ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
เผยแพร่ |
10 คำถาม “ฮ็อตฮิต” กับ “พร้อมเพย์”
คนไทยคุ้นชินกับการชำระค่าสินค้าและบริการด้วย “เงินสด” มาเป็นเวลานาน
ดังนั้น เมื่อวันดีคืนดี ภาครัฐออกมาประกาศว่า ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ “ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “e-Payment” โดยก้าวแรก ก็คือ การเปิดให้ลงทะเบียน “พร้อมเพย์”จึงไม่น่าแปลกใจที่มีคำถามมากมายเกิดขึ้นตามมา ซึ่งรวบรวมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้
ดังนี้
1) บริการพร้อมเพย์ปลอดภัยหรือไม่
น่าจะเป็นคำถามที่ฮ็อตฮิตอันดับต้นๆ เพราะคนไทยจำนวนมากยังค่อนข้างกังวลต่อการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
แถมข่าวคราวการหลอกลวงที่ปรากฏประจำตามหน้าสื่อก็ยิ่งเพิ่มความหวาดระแวงมากขึ้น
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันชัดเจนว่า พร้อมเพย์มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล
แถมยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เช่นเดียวกับระบบการโอนเงินประเภทอื่นๆ ที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
โดยพร้อมเพย์มีการดูแลความปลอดภัยและขั้นตอนการลงทะเบียนอย่างรัดกุม ซึ่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการจะมีความปลอดภัย เพราะธนาคารหรือบริษัท NITMX ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผยหรือขายต่อได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินและพระราชกฤษฎีกาควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมอยู่
ขณะที่ระบบกลางก็มีความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากพร้อมเพย์เป็นระบบที่พัฒนาเพิ่มจากระบบโอนเงินที่ใช้อยู่ปัจจุบัน จึงมีความปลอดภัยที่ไม่ด้อยไปกว่าบริการโอนเงินที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งระบบถูกออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงิน และเป็นผู้พัฒนาระบบการชำระเงินที่ใช้ในประเทศต่างๆ อาทิ ระบบที่มีลักษณะเดียวกันกับพร้อมเพย์ที่ประเทศอังกฤษ และสิงคโปร์
2) บริการพร้อมเพย์บังคับลงทะเบียนหรือไม่
คำตอบก็คือ พร้อมเพย์เป็นบริการทางเลือก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมาลงทะเบียน แต่ผู้ที่ลงทะเบียนก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ของค่าบริการโอนเงินที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำลงจากระบบปัจจุบันค่อนข้างมาก
กล่าวคือ การโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท/รายการ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม, การโอนเงินมากกว่า 5,000-30,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาท, การโอนเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท และ การโอนเงินมากกว่า 100,000-วงเงินสูงสุดที่แต่ละธนาคารกำหนด จะเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทเท่านั้น รวมถึงในอนาคตรัฐบาลมีแนวคิดการดูแลผู้รับเงินสวัสดิการและการคืนภาษีผ่านช่องทางนี้ หากลงทะเบียนไว้ก็จะได้รับความสะดวก แต่หากใครยังไม่อยากใช้บริการ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
3) เมื่อใช้พร้อมเพย์แล้วจะยังใช้ธุรกรรมโอนเงินแบบเดิมได้หรือไม่
คำตอบก็คือ ใช้ได้ตามปกติ เพราะพร้อมเพย์เป็นเพียงบริการที่เพิ่มเติมจากบริการที่มีอยู่เดิมเท่านั้นเอง
4) บุคคลต่างด้าวใช้พร้อมเพย์ได้หรือไม่/สามารถใช้พร้อมเพย์โอนเงินไปต่างประเทศได้หรือไม่
ข้อนี้ ธปท. ชี้แจงว่า หากบุคคลต่างด้าวมีบัญชีธนาคารก็สามารถผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้
แต่การโอนเงินไปต่างประเทศผ่านพร้อมเพย์ทำไม่ได้ เพราะเป็นการให้บริการโอนเงินเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
5) กรณีผู้อื่นรู้เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราจะเอาไปโอนเงินออกจากบัญชีเราได้หรือไม่
ข้อนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้น ทำเพื่อให้รับเงินได้สะดวก
ส่วนการโอนเงินออกจากบัญชีไม่มีอะไรเปลี่ยนจากเดิม หรือการที่จะนำหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้อื่นไปแอบอ้างลงทะเบียนผูกบัญชีของตนเองเพื่อขโมยเงินมา ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากธนาคารจะมีระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น
6) หมายเลขโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน (Prepaid) สามารถใช้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้หรือไม่
ข้อนี้ตอบว่า หากหมายเลขโทรศัพท์ Prepaid มีการลงทะเบียนซิมการ์ดไว้ด้วยชื่อผู้ใด ผู้นั้นก็สามารถนำมาลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้
7) ถ้าไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์จะถูกตัดสิทธิ์รับสวัสดิการจากภาครัฐหรือไม่
ข้อนี้ทั้งกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ไม่ถูกตัดสิทธิ์
ยังคงได้รับเงินสวัสดิการ หรือเงินช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐตามปกติผ่านช่องทางที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
8) หากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชี หลายธนาคาร ควรจะใช้บริการพร้อมเพย์กับบัญชีใด
คำตอบคือการตัดสินใจเลือกผูกบัญชี ขึ้นอยู่กับความสะดวก บัญชีที่ลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ เป็นบัญชีที่ต้องการใช้ในการรับเงินโอน จึงควรเป็นบัญชีที่ผู้ใช้งานมีช่องทางตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชี
9) หากมีการเปลี่ยนแปลง/ยกเลิกเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือยกเลิกบัญชีที่เคยใช้ลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ไว้ต้องทำอย่างไร
จะต้องแจ้งยกเลิกการผูกบัญชีกับเบอร์โทรศัพท์มือถือเบอร์เดิม/แจ้งยกเลิกการผูกเลขที่บัญชีเดิมก่อนโดยเร็ว และหากต้องการลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์ด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือใหม่ หรือเลขที่บัญชีใหม่ สามารถทำได้ที่ช่องทางที่ธนาคารเปิดให้บริการ
10) หากลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ แล้วทำโทรศัพท์มือถือหาย จะมีผลกับเงินในบัญชีหรือไม่
ไม่มีผลกระทบกับความปลอดภัยของบัญชี เพราะบัญชีที่ลงทะเบียนผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือ เป็นบัญชีในการรับเงินโอนเท่านั้น