มหาสมุทรดอกไม้ ประชาธิปไตย และการจากไปของ “ฐากูร บุนปาน”

⭕ มหาสมุทรดอกไม้
⭕ ประชาธิปไตย
⭕ และการจากไปของ “ฐากูร บุนปาน”
.
⏭️ เปิดศักราชใหม่ได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ วงการสื่อสารมวลชน นักคิด นักเขียน และแวดวงประชาธิปไตย ก็ต้องสูญเสีย “ฐากูร บุนปาน” วัย 59 ปี รองประธานกรรมการ และอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ไปด้วยโรคมะเร็ง เป็นการเดินทางไกลอย่างสงบงามและเรียบง่าย ณ บ้านพักส่วนตัว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564

ทันทีที่สังคมไทยรับทราบข่าวการจากไปของ “ฐากูร” ผู้คนหลากหลายวงการ ทั้งภาคการเมือง ธุรกิจ วิชาการ สังคม ประชาชนทั่วไป ฯลฯ ต่างให้เกียรติร่วมแสดงความอาลัยต่อ “ฐากูร” ผู้เป็นที่รู้จักและชื่นชมในความอ่อนน้อมถ่อมตน โอบอ้อมอารี รอบรู้ ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนผู้ไร้เสียงไร้อำนาจในสังคม และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างล้นหลาม

อาทิ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรคและอดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย
เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กลุ่ม ช.การช่าง นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดและนักเขียน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุทธิชัย หยุ่น อดีตประธานกรรมการ เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการอาวุโส อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ สุภัตรา ภูมิประภาส นักแปล ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สมชาย แซ่จิว นักเขียน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ร่วมแสดงความไว้อาลัย รวมทั้งสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ และพนักงานทุกแผนกในเครือมติชน

แม้ในโมงยามที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ผู้คนจากทุกภาคส่วนก็ยังหลั่งไหลมาแสดงความอาลัย “ฐากูร” ณ ศาลา 11 วัดเสมียนนารี กรุงเทพมหานคร กันอย่างเนืองแน่น ท่ามกลางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกัน พวงหรีดงดงามนับพันพวงที่ประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสีสันนานาพรรณ เปรียบเสมือนเครื่องแทนใจและคำอำลาที่ส่งตรงจากทั่วทุกมุมของประเทศไทยมายังงานไว้อาลัย “ฐากูร” อย่างไม่ขาดสาย ปลุกธุรกิจดอกไม้ให้เบ่งบานท่ามกลางความเหี่ยวเฉาของสภาวะเศรษฐกิจ ก็แสดงให้เห็นว่า “ฐากูร” เป็นที่รักและนับถือของผู้คนในวงกว้างมากเพียงใด

เกิดเป็นปรากฏการณ์ #มหาสมุทรดอกไม้ ที่หาได้ยากยิ่ง!

🔵🔵 ย้อนไทม์ไลน์เส้นทางวิชาชีพ “ฐากูร”
“ฐากูร” หรือชื่อเล่น “โต้ง” เกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปี 2504 เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นรุ่นที่ 97 จากนั้นศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็น “สิงห์ดำ” รุ่นที่ 32
“ฐากูร” เริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2527 ด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ก่อนขยับไปเป็นผู้สื่อข่าวสายการเงิน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และขึ้นสู่การเป็นหัวหน้าข่าว กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ในเวลาถัดมา

⏭️ บรรยงค์ พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อ “ฐากูร” ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Banyong Pongpanich ว่า ความเป็นผู้ใฝ่รู้และมีความรับผิดชอบ ทำให้ “ฐากูร” มีแหล่งข่าวที่กว้างขวางมาก ทั้งยังคุ้นเคยกับนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจสำคัญๆ แทบทุกคนในประเทศไทย “ฐากูร” จะตระเวนไปพบปะพูดคุยกับผู้คนในวงการอย่างทั่วถ้วน มีผลงานข่าวเศรษฐกิจที่โดดเด่น เรียกได้ว่าเป็นนักข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นก็ว่าได้ ทั้ง “ฐากูร” ยังมีหนังสือพิมพ์ “ดิ อีโคโนมิสต์” ติดตัวอยู่ตลอด ด้วยเหตุผลว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ ทำให้บรรยงค์ต้องสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์นี้ไปด้วย

⏭️ ปี 2533 “ฐากูร” ตอบรับความท้าทายครั้งใหญ่ ด้วยการร่วมบุกเบิก หนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน และประธานกรรมการ บมจ.มติชน รับมาดำเนินการ
คราวนั้น “ฐากูร” รับตำแหน่งหัวหน้าโต๊ะข่าวภูมิภาค ก่อนที่ปีถัดมาจะก้าวสู่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวสด เป็นหนึ่งแรงสำคัญในการผลักดันให้ข่าวสดเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทะยานขึ้นเป็น 1 ใน 3 สื่อรายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุด

เมื่อโลกสื่อสารมวลชนถูก “ดิสรัปต์” ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ “ฐากูร” ที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการข่าวสดระหว่างปี 2547-2553 ก็มีบทบาทอย่างสูงในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาข่าวสดให้สามารถแข่งขันในโลกออนไลน์กลาย

เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่ทำให้ #ข่าวสดออนไลน์ กลายเป็นสื่อออนไลน์ที่มีผู้ติดตามสูงสุดของประเทศ
จากนักข่าวภาคสนามและบรรณาธิการที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับของทุกคน “ฐากูร” ก้าวสู่การเป็นผู้จัดการทั่วไปเครือมติชน ระหว่างปี 2553-2557 และเป็นกรรมการผู้จัดการเครือมติชน ระหว่างปี 2557-2562
ในปี 2562 “ฐากูร” พบว่าตนเองป่วยด้วยโรคมะเร็ง จึงเข้ารับหน้าที่รองประธานกรรมการเครือมติชน โดยมี ปานบัว บุนปาน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเครือมติชนตั้งแต่ปี 2562 กระทั่งถึงปัจจุบัน

⏭️ ตลอดการทำงาน หนึ่งในวิสัยทัศน์ที่ “ฐากูร” ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ “การปรับตัว” อย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อที่มีความท้าทายตลอดเวลา ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ครั้งหนึ่ง “ฐากูร” กล่าวกับกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปี 2562 ซึ่งนับเป็นการให้โอวาทครั้งสุดท้ายว่า

“ผมเข้าใจว่าสถานการณ์โดยรวมทั้งโลก ทั้งประเทศ จะลำบากยากเข็ญกว่าปีนี้ ดูตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นไป แต่ให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า ในทุกสงครามมีทั้งคนแพ้และคนชนะ มันสำคัญที่ตัวเราว่าเราอยากหรือเราพยายามจะไปยืนอยู่ฝั่งไหน ง่ายมากถ้าจะงอมืองอเท้ายอมรับความพ่ายแพ้ ไม่ต้องทำอะไร อยู่กันไปวันๆ แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา เราทั้งหมดในเครือมติชน ทั้งมติชน ประชาชาติฯ ข่าวสด และอื่นๆ ทุกส่วนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถึงเวลาเมื่อจะต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง เราก็ทำได้ดี ได้เร็วไม่แพ้ใคร..”

⏭️ ขณะเดียวกัน “ฐากูร” ก็ย้ำว่า แม้จะทำก่อน สำเร็จก่อน ก็ไม่ได้แปลว่าชนะเสมอไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อไปในฐานะองค์กรสื่อ คือ การรักษาคุณภาพของคอนเทนต์ รวมทั้งยกระดับคุณภาพของคอนเทนต์ให้ดีขึ้นตามวัยและประสบการณ์ที่สั่งสม

“ถ้าคุณไม่มีคอนเทนต์ที่แข็งแรง ข่าวคุณไม่ซื่อสัตย์ ไม่ตรงไปตรงมา อย่าทำเลยอาชีพนี้” คือสิ่งที่ “ฐากูร” กล่าวหนักแน่น

เมื่อรักษาคุณภาพคอนเทนต์ให้ดีแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้แบรนด์ เพื่อส่งเสริมธุรกิจให้เติบโต สุดท้ายคือ “ข้อมูล” ซึ่งเครือมติชนมีอยู่มากมายมหาศาล หากแยกประเภทและจัดระบบให้เป็นข้อมูลที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นของมีค่า สามารถต่อยอดธุรกิจ เป็นกำลังเกื้อหนุนจุนเจือหรือพัฒนางานในบริษัทได้มากขึ้น

“ถ้าทำ 3 อย่างที่ว่านี้ได้ คือ รักษาและยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์ จัดการข้อมูลให้ดี และทำองค์กรข้างในให้แข็งแรง ผมเชื่อว่าต่อให้มีสงคราม มีดิสรัปต์มโหฬาร เราก็อยู่ได้ ประเด็นคือต้องทำให้ได้จริงๆ ต้องทำให้ได้เร็ว และต้องทำอย่างต่อเนื่อง หยุดไม่ได้

“วันนี้ชนะไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าพรุ่งนี้จะชนะ โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลซึ่งเปลี่ยนเร็วนับกันเป็นวินาที อะไรที่เราคิดได้ เพื่อนฝูงเขาก็คิดได้ เพราะฉะนั้น คิดได้แล้วทำเลย ผมอ่านจากในประชาชาติฯ นี่แหละ เรื่องปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว คิดได้ ทำเลย ผิดไม่เป็นไร ผิดน้อยดีกว่าไม่ทำ แล้วมันผิดเยอะมหาศาล”

⏭️ ในทุกบทบาทที่รับผิดชอบ “ฐากูร” ทำงานจริงจัง หนักแน่น และประพฤติปฏิบัติตนอย่างมืออาชีพ ดังที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง “ฐากูร” ระหว่างร่วมแสดงความอาลัยในงานศพว่า

“รู้สึกเสียดายคนที่เป็นมืออาชีพคนหนึ่งทั้งด้านสื่อมวลชน เพราะในแต่ละแวดวงก็จะมีมืออาชีพอยู่เสมอ คือคนที่ทำงานด้านนั้นๆ โดยตรง รู้และเข้าใจปัญหาต่างๆ ก็จะสามารถทำให้วงการนั้นพัฒนาและก้าวหน้าได้อย่างดี นายฐากูรถือเป็นลูกหลานคนหนึ่งที่มีศักยภาพสูง แล้วจากไปก่อนวัยที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม ถือว่าเขาได้สร้างผลงาน สร้างมาตรการและมาตรฐานเอาไว้หลายอย่าง และเป็นประโยชน์ต่อวงการด้านสื่อมวลชน”

⏭️ ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง “ฐากูร” ไว้ในงานแสดงความอาลัยเช่นกันว่า รู้สึกตกใจ เสียใจ และเสียดาย เพราะไม่เคยทราบมาก่อนว่า “ฐากูร” ป่วย เจอกันครั้งสุดท้ายเมื่อหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา ได้คุยกันทุกเรื่องสารพัดชนิด ทั้งเรื่องบ้านเมือง ศิลปวัฒนธรรม และเรื่องตลกขบขัน ซึ่งตอนนั้น “ฐากูร” ยังดูสดชื่น

“นายฐากูรถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีความรู้ความแม่นยำ ทั้งในทางการเมืองการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เป็นคนที่รอบรู้มากทีเดียว ที่สำคัญคือมีอารมณ์ขันอย่างไม่น่าเชื่อ ถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการสื่อ จึงขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว และชาวมติชน”

⏭️ ส่วน “นก” นิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งรู้จัก “ฐากูร” เมื่อราว 30 ปีก่อนตั้งแต่ครั้งยังทำข่าว เอ่ยถึงความเป็น “ฐากูร” ว่า เป็นคนรู้ลึก รู้รอบ คุยเรื่องอะไรก็สนุก ที่สำคัญคือเป็นคนที่ฟังคนอื่นและคิดเยอะกว่าพูด และเป็นสื่อมวลชนที่มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ไหนแต่ไร ครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ แต่ผลงานที่เคยทำมาและเคยถ่ายทอดในหลายเรื่องคงจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะจดจำ “ฐากูร” ได้

แม้อยู่ในช่วงพักรักษาตัว ทว่า “ฐากูร” ยังเข้มข้นด้วยความรับผิดชอบ ความคิดยังแหลมคมแจ่มใส และให้คำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ผู้คนรอบข้างอยู่เป็นนิจ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตมาเยี่ยมเยือน

🔵🔵 “ฐากูร” นักหนังสือพิมพ์ผู้ยืนหยัดหลักการประชาธิปไตย
ภายใต้สังคมเสรีประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนย่อมต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง ผ่านกระบวนการยืนยันพิสูจน์ว่า ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมีความถูกต้อง แม่นยำ เที่ยงตรง เชื่อถือได้

ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่รับใช้และบริการข้อมูลข่าวสารที่ว่าก็คือ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งประชาชนเองก็รับรองสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพในการรายงานข่าวสารให้ผู้ที่มาทำหน้าที่นี้ เพื่อประกันว่าพวกเขาเองซึ่งก็คือประชาชน จะได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพ

ด้วยความเชื่อมโยงดังกล่าว พันธกิจของสื่อวารสารศาสตร์จึงเป็นการจัดหาข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่ประชาชน เพื่อที่ประชาชนจะสามารถใช้ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นกำหนดชะตาชีวิตของตนเองในฐานะเสรีชน ตลอดจนตัดสินใจเกี่ยวกับชุมชน สังคม และรัฐบาลของพวกเขา

ในประวัติศาสตร์ มีหลายครั้งที่รัฐบาลที่เป็นผู้รับใช้ของประชาชนอาจลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หลายครั้งมีผู้ต้องการเข้ามาเป็นนายเหนือประชาชน ทั้งใช้กำลังเข้ามายึดครองโดยตรง หรือสร้างชุดความรู้ขึ้นมาให้ดูราวกับว่าประชาชนไม่สามารถปกครองตนเองได้ เพื่อที่ตนเองและพรรคพวกจะอ้างเหตุเข้ามามีอำนาจเหนือ

สื่อจึงมีเป้าหมายเป็น #สุนัขเฝ้าบ้าน เพื่อสอดส่องจับตา และเป็นกระบอกเสียงของผู้ไร้อำนาจเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ตลอดจนเป็น “ตลาดความคิด” ที่ประกันให้ประชาชนทุกคนทุกกลุ่มที่ล้วนเป็นเจ้าของประเทศอย่างเสมอหน้ากัน ได้ใช้พื้นที่เป็นเวทีแสดงจุดยืน ถกเถียงในประเด็นสำคัญ จนเกิดเป็นมติสาธารณะ

อาจเรียกได้ว่า สื่อมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนคุณค่าของกระบวนการประชาธิปไตย ในฐานะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัวจริง

⏭️ #เครือมติชน ยึดหลักการทำงานที่ว่านี้มาตั้งแต่ก่อตั้ง ส่งต่อพันธกิจจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานร่วม 40 ปีในเครือมติชน “ฐากูร” ยืนหยัดในหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด

⏭️ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 พร้อมภรรยาคือ วรรณา สวัสดิ์ศรี ที่เดินทางมาร่วมแสดงความไว้อาลัย เอ่ยชื่นชมความเป็นสื่อมวลชนของ “ฐากูร” ว่า เป็นคนทำงานสื่อที่แสวงหาความจริง อยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย และเชื่อว่าวันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ด้วยความเปลี่ยนแปลง เสียดายที่ “ฐากูร” ต้องจากไปในวันที่ยังหนุ่ม
“เสียดายที่เขาอายุสั้น เขาอยู่ในเส้นทางประชาธิปไตย เห็นคนเท่ากัน ซึ่งแสดงออกจากข้อเขียนว่าไม่ใช่คนที่มองแค่ปัจจุบันเท่านั้น แต่มองไปถึงอนาคตข้างหน้า คนทำงานด้านสื่อต้องมีเซนส์ในเรื่องการเข้าใจปัจจุบัน มองอนาคต และไม่ลืมอดีต ผมมารู้จักโต้งในช่วงหลัง เห็นข้อเขียนต่างๆ คิดว่าอย่างน้อยที่สุด เขาเป็นคนที่เคลื่อนไหวรับรู้ความเปลี่ยนแปลง และเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลง คนที่เชื่อความเปลี่ยนแปลงคือคนที่เชื่อว่าอนาคตต้องดีกว่าปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องเชื่อในแนวทางประชาธิปไตย ความเป็นธรรม การทำงานข่าว เป็นการทำงานในเรื่องการแสวงหาความจริง ตลอดระยะเวลาที่เขาเข้ามาอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ ผมคิดว่าเขาอยู่ในเส้นทางของการแสวงหา สัจจะ ความจริง นี่เป็นหัวใจหลักของคนทำงานสื่อ”

⏭️ ถึงจะมีจุดยืนแน่วแน่ชัดเจน แต่ในความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ “ฐากูร” ก็สามารถพูดคุยกับทุกขั้วทุกฝ่ายได้ทั่วถึง เพราะต่างเคารพกันและกันในการปฏิบัติหน้าที่ ดังที่ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ข่าวสด ที่เดินทางมาร่วมแสดงความอาลัยด้วยเช่นกัน สะท้อนความเป็น “ฐากูร” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Atukkit Sawangsuk ว่า

“ไม่ใช่แค่จุดยืนประชาธิปไตย ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว (+อารมณ์ขันเจ็บแสบ) ในยามวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ
“โต้งยังมีทัศนะกว้างไกล ในความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่รู้จักดีกับทุกฝ่าย
“รู้จักทหาร รู้จักนักการเมือง รู้จักข้าราชการ
“โดยรู้ดีว่าจะรักษาจุดยืนศักดิ์ศรีการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อไว้ให้มั่นคงแน่วแน่อย่างไร”
“ฐากูร” ยังเป็นที่รักและนับถือของนักการเมืองจำนวนมาก จากการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยยึดประโยชน์ของประชาชนมาเป็นอันดับแรก

⏭️ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ย้อนความว่ารู้จัก “ฐากูร” ตั้งแต่ตนเองเข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกราวปี 2531จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันมาโดยตลอด

“ส่วนใหญ่เวลาเราคุยกันก็จะคุยเรื่องบ้านเมือง หรือความคิดเห็นต่อสถานการณ์ต่างๆ พี่โต้งเป็นคนตรงไปตรงมาและเสมอต้นเสมอปลาย เป็นคนที่มีอุดมการณ์ อะไรถูกก็คือถูก อะไรผิดก็คือผิด ไม่ใช่คนลักษณะที่ว่าซ้ายไปหรือขวาไป แต่เป็นคนตรงไปตรงมาทุกสถานการณ์ ฉะนั้น เวลาคุยอะไรกับพี่โต้งก็จะได้ความคิดและข้อคิดเห็น ได้เสียงสะท้อนที่ดี

“พี่โต้งเป็นแบบอย่างที่ดีในแง่อุดมการณ์ของสื่อ หาคนอย่างพี่โต้งได้ยาก ผมไม่เคยเห็นงานของสื่อมวลชนไหนที่จะมีผู้คนมามากมายทุกวงการขนาดนี้ ส่วนตัวผมรู้สึกสูญเสีย เหมือนกับสูญเสียเพื่อนหรือผู้ใหญ่คนหนึ่งก็ว่าได้

“มติชน ข่าวสด ถือเป็นสื่อที่ยืนตัวตรงมาตลอด และอยู่มากว่า 40 ปีแล้ว ยืนอยู่อย่างตัวตรง มั่นคง และมีอุดมการณ์ในทุกสถานการณ์ มติชนก็คือมติชน พี่โต้งมีส่วนสำคัญ ถือว่าเป็นมือขวาของพี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) ก็ว่าได้ พี่โต้งมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างคือเข้าใจโลก สามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อจากออฟไลน์มาเป็นสื่อออนไลน์ และผสมผสานให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ ดังจะเห็นความนิยมของสื่อออนไลน์ อย่าง ประชาชาติธุรกิจ มติชน ซึ่งพอข่าวสดมาทำเรื่องออนไลน์ ปรากฏว่าได้รับความนิยมสูงสุด ถือเป็นวิสัยทัศน์จากการปรับตัวของพี่โต้ง จึงทำให้เครือมติชนมีจุดแข็ง มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้มติชนอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าคนที่น่าจะเสียใจที่สุดก็คือพี่ช้าง ที่เหมือนกับสูญเสียมือขวาไป เสียใจกับเครือมติชนอย่างมาก”

⏭️ ส่วน สุรนันท์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสนิทสนมกับ “ฐากูร” มาตั้งแต่ชั้นประถม สะท้อนความเป็นมืออาชีพในการทำงานของ “ฐากูร” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Suranand Vejjajiva ไว้ว่า

“ความเป็นแหล่งข่าว และผู้หาข่าว ระหว่างโต้งกับผมพัฒนามาต่อเนื่องจนช่วงที่ผมทำการเมืองและอยู่ใกล้ศูนย์อำนาจ แต่เราสองคนไม่เคยล้ำเส้นกัน ความเป็นเพื่อนก็เรื่องหนึ่ง แต่ความเป็นมืออาชีพและความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ เรามีข้อตกลงกันว่า อะไรที่ผมบอกได้ก็จะบอก อะไรที่เป็นความลับของทางราชการหรือการเมืองก็จะบอกกันตรงๆ ว่าบอกไม่ได้ เช่นเดียวกัน เคยมีผู้ใหญ่ให้ผมไปถามโต้งหลายครั้งหลายหนว่า “แหล่งข่าว” ของข่าวนี้ข่าวนั้นเป็นใคร ผมก็ถามทั้งๆ ที่รู้ว่าเพื่อนจะปกป้องแหล่งข่าวอย่างเต็มที่ และโต้งไม่เคยปริปากว่า เขาได้ข้อมูลมาจากใคร คนที่ให้ผมไปถามจะไม่เชื่อเพราะรู้ว่าสนิทกันเป็นเพื่อนกัน แต่นั่นคือความสัมพันธ์ของเพื่อนที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอมา

“ถึงจะเป็นเพื่อน แต่เราต่างมีบทบาทที่ต่างกัน และต้องรักษาสถานะความซื่อตรง (integrity) นั้นไว้”
แม้ต้องเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ หรือต้องโดดเดี่ยวบนเส้นทาง แต่ “ฐากูร” ยังยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างมั่นคง ไม่ลู่ลม ไม่หวั่นไหว และไม่ฟูมฟาย มาโดยตลอด

⏭️ กระทั่งปี 2563 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยเกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นทั่วประเทศ “ฐากูร” เฝ้ามองการเติบโตดังกล่าว พร้อมแสดงมุมมองผ่านข้อเขียนและบทกวีในเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่เป็นระยะ

เช่นบทกวีที่ “ฐากูร” แต่งขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า #คณะประชาชนปลดแอก จัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
“มืดดินมัวฟ้ามาประกาศ
คือราษฎรดำเนินเดินดุ่ม
ยืนยันศักดิ์-สิทธิ์ชีวิตกุม
มวลชนชุมนุมสำแดงพลัง
ก้าวตามสายรุ้งมุ่งหน้า
เข็มนาฬิกาไม่กลับหลัง
แรงใดเล่าระงับยับยั้ง
ซากปรักหักพังแห่งเวลา
ร่วมผ่านราตรีที่มืดสนิท
ร่วมคิดร่วมฝันร่วมฟันฝ่า
จูงมือกันกระซิบรับทิวา
ฟ้าใหม่เบิกฟ้าบัดนี้แล้ว”

⏭️ บทกวีดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่า หนึ่งในนักสื่อสารมวลชนของไทยที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาตลอดก็คือ “ฐากูร”

“หลายครั้งที่ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและพูดคุยประเด็นด้านกฎหมายและการเมืองกับพี่โต้ง คำพูดของพี่โต้งจะมีแต่ความเท่าเทียม, ประชาชนสิทธิเสรีภาพ, สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐ ซึ่งถ้อยคำต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบของความเป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น

“เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมากมายจนเป็นที่มาของกระแสว่าภาครัฐจะระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อหลายสำนัก ผมเองได้โพสต์ข้อความแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะเข้ามาดำเนินการดังกล่าว พร้อมอธิบายหลักการของเสรีภาพสื่อว่าสำคัญอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตยในเฟซบุ๊ก หลังผมโพสต์ข้อความไปได้ไม่นาน ปรากฏว่าผมก็เห็นโพสต์ของพี่โต้งที่เขียนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐเช่นเดียวกัน

“แต่ที่ทำให้ผมอมยิ้ม ณ เวลานั้นคือ พี่โต้งได้อ้างถึงคำพูดของผู้พิพากษาในประเทศสหรัฐอเมริกาคนเดียวกันกับที่ผมเขียนไว้ในโพสต์โดยมิได้นัดหมาย นั่นก็คือ Justice Hugo Black ที่กล่าวถึงบทบาทของสื่อว่า “สื่อพึงรับใช้ผู้ถูกปกครอง มิใช่ผู้ปกครอง” และพี่โต้งได้เขียนปิดท้ายด้วยข้อความว่า “#เป็นกำลังใจให้เพื่อนสื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทุกคน” ผมจึงได้พิมพ์คอมเมนต์ในโพสต์นี้ของพี่โต้งว่า ผมเองก็เพิ่งกล่าวถึงในโพสต์ของผม เสรีภาพสื่อมีสำคัญในระบอบประชาธิปไตย โดยพี่โต้งก็มากดไลค์ในคอมเมนต์ของผม

“จากกรณีนี้ยิ่งทำให้รู้และมั่นใจว่าพี่โต้งเป็นนักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ผมให้ความเคารพได้อย่างสนิทใจ เพราะไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปขนาดไหน นับตั้งแต่วันแรกตราบจนปัจจุบัน พี่โต้งก็ยังมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แรงกล้าในการสนับสนุนประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่เสื่อมคลาย”

ปรากฏการณ์มหาสมุทรดอกไม้อันน่าตื่นตา จึงไม่เพียงเป็นการแสดงความอาลัยรักของคนทั่วทุกสารทิศต่อการจากไปของนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพของเมืองไทย แต่ยังมีนัยประหวัดถึงความเคารพรักต่อเพื่อนร่วมเส้นทางที่มีเป้าหมายเดียวกันคือประชาธิปไตย

อันเป็นไปตามความมุ่งหวังของ “ฐากูร บุนปาน”