สะท้อนตัวตน ผศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี กับ ผลงานศิลปะการเมืองอันแหลมคม 2475 เคยอดข้าว112 ชั่วโมง

ชื่อของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกกล่าวขานไปทั่ว หลังจากอาจารย์ได้ออกมาทวงถามข้อเท็จจริงต่อคณะผู้บริหารเมื่อ ผู้บริหาร คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ รื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษาโดยไม่ชี้แจง  พร้อมปะทะคารมกับบรรดาผู้บริหาร

หลังอาจารย์ได้ออกมายืนเคียงข้างนักศึกษา เพื่อร่วมเจรจากับบุคลากรนานเกือบ 1 ชั่วโมง พร้อมกับกล่าวประโยคที่มีการแชร์อย่างแพร่หลายเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาว่า “เป็นศิลปิน ต้องไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร…” สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งพากันปรบมือกันเกรียวกราว

นอกจากนี้ ยังมีประโยคที่ว่า “อย่าทำอย่างนี้อีก ศิลปะอับอายมามากพอแล้ว เพราะคนที่ไม่รักเสรีภาพแบบนี้” รวมถึงกล่าวถึงคณบดีว่า “เป็นหน้าที่อะไรของคณบดีต้องมาเดินเก็บงานศิลปะ ที่ผ่านมาเป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ หนึ่ง เคารพคน สอง เคารพศิลปินด้วยกัน สาม เคารพผลงานศิลปะ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากนักศึกษา ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากคนไม่ได้เรียนศิลปะ รู้จักเคารพมันบ้าง นี่อะไร อำนาจบาตรใหญ่”

ครั้งหนึ่ง ผศ.ดร.ทัศนัย ได้เคยมีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะชื่อว่า WHAT YOU DON”T SEE WILL HURT YOU

คนในวงการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติทางสังคมและการเมืองผ่านการทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ทัศนัยเชื่อว่างานศิลปะนั้นเป็นมากกว่าการสะท้อนตัวตนของศิลปินเอง

หากแต่ยังต้องเป็นปรอทในการวัดอุณหภูมิของสังคมด้วย

เสรีภาพมีความสำคัญยิ่งในการสร้างผลงานทางศิลปะ

และประชาธิปไตยคือหนทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น

ในปี 2544 เขาร่วมกับเพื่อนศิลปินอีกสามคนทำ “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หรือเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทัศนัยได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ คสช. หยุดการจำกัดเสรีภาพนักวิชาการและนักศึกษา

โดยกล่าวว่า ถ้าแม้แต่เสรีภาพทางวิชาการยังถูกละเมิด เราก็ไม่มีทางหวังได้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกแบบอื่นๆ จะได้รับการเคารพ

นิทรรศการศิลปะของทัศนัยชุดนี้ ดำเนินอยู่ในการท้าทายขนบของการมองและพาผู้ชมไปสู่สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้อย่างชัดเจน

ทัศนัยปักหมุดงานศิลปะชุดนี้จากการค้นหาภาพถ่ายสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและการสร้างสังคมไทยให้ทันสมัยเพื่อนำมาเป็นฉากหลังสุดของชิ้นงาน

อาทิ ภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475, สถานีรถไฟหัวลำโพง และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ทัศนัยมีความเชื่อว่า สถาปัตยกรรมเหล่านี้มิได้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ก่อรูปด้วยคอนกรีตจนมีรูปทรงงามแปลกตา

ทว่า ถูกก่อขึ้นมาด้วยสถาปัตยกรรมทางสายตาของผู้คนที่เห็นพวกมันยืนเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านในสังคมและความรุนแรงทางการเมืองหลายช่วงสมัย

โดยเขาทำการเปลี่ยนพื้นที่ฉากหน้าของสถาปัตยกรรมหรือพื้นที่เกิดเหตุทางการเมืองให้เป็นเสมือนโรงมหรสพขนาดใหญ่ ด้วยการอำพรางภาพเหล่านั้นให้พร่าเลือนด้วยสีสัน เส้นสาย สัญลักษณ์ ร่องรอยขีดทับ ตัวหนังสือ และพื้นผิวขรุขระ ที่เกิดจากการใช้วัสดุต่างๆ อย่างกระดาษหลากสีสัน กระดาษพิมพ์ตัวหนังสือ วัสดุต่างๆ อย่างทองแดง ไปจนถึงผ้าจีวร และหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สี มาแปะทับและปะติด (Collage) อันเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของการประดับประดาในงานเฉลิมฉลองตามประเพณีไทย

จนคล้ายกับงานจิตรกรรมแบบนามธรรม (Abstract) และกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract) ที่ให้ความรู้สึกทั้งตระการตาและชวนหดหู่

กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันของช่วงเวลาต่างๆ ที่ถูกกำหนดด้วยประสบการณ์ร่วมทางการเมืองซึ่งถูกจดจำในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปของผู้ชมแต่ละคน

“งานชุดนี้มันเกิดมาจากความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ผมรู้สึกคนเดียว หากแต่เป็นคนจำนวนมากในสังคมนี้ที่รู้สึกถึงการที่ประชาชนหรือสามัญชนไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าไปร่วมกำหนดพัฒนาการทางสังคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือแม้กระทั่งการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง และก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ได้หมายความว่าสังคมไม่ได้มีการตื่นตัว หรือว่าประชาชนไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะกลไกทางวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่มันไม่เห็นความสำคัญของประชาชนหรือสามัญชน ซึ่งชื่องานมันมาจากความคิดตรงนี้”

ที่บอกว่า “สิ่งที่เรามองไม่เห็นกำลังทำร้ายเรา” มันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นซะเลยทีเดียว แต่เราไม่สามารถจะตัดสินได้ว่า สิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่เรารู้นั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเราไม่เคยเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบ ศึกษา หรือขุดคุ้ยอย่างจริงจัง

ถึงแม้จะมีความพยายามของหลายคนที่จะศึกษามัน แต่มันก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ชัดเจน

ในสังคมที่พัฒนาแล้ว กลไกทางสังคมและวัฒนธรรมมันเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และมีช่องทางที่จะพูดหรือแสดงออก ไม่ว่าสิ่งที่พูดนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม สังคมมันจะตรวจสอบกันเอง ว่าสิ่งที่แต่ละคนพูดมันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือแค่ไหนอย่างไร

“ผมว่าตรงนี้ต่างหากที่ทำให้เราเห็นความเป็นจริงทางสังคม มันไม่ได้มาจากงานวิจัยของนักวิชาการ หรือหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเท่านั้น มันเป็นเรื่องของทุกคน”

“ผมคิดว่าโครงสร้างทางวัฒนธรรมการเมืองไทยมันไม่มีกลไกแบบนี้ มันก็เลยทำให้เราคิดว่าสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งที่เราไม่เห็น มันเป็นแค่เรื่องเล่าที่พร่าเลือนและยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน และผมคิดว่าการที่เราอยู่กับสังคมที่มันไม่มีอะไรชัดเจนเลย แม้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนเนี่ย ผมว่ามันเจ็บปวดนะ”

อย่างในนิทรรศการนี้มันก็มีทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี พ.ศ.2519, พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535, การสลายการชุมนุมปี พ.ศ.2553 หรือเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 ของคณะราษฎร หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับหัวลำโพงก็ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง

แต่มันกำลังพูดถึงโครงสร้างอำนาจที่มันเป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมือง

อย่างกรณีหัวลำโพงซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย รัชกาล 5 ตัวสถานีหัวลำโพงเองมันก็เป็นสัญลักษณ์ของการรวมอำนาจเข้าสู่รัฐศูนย์กลาง จนทำให้เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ และเกิดการเดินทางของทรัพยากร/ผู้คนจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวง

และจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้ถูกมองว่าไม่ได้มีสิทธิมีเสียงหรือมีความเป็นคนเทียบเท่ากับชนชั้นกลางในเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการถูกตราหน้าว่าไม่มีความรู้ก็ดี เสียภาษีน้อยก็ดี

หัวลำโพงมันมีนัยยะอะไรหลายๆ อย่างทางสังคมที่มันซ่อนอยู่จำนวนมาก ซึ่งมันไม่ได้เป็นนัยยะทางการเมืองโดยตรง

แต่มันพูดถึงความรุนแรงทางสังคมและโครงสร้างของชนชั้นนำ

เพราะฉะนั้น งานชิ้นนี้จึงไม่ใช่งานที่มุ่งเป้าในการนำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

“งานชุดนี้จริงๆ ผมไม่ได้เริ่มจากความคิดว่าจะทำให้มันเป็นนามธรรม หรือกึ่งนามธรรมเป็นอันดับแรก แต่ผมเริ่มต้นจากความคิดที่จะทำให้มันเป็นมหรสพ เป็นความตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพบว่ามันฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองไทย เวลาเราเข้าไปร่วมในมหรสพเนี่ย สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าเป็นลักษณะของมันคือมันมีความยิ่งใหญ่ มีความมหึมา มีความอลังการ”

“ขณะเดียวกันมันมีความน่ากลัว มีความพึลึกพิลั่น มีความน่าสยดสยองอยู่ในตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นมหรสพในรูปแบบไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เวลามีการจุดพลุ เราจะตกใจกับเสียงพลุ แสงไฟ และรู้สึกไม่มั่นใจว่าพลุมันจะระเบิดใส่เราหรือไม่ และในอีกด้านนึง ความยิ่งใหญ่และความน่าสะพรึงกลัวของมหรสพมันทำให้ตัวเรารู้สึกเล็กลง จนแทบจะไม่มีตัวตน และหลงทางไปกับความตื่นตาตื่นใจของมัน”

“นักวิชาการอย่าง กีย์ เดอบอร์ด ก็พูดถึง The Society of the Spectacle หรือ สังคมแห่งมหรสพ โดยที่เขาพยายามที่จะเชื่อมโยงความเป็นมหรสพสมัยใหม่เข้ากับลัทธิทุนนิยม เขาบอกว่าบทบาทของปัจเจกชนในสังคมทุนนิยมที่พัฒนาแล้วนั้นเป็นเพียงแค่ผู้ชมที่เฝ้ามองสิ่งที่ตระการตาโดยที่เราไม่สามารถที่จะใช้เหตุผล หรือมีสติหรือสำนึกอะไรกับมัน เราเป็นแค่ผู้ชมที่ไม่มีความรู้สึกรู้สา ซึ่งผมรู้สึกว่าสังคมไทยมันไม่ใช่แค่สิ่งที่ กีย์ เดอบอร์ด พูด แต่มันมีเรื่องความมหัศจรรย์แฝงอยู่ในลักษณะของความเป็นมหรสพด้วย”

“ซึ่งตรงนี้ผมก็ค้นพบว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า “สัจนิยมเหนือจริง” (Magical Realism) ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของวัฒนธรรมไทยที่มันลอยเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางสังคมหรือการทำงานของรัฐในรูปแบบไหนก็ตาม หน้าที่สำคัญของชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองก็คือ การประกอบพิธีกรรม”

“เราจะเห็นว่าสังคมไทยที่ถึงแม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นสังคมที่พัฒนาผ่านความเป็นสมัยใหม่มาสักระยะนึงแล้ว แต่ยกตัวอย่างในเหตุการณ์น้ำท่วม แทนที่ผู้ว่าฯ กทม. จะใช้หลักเหตุผลหรือวิทยาศาสตร์ในการจัดการน้ำ แต่กลับไปบวงสรวงทำพิธีไล่น้ำแทน หรือแม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อ เราก็จะเห็นว่ามีตะกรุด มีพระเครื่องขายอยู่”

“อันนี้มันคือภาพของสังคมไทยที่แม้จะมีรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปกี่ฉบับ แต่สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ปัจเจกชนไม่สามารถใช้เหตุผลได้ เพราะรูปแบบของวัฒนธรรมแบบนี้ และมโนทัศน์แบบนี้มันก็ผลิตซ้ำเป็นภาพแทนฉายแสดงอยู่ทุกวี่ทุกวันในรูปแบบต่างๆ ในสื่อสาธารณะก็ดี แม้กระทั่งวัฒนธรรมการจัดแสดงนิทรรศการ เราก็จะเห็นนิทรรศการที่มันเชิดชูความคิดของลัทธิสัจนิยมเหนือจริงและความเป็นมหรสพทางการเมืองแบบนี้อยู่ตลอดเวลาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ความมหัศจรรย์ของมันก็คือความเหนือจริงนี้กลับกลายเป็นความจริงอีกชุดนึง”

“อย่างตัวผมเองก็ไหว้ศาลพระภูมิ เชื่อเรื่องผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังเหนือธรรมชาติ เพราะผมเกิดและเติบโตเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมนี้ มันเขยิบเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันและเข้ามากำกับสำนึกของเราในระดับจินตนาการ ในระดับความรู้สึก ซึ่งมีพลังมากกว่าอำนาจการกดขี่ทางการเมืองเสียอีก ผมเพียงแค่ใช้ความสามารถที่ผมมีความถนัดในการใช้ภาษาในการแสดงออกทางศิลปะแบบนี้”

“แต่สถานะของผมก็เป็นแค่สามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกที่ผมมีอยู่ในใจและพยายามจะระเบิดมันออกมาก็ไม่ได้สูงส่งอะไร ผมว่าทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน คนอื่นอาจจะใช้การพูด การเขียน หรืออะไรก็ตาม ผมไม่ได้คิดว้าผมค้นพบอะไรที่พิเศษ มันเป็นความรู้สึกร่วมทางสังคมของคนร่วมสมัยมากกว่า”

“เพียงแต่ผมพูดออกมาด้วยภาษาทางศิลปะเท่านั้นเอง”

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์ เวอร์

ข้อมูลจาก ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

คอลัมน์ อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 – 10 พฤศจิกายน 2559