคำอธิบายว่า เป็นงบที่ถูกจัดไว้ให้แล้ว กองทัพจะใช้อย่างไรก็ได้ในกิจการของทหาร … แต่ถ้าจะใช้อย่างไรก็ได้ภายในกองทัพแล้ว ก็อยากขอให้เหล่าทัพและกระทรวงกลาโหมหันมาสนใจปัญหาการระบาดของโควิด-19 กับทหารเกณฑ์ใหม่ด้วยการหาวัคซีนให้กับกำลังพลเหล่านี้

สิ่งที่นักการทหารต้องตระหนักเสมอก็คือ ต่อให้กองทัพมีอาวุธสมรรถนะสูงเพียงใด ก็อาจไม่มีความหมายเลยถ้ากำลังพลติดโรคระบาด และกองทัพไม่มีทางเข้มแข็งในทางทหารได้เลยในสังคมที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด … การแสวงหาอาวุธจึงเป็นเพียง “ภาพลวงตา” ของการสร้างพลังอำนาจแห่งชาติในยุคโควิด-19!