ตกลง ‘ แรงงานข้ามชาติ ‘ ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าตรวจโควิด 3,000 บาท หรือไม่?

ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึง 13 กุมภาพันธ์นี้ แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีเอกสารอนุญาตการทำงานหรือพำนักในประเทศไทยต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และเวลานี้เกิดข้อถกเถียงว่า แรงงานจะต้องรับภาระค่าตรวจโควิด-19 จำนวนเงิน 3,000 บาท ด้วยหรือไม่

กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศเมื่อ 30 ธันวาคม 2563 ระบุว่าแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ต้องการอยู่ต่อในประเทศไทยหลังระยะเวลาผ่อนผัน (14 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป) ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ต้องลงทะเบียนกับกระทรวงแรงงานและตรวจโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวไม่ระบุว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าตรวจโรคโควิด-19 โดยบอกเพียงว่าการตรวจเป็นไปตาม “วิธีการที่กระทรวงสาธารสุขกำหนด”

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย อ้างว่าได้รับแจ้งจากแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งว่า โรงพยาบาลบางแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ (ไม่เปิดเผยชื่อโรงพยาบาล) คิดค่าบริการตรวจโรคโควิด-19 กับแรงงานข้ามชาติในราคา 3,000 บาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเนื่องจากในสถานการณ์โควิด-19 แรงงานข้ามชาติจำนวนมากตกงาน

ปภพ เสียมหาญ รักษาการผู้อำนวยการ มสพ. กล่าวว่า “เราเคยคัดค้านด้วยวิธีการออกแถลงการณ์แล้ว แต่ก็ไม่มีการตอบรับ เราจึงต้องกดดันด้วยวิธีการนี้” และคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าห้าแสนลงทะเบียนผ่านระบบของกรมจัดหางานในครั้งนี้

อัตราค่าตรวจโรคโควิด-19 ตรงกับเอกสาร แนวทางการดำเนินการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติของกรมการจัดหางาน (ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น) ซึ่งระบุว่าแรงงานต้องเข้าตรวจโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 15 มกราคม ถึง 16 เมษายนนี้ โดยมีค่าตรวจอยู่ที่ 1,000 ถึง 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ

มสพ. เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทบทวนการเก็บค่าตรวจโรคโควิด-19 จากแรงงานข้ามชาติ และให้นำเงินจาก “กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” กองทุนประกันสังคม หรือเงินประกันสุขภาพแทน ซึ่งเงินสองส่วนหลังนี้เรียกเก็บจากแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายมาโดยตลอด

วันที่ 14 มกราคมนี้ มสพ. จะนำรายชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งรวบรวมผ่านทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 มกราคม ไปยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง