โลกร้อนเพราะมือเรา : บิดเบือน “ความจริง”

“ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา คุณคิดว่าโลกร้อนเพราะฝีมือคนมากขึ้นเท่าไหร่?”

คำถามนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์แห่งอังกฤษนำไปใช้สำรวจความคิดเห็นชาวยุโรปในสี่ประเทศ ประเทศละ 1,000 คน

ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วมาจากฝีมือคน

คำตอบที่ถูกต้องคือคนทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์

ชาวอังกฤษตอบคำถามถูกเพียง 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เยอรมันตอบถูก 49% นอร์เวย์ 34%

ฝรั่งเศสรู้ว่าโลกร้อนมาจากฝีมือคนคิดเป็นสัดส่วน 55%

มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 1 ใน 3 ที่รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องโลกร้อนจำนวน 97% มั่นใจอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 100% เป็นเพราะฝีมือคน

“นิก พิดเจียน” หนึ่งในทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าโลกร้อนมาจากฝีมือคนนั้นเนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องธุรกิจเชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้ข้อมูลบิดเบือนความจริงมาเป็นเวลานานจนสามารถครอบงำความคิดและบดบังความจริงหมดสิ้น

แต่นักวิจัยใจชื้นขึ้นมาบ้าง เมื่อกลุ่มตัวอย่างทั้งสี่ประเทศมากกว่า 80% ตอบว่าภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และ 60% ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เร่งปฏิบัติการลดโลกร้อน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียน

 

ส่วนความเห็นที่น่าสนใจได้แก่ การเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วช่วยประเทศกำลังพัฒนาแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างสนับสนุนข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซพิษซึ่งผู้นำทั่วโลกร่วมลงนามที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กลุ่มตัวอย่างทั้งสี่ประเทศคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะชาวเยอรมันและนอร์เวย์แสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรง

แนวคิดต้าน “นิวเคลียร์” ของชาวยุโรปดังกล่าว สร้างความแปลกใจให้กับคณะนักวิจัยอย่างมากเพราะสวนทางกับความเห็นของนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “นิวเคลียร์” ช่วยลดภาวะโลกร้อน

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ในยุโรปซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วยังมีผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องของโลกร้อน

นักวิจัยในเมืองไทยน่าจะสำรวจความเห็นเรื่องนี้มั่ง คนไทยอาจจะรู้และเข้าใจเรื่องโลกร้อนมากกว่าชาวยุโรปก็เป็นได้?

 

ไหนๆ พูดถึงนักวิจัยของอังกฤษแล้วก็ขอนำเสนอข้อมูลรายงานการประเมินความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของประเทศอังกฤษ ประจำปี 2560 (UK Climate Change Risk Assessment 2017) จัดทำโดยคณะกรรมาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวเป็นหน่วยงานอิสระจัดตั้งภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศซึ่งจะให้คำแนะนำต่อรัฐบาลอังกฤษและจัดทำรายงานทุกๆ 5 ปียื่นต่อรัฐสภาอังกฤษ

รายงานชุดแรกจัดทำเมื่อปี 2555 ส่วนชุดใหม่ที่เพิ่งนำเผยแพร่ในปีนี้ เป็นการสังเคราะห์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศแยกเป็นบทต่างๆ รวมทั้งหมด 8 บท

ผู้เขียนรายงานส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และตัวแทนองค์กรทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ

ศาสตราจารย์ลอร์ดเครบส์ (Lord Krebs) ประธานคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการปรับตัว คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กล่าวในบทนำของรายงานชิ้นนี้ว่า

“นักวิทยาศาสตร์มีมติเอกฉันท์ว่าภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงแล้วเป็นผลมาจากน้ำมือคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และวันนี้คนทั้งโลกก็ยังมีพฤติกรรมเดิมๆ ทำต่อเนื่อง ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศรุนแรงไปอีกเท่าใด ฉะนั้น การวางแผนเพื่อรับมือกับอนาคตข้างหน้าจึงเป็นเรื่องต้องทำ”

“แน่นอนว่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นเบื้องแรก และเห็นด้วยกับข้อตกลงกรุงปารีส”

 

ลอร์ดเครบส์ เป็นอาจารย์สอนด้านสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกช์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ เคยเป็นประธานสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2555

รายงานสรุปใจความสำคัญเรื่องภาวะโลกร้อนไว้ดังนี้

“อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี 2323 หรือเมื่อ 237 ปีมาแล้ว ประเทศอังกฤษเห็นความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างสุดขั้วมาหลายครั้งอีกทั้งค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากการตรวจวัดค่าบนบกและในทะเล

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฤดูหนาว อุณหภูมิของอังกฤษอุ่นขึ้น และฤดูร้อน อากาศร้อนมากกว่าเดิม

ระดับน้ำทะเลค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 15-20 เซนติเมตร ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

แนวโน้มสภาพภูมิอากาศในอังกฤษจะมีความแปรปรวนสูง

รายงานชิ้นนี้เห็นว่าแนวทางลดโลกร้อนที่ผู้นำ 195 ประเทศร่วมกันลงนามที่กรุงปารีสจะเป็นนัยยะสำคัญในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่เมื่อถึงปี 2643 โอกาสที่อุณหภูมิโลกอาจพุ่งทะลุไปถึง 4 องศาเซลเซียส มีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น อังกฤษจึงต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงอย่างจริงจัง

 

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษ ประเมินว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้เกาะอังกฤษเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงใน 6 เรื่องและนำไปสู่ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ดังนี้

1. น้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลทำให้ชุมชน ธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานเกิดความเสี่ยง

2. ความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกาย ชีวิตความเป็นอยู่และประสิทธิผลอันเนื่องจากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

3. ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำใช้ในการบริโภค เกษตรกรรม การผลิตพลังงานและอุตสาหกรรม

4. ความเสี่ยงต่อทุนธรรมชาติ (natural capital) ประกอบไปด้วย พื้นที่ชายฝั่ง ผิวดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศน์ น้ำจืด

5. ความเสี่ยงต่อการผลิตอาหารและการค้าทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

6. ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคใหม่ๆ ทั้งที่มาจากพืชพันธุ์และสัตว์ต่างถิ่น มีผลต่อชาวอังกฤษ พืชและสัตว์พื้นเมือง

ความเสี่ยงใน 5 ข้อแรกนั้น ผู้เชี่ยวชาญ “โลกร้อน” ของอังกฤษชี้ว่ามีความจำเป็นต้องมีแนวทางและแผนปฏิบัติการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนข้อที่ 6 ต้องมีการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติม