10 เมษา 53 “ขอคืนพื้นที่” ประวัติศาสตร์สลายม็อบแดง สมรภูมิ “แยกคอกวัว” และตัวแปร-ทหาร “แตงโม”

(Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP)

เสียงปืนและชีวิตของ “คนเสื้อแดง” และ “ทหาร” ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ทำให้ “ประชาธิปไตย” ของไทยก้าวเข้าสู่ความมืดมิดอีกครั้งหนึ่ง

บทเรียน 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ 17-19 พฤษภาคม 2535 ไม่ได้ทำให้คนไทยก้าวข้าม “ความรุนแรง” ไปได้

การตัดสินใจสลาย “ม็อบเสื้อแดง” ที่สะพานผ่านฟ้าฯ ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 21 ศพ และผู้บาดเจ็บอีก 800 กว่าคน

ในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต 1 ราย ทหาร 4 นาย และคนเสื้อแดง 16 ศพ

“อภิสิทธิ์” กลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “นายกฯ มือเปื้อนเลือด” ไปในพริบตา

(Photo by GOVERNMENT HOUSE / GOVERNMENT HOUSE / AFP)

ประวัติศาสตร์จารึก สลายม็อบแดง 10 เมษาฯ สมรภูมิ “แยกคอกวัว” และตัวแปร-ทหาร “แตงโม”

จากปฏิบัติการฝ่ายรัฐบาลภายใต้วาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศจากกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เมษายน

ผลลัพธ์คือมีผู้เสียชีวิต 21 ศพ เป็นพลเรือน 16 ศพ และทหาร 5 นาย บาดเจ็บสองฝ่ายรวม 863 คน

สื่อต่างประเทศระบุเป็นเหตุการณ์เลวร้ายมากที่สุดของการเมืองไทยในรอบ 18 ปี นับจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา

ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” หรืออีกความหมายหนึ่งคือการ “สลายม็อบ” ครั้งประวัติศาสตร์นี้

มีลางบอกเหตุมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แถลงประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

มอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

วัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อคืนความเป็นปกติสุขให้ชาวกรุงเทพฯ 2.ระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุให้ประชาชนกระทำการผิดกฎหมาย

3.เพื่อให้สามารถดำเนินคดีได้โดยเฉพาะกับแกนนำคนเสื้อแดง

และ 4.เพื่อระงับยับยั้งเหตุวินาศกรรม

ทั้งหมดคือการ “ยกระดับ” ต่อสู้กับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เคลื่อนพลเข้ายึดสี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางด้านธุรกิจใจกลางกรุง เป็นเวทีชุมนุมกดดัน “ยุบสภา” คู่ขนานไปกับเวทีชุมนุมสะพานผ่านฟ้าฯ

ต่างฝ่ายต่างผลักดันตัวเองมาอยู่ในตำแหน่งประจันหน้า อุณหภูมิความรุนแรงถูกเร่งเร้าถึงขีดสุด

สุดท้ายจึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ “การเมืองหลั่งเลือด” วันที่ 10 เมษายน

โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดในรัฐบาลที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ หรือแม้แต่ตัวนายอภิสิทธิ์เอง

ก็ไม่แน่ว่าจะคาดคิดมาก่อนเช่นกัน

ก่อนหน้ามิคสัญญี แกนนำคนเสื้อแดงอ้างแหล่งข่าวจาก “ทหารแตงโม” ที่คับแค้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลมาตลอดว่า

รัฐบาลมีแผนจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นจะดำเนินการตัดสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม “พีเพิลแชนแนล” ของคนเสื้อแดง เพื่อปิดหูปิดตาประชาชนก่อนใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม

แต่ได้รับการปฏิเสธจากแกนนำรัฐบาลมาตลอด

อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นาน รัฐบาลได้ดำเนินการทุกสิ่งอย่างตามที่แกนนำเสื้อแดงอ่านหมากเอาไว้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นหลักฐานยืนยันว่า “ทหารแตงโม” มีตัวตนจริง

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ทหารแตงโมนี้เองต่อมาคือ “ตัวแปร” สถานการณ์วันที่ 10 เมษายน

เหตุการณ์ทหารเข้ายึดสถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อคืนวันที่ 8 เมษายน และตัดสัญญาณพีเพิลแชนแนลทิ้ง

จนเกิดฉากปะทะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างทหารกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยกขบวนมาทวงช่องทีวีคืนในวันรุ่งขึ้น 9 เมษายน ก่อนจบลงด้วยทหารเป็นฝ่ายถูกตีแตกกระเจิง

มีรายงานข่าวจากที่ประชุม ศอฉ. ในช่วงเย็นวันนั้น

ว่านายอภิสิทธิ์แสดงอารมณ์โกรธอย่างมากหลังสถานีดาวเทียมไทยคมถูกกลุ่มเสื้อแดงยึดกลับไป รวมทั้งไม่สามารถ “ขอคืน” พื้นที่แยกราชประสงค์กลับมาได้

พร้อมประกาศต่อที่ประชุมว่าภายใน 2-3 วันนี้จะมีข่าวดี

นายอภิสิทธิ์ยังออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนเข้ายึดสถานีไทยคม เพื่อบังคับเปิดสัญญาณพีเพิลแชนแนล ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเหิมเกริม

“ผมและผู้ที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองทุกคน ไม่มีสิทธิท้อถอยและต้องเดินหน้าทำให้บ้านเมืองปกครองด้วยกฎหมาย นี่คือภารกิจเดียวที่เราต้องทำ ส่วนปัญหาการเมืองหรืออื่นใดนั้น ต้องแก้ไขกันทีหลัง”

จุดนี้เองทำให้มีการวิเคราะห์ว่าคือสัญญาณชัดเจนที่สุด ว่านายอภิสิทธิ์กำลังคิดอะไรอยู่

เพียงแต่ไม่นึกว่านายอภิสิทธิ์จะกล้าทำเช่นนั้นจริงๆ

นอกจากคนเสื้อแดงที่มีจำนวนมากและปักหลักชุมนุมกันอย่างเหนียวแน่นแล้ว

ความผิดพลาดของรัฐบาลเริ่มจากการ “ตั้งธง” ว่าจะต้องสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์

รัฐบาลทึกทักเอาว่าคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด อาจเหนื่อยล้ากับการชุมนุมอันยาวนานมาเกือบ 1 เดือนเต็ม จึงต้องการกลับสู่ภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์

โดยละเลยข้อมูลจากหน่วยข่าวของตำรวจที่รายงานว่าเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมในช่วงหลัง กว่าครึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล

โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่า ส.ก.-ส.ข. และ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ยังสามารถสนับสนุนกำลังพลในส่วนนี้ได้กว่า 10,000 ถึง 20,000 คนในยามจำเป็นต้องเรียกใช้

(Photo by GOVERNMENT HOUSE / GOVERNMENT HOUSE / AFP)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แสดงความมาดมั่นว่าต้องการขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อเปิดให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้สำหรับการจัดงานฉลองสงกรานต์

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ให้สัมภาษณ์สำทับว่า ก่อนเข้าสู่เทศกาลวันสงกรานต์ กลุ่มคนเสื้อแดงจะต้อง “ม้วนเสื่อกลับบ้าน” อย่างแน่นอน

ปฏิการบัติการสลายม็อบเสื้อวันที่ 10 เมษายน

ฝ่ายรัฐบาลออกคำสั่งลับเรียกใช้บริการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ค่ายพรหมโยธี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีชื่อเรียกขานว่า “นักรบบูรพา” หรือ “บูรพาพยัคฆ์” นำโดย พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ.

เพราะเชื่อว่า “สั่งง่าย” กว่าหน่วยอื่น

เนื่องจากทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. รวมถึง พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1

ล้วนแต่เป็นนายทหารที่มีเส้นทางเติบโตจาก “บูรพาพยัคฆ์” นี้ด้วยกันทั้งสิ้น

อีกทั้งยังเคยมีผลงานในการสลายม็อบเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์เลือดเมื่อเดือนเมษายน 2552 มาแล้ว ทุกอย่างจึงวางใจได้

แผนการใช้กำลังเข้า “แย่งชิง” พื้นที่สะพานผ่านฟ้าฯ และถนนราชดำเนินจึงถูกกำหนดขึ้นให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 โมงเย็นวันที่ 10 เมษายน

ก่อนที่ทุกอย่างจะเกิดความผิดพลาดนำมาสู่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

เหตุการณ์นองเลือดวันที่ 10 เมษายน

เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเวลาบ่ายโมงเศษ เมื่อทหารกองทัพภาคที่ 1 เปิดฉากใช้กำลังผลักดันกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยการฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

กระทั่งเกิดปะทะบานปลายไปยังหลายจุดพื้นที่รอบๆ เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยเฉพาะบริเวณ “สี่แยกคอกวัว” คือจุดปะทะเดือดและเกิดความสูญเสียมากที่สุด

แต่จุดพลิกผันรุนแรงที่ทำให้ปฏิบัติการของรัฐบาลครั้งนี้ล้มเหลวคือกรณี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการทหาร พล.ร.2 รอ. ถูกยิงด้วยกระสุนเอ็ม 79 ที่ศีรษะ เสียชีวิตภายในศูนย์บัญชาการชั่วคราวภายในโรงเรียนสตรีวิทยา ขณะที่ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ. ถูกสะเก็ดระเบิดขาหัก 3 ท่อน

จากฝีมือกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายซึ่งได้รับการฝึกฝนยุทธวิธีการรบและซุ่มยิงมาอย่างดี

ซึ่งต่อมามีการระบุว่าอาจจะเป็น “ทหารในราชการ” แต่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและบูรพาพยัคฆ์ หรือไม่ก็เป็นทหารนอกราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว

เมื่อผู้บังคับบัญชาบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความระส่ำระสายอย่างหนัก เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงลุกฮือต่อสู้ ทหารซึ่งเป็นรองด้านขวัญและกำลังใจอยู่แล้ว จึงเป็นฝ่ายถอนกำลังไปในที่สุด

บางคนใน ศอฉ. เสนอต่อนายอภิสิทธิ์ ให้ยุติแผนปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงใกล้เวลา 6 โมงเย็น เพราะเห็นว่าไม่สามารถต้านทานกำลังกลุ่มคนเสื้อแดงได้

อีกทั้งใกล้เข้าสู่ช่วงค่ำซึ่งเป็นเวลาเหมาะต่อการฉวยโอกาสสวมรอยสร้างสถานการณ์ของ “กลุ่มมือที่สาม” อย่างยิ่ง

แต่นายอภิสิทธิ์ต้องการให้การปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จ จึงไม่มีคำสั่งยกเลิก

ประกอบกับท่าทีแข็งกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. ที่ยืนยันว่าทุกอย่าง “ต้องเรียบร้อย” ภายในคืนวันนั้น

กระทั่งเกิดกรณีสมรภูมิสี่แยกคอกวัวขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่ม นายอภิสิทธิ์จึงหารือกับ รมว.กลาโหมและหน่วยงานด้านความมั่นคง

ก่อนตัดสินใจยุติภารกิจเมื่อเวลา 3 ทุ่ม

ความผิดพลาดของรัฐบาลจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

 


เรียบเรียงจาก นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1548 (วางแผงเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553)