อาทิตยา อาษา : สัมมนา (เพศสถานะ) อุษาคเนย์ โจรสลัด (หญิง)-สาว (ใช้) พม่า ภาษา-ความเป็นแม่ และลัทธิชาตินิยม

ในโอกาสครบรอบ 20 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ก้าวหน้า ทันสมัยนี้ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียนผ่านการให้ความสำคัญกับการ “สร้างคนรุ่นใหม่ เป็นมิตร เข้าใจ รักสันติ รักเพื่อนบ้าน…ผู้ร่วมวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์”

หากยังเปิดพื้นที่ให้มีการเปิดสอนวิชา “เพศสถานะในอาคเนย์” เป็นวิชาบังคับที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียนในช่วงเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับอุษาคเนย์ผ่าน “เลนส์” สตรีนิยมและพัฒนาความเข้มแข็งของแนวคิดสตรีนิยมผ่านการสนทนากับประสบการณ์ของอุษาคเนย์พร้อมกันไปด้วย

หัวข้อข้างต้นทั้ง 5 ดูเหมือนจะไปคนละทาง

แต่มีความเชื่อมโยงอย่างสำคัญ

คือ การท้าทายมายาคติที่มีต่อผู้หญิง ผ่านการบอกเล่าถึงอัตลักษณ์ บทบาทผู้หญิงที่เป็นไปมากกว่าเมีย แม่ หรือบุคคลที่ยอมจำนน หากแต่คือผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายของตนเอง

วงสัมมนานี้จึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงในพื้นที่อุษาคเนย์ เพื่อสะท้อนการต่อสู้ของพวกเธอในพื้นที่ต่างๆ

 

ธนัย เจริญกุล
: หญิงร่วมรบ ลัทธิชาตินิยมแบบชายเป็นใหญ่
ที่ “มองไม่เห็น” ผู้หญิง

ธนัย เจริญกุล อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เกริ่นนำว่า แม้ศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 20 รัฐชาติสมัยใหม่จะถูกสร้างขึ้นโดยใช้ความเป็นชายกับสถาบัน

แต่การอธิบายว่าความเป็นชายและผู้ชาย คือหัวใจการเกิดขึ้นของรัฐชาตินั้น ไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจบริบทสังคม วัฒนธรรม การเมืองของประเทศหนึ่ง

เช่น ฟิลิปปินส์ที่ประชาชนทั้งชาย-หญิงร่วมต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของสเปนและอเมริกา

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวของอุษาคเนย์ที่มีขบวนการผู้หญิงต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง หลังได้รับเอกราช เป็นการต่อสู้เรียกร้องสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงกับผู้ชายชาติเดียวกันเองที่ไม่ให้สิทธิพวกเธอ

ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้หญิงฟิลิปปินส์เป็นแนวหน้าในขบวนการต่อสู้จับอาวุธ เพื่อขับไล่อาณานิคมของสเปน-อเมริกาไม่ต่างจากผู้ชาย

ความเป็นศาสนจักรของเจ้าอาณานิคมสเปน ส่งผลต่อแนวทางการปกครองฟิลิปปินส์

ธนัยมองว่า แม้สเปนจะออกไปแล้ว แต่ศาสนายังคงมีอิทธิพลต่อวิถีประชาชนโดยเฉพาะการควบคุมผู้หญิง ผ่านการลบเลือนประวัติศาสตร์ของพวกเธอในขบวนการปฏิวัติฟิลิปปินส์ เช่น Agueda Kahabagan, Teresa Magbanua, Trinidad Tecson ที่แม้จะมีส่วนสำคัญต่อการต่อสู้ แต่กลับไม่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

“มีผู้หญิงจำนวนน้อยเข้าร่วมรบ แต่การถูกลืมก็ยิ่งทำให้น้อยลงไปอีก” ธนัยกล่าว

แม้ช่วงหลังเรื่องราวของผู้หญิงร่วมรบจะเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นจากสื่อต่างๆ หรือแบบเรียน

แต่ภาพปรากฏของผู้หญิงเหล่านี้ เช่น ภาพของ Agueda เป็นการสวมใส่ dress ผู้หญิงสีขาว ถือปืนไรเฟิล พกกริช เท้าเปล่า

“เป็นการฉายภาพความเป็นหญิงทับไปลงร่างของเธอ” ภายใต้การร่วมรบกับผู้ชาย

หรือแม้ Trinidad ที่ได้รับการยอมรับในฐานะนายพลอย่างไม่เป็นทางการ จากการร่วมรบถึง 12 ครั้ง

แต่การบาดเจ็บ ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม และเข้าดูแลทหารบาดเจ็บคนอื่นๆ ทำให้สุดท้ายแล้ว Trinidad กลายเป็นมารดากาชาดของฟิลิปปินส์

บทบาทที่ได้รับการยอมรับกลับกลายเป็นบทบาทของนางพยาบาล ไม่ใช่บทบาท active ในฐานะนายพลที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย

“ผู้หญิงในขบวนการปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่ active ถูกลบเลือนมาตลอด”

มุมมองของธนัย ขบวนการชาตินิยมจึงเป็นโลกของผู้ชาย ที่เป็นผลผลิตมาจากจักรวรรดินิยม และนำมาสู่การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับร่างกายแบบผู้ชาย ความกำยำแข็งแรง เป็นร่างกายที่ถูกฝึกเพื่อไปรบเป็นทหารอาชีพ ขณะที่ร่างกายของผู้หญิงมีไว้สำหรับเป็นแม่ คอยดูแลพยาบาล หรือเลี้ยงดูให้ลูกชายของตัวเองมีหัวใจของการปฏิวัติ

และแม้ในปัจจุบันฟิลิปปินส์จะมีประธานาธิบดีผู้หญิงถึงสองคน อย่าง Gloria Macapagal-Arroyo และ Corazon Aquino แต่ทั้งสองยังคงอยู่ภายใต้อุดมคติของความเป็นหญิงที่ดี จากการสนับสนุนของศาสนจักร โดยเฉพาะการเป็นแม่ เป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์ ผู้เคร่งศาสนา อันถูกสร้างให้เป็นคู่ตรงข้ามกับผู้ชายอยู่แบบเดิม

 

ศนิ ชาติอุดมเดช: ภาษากับเพศ

อ.ดร.ศนิ ชาติอุดมเดช ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “ภาษาและการสร้างเพศ” โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าเหตุใดคำด่าในสังคมมักเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะ การใช้คำศัพท์ที่พูดถึงเพศหญิงและร่างกายของผู้หญิงมาใช้ด่าผู้ชาย เช่น หน้าตัวเมีย เอาผ้าถุงไปนุ่ง เอากระโปรงหรือผ้าอนามัยมาใส่ โดยยกกรณีศึกษาในสื่อสังคมออนไลน์

“ภาษาจึงมีบทบาทสำคัญต่อการสะท้อนความหมาย ทัศนคติ ค่านิยมเกี่ยวกับเพศสถานะและเพศวิถีของผู้หญิงในสังคม”

ศนิกล่าวว่า การนำเอาคำศัพท์ที่พูดถึงผู้หญิง หรือเพศหญิง มาเป็นคำด่า ที่สะท้อนถึงอคติทางเพศ อันได้แก่ ภาษาที่มองว่าผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่ากัน, ภาษาที่ไม่ให้ความสำคัญกับเพศหญิง, ภาษาที่ดูหมิ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์เพศหญิง, ภาษาที่ส่งเสริมทัศนคติแบบเหมารวมต่อเพศหญิง ในกรณีดังกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทย แต่รวมไปถึงพื้นที่อื่นในอุษาคเนย์ด้วย เช่น สุภาษิตของอินโดนีเซียที่เปรียบลูกสาวว่าเป็นภาระ

แต่แม้ภาษาจะกดทับผู้หญิง แต่ศนิมองว่า ในบริบทของภาษาไทย ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกสรรพนามที่คิดว่าเหมาะสมแก่อายุ วุฒิภาวะ เพศสถานะ และอาชีพของตนได้ เช่น ฉัน ดิฉัน หนู พี่ น้อง อาจารย์ กู และอื่นๆ ซึ่งเป็นเสมือนการแสดงตัวตนของผู้พูดให้ผู้ฟังได้รับรู้

“ภาษาจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และไม่ตายตัว สามารถเลือกใช้ภาษาแบบใดก็ได้แล้วแต่สถานการณ์”

 

วัจนา เสริมสาธานสวัสดิ์
: ออกจากบ่วงของการเป็นแม่
ชีวิตและตัวตนของผู้หญิงที่ไม่ได้ “=” การเป็นแม่

วัจนา เสริมสาธานสวัสดิ์ อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เกริ่นว่า หัวข้อนี้เกิดจากประสบการณ์การเป็นแม่ของตนที่ไม่ fit in กับอุดมการณ์หรืออุดมคติการเป็นแม่ในสังคมไทย โดยเฉพาะการต้องดิ้นรนต่อบทบาทการเป็นแม่ จึงก่อให้เกิดการตั้งคำถาม และนำมาสู่การศึกษาแนวคิดการเป็นแม่ ผ่านมุมมอง Luce Irigaray นักปรัชญาสตรีนิยมฝรั่งเศส ซึ่งพูดถึงร่างกายของแม่ หรือที่เรียกว่า body politic

ขณะที่สังคมอุษาคเนย์ความเป็นแม่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าที่ควร (ทั้งๆ ที่มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ล่าสุดนี้ คือกรณีอุ้มบุญที่ผู้หญิงทั้งเขมรและลาวจำนวนไม่น้อยแบกรับอยู่)

“เมื่อพูดถึงเรื่องความเป็นแม่ สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องมดลูก ผู้หญิงมี natural function ที่ผู้ชายไม่มี ฐานของความแตกต่างแรกจึงเป็นร่างกาย” วัจนากล่าวว่า Irigaray เสนอกรอบ sexual difference ที่ชวนให้เรามาตั้งคำถามถึงความแตกต่างของร่างกาย ที่เรียกได้ว่าเป็น body politic แบบหนึ่ง

ความเป็นแม่ที่เราเข้าใจจึงมีส่วนสำคัญกับตัวตนของผู้หญิง และกลายเป็น identity ของผู้หญิง

ในอุดมการณ์ความเป็นแม่ Womanhood กลายเป็นสิ่งที่เท่ากับ maternal identity หรือเป็นภาพแทนของผู้หญิงทั้งหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเป็นผู้หญิง คุณ [ก็มีหน้าที่] เป็นแม่

“การผูกติดผู้หญิงกับการเป็นแม่ จึงเป็นการนำเสนอที่ทำให้ตัวตนของผู้หญิงสูญหาย และทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุ เมื่อผู้หญิงเป็นแม่ ก็ทำให้พวกเธอถูกคาดหวังจากสังคมที่มากเกินกว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้ ถูกคาดหวังให้เป็นแม่แบบที่ควรจะเป็น โดยไม่สามารถเป็นแม่ในแบบอื่น”

วัจนากล่าวว่า ในมุมมองของ Irigaray ผู้หญิงควรจะแยกตัวตนของตนเองออกจากความเป็นแม่เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงเชื่อมโยงตนเองกับลูกในฐานะแม่ ไม่ว่าจะเป็นการ romanticize หรือการ dramatize การเป็นแม่ดังเช่นที่ปรากฏในสื่อ ก็ล้วนแต่สร้างความรุนแรงกับตนเองแทบทั้งสิ้น

“สำหรับ Irigary แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกในแบบเดิม เป็นความสัมพันธ์แห่งอำนาจที่กดขี่ผู้หญิงที่เป็นแม่และลูก ภายใต้คำว่า ความรัก”

วัจนาชี้ว่า เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกนั้น มีความหมายที่กว้างมากกว่าตัวเรา (ที่เป็นแม่) กับลูก แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับแม่ หรือแม้แต่แม่กับยาย โดยเฉพาะในสังคมอุษาคเนย์ที่ความสัมพันธ์แบบระบบเครือญาติยังคงมีความสำคัญ แตกต่างจากครอบครัวตะวันตกที่เป็น nuclear family

วัจนามองว่า สิ่งที่ Irigary นำเสนอได้อย่างน่าสนใจจึงเป็นเรื่องของ female genealogy ที่กล่าวถึงกระบวนการตั้งครรภ์ของแม่ ที่ไม่ได้พูดถึงความผูกพันระหว่างแม่กับลูก แต่เป็นกลไกการทำงานของรกที่รับรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอม (ลูก) ที่สามารถเข้ามาอยู่ในร่างกายได้ เนื่องจากมีทั้งยีนส์ของพ่อและของแม่

กระบวนการตั้งครรภ์จึงไม่ใช่การหลอมระหว่างแม่กับลูก แต่เป็นการที่รกทำหน้าที่ดูแลตัวอ่อนในฐานะสิ่งอื่น ที่อยู่นอกเหนือจากตัวเราซึ่งเป็นแม่

ดังนั้น “การตีความกระบวนการตั้งครรภ์ของแม่แบบใหม่ของ Irigary จึงนำมาสู่การสร้างวิธีคิดของแม่ที่มองลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ของเรา แต่มีความเป็นตัวตนของตนเอง ความรักที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกที่ไม่ได้ครอบงำ ควบคุมดังกล่าว จึงเป็นความรักที่เป็นอิสระและปลดปล่อยผู้หญิงที่เป็นแม่ อีกทั้งนำไปสู่การขยายเพดานความรักที่นำไปสู่ความสัมพันธ์แบบอื่นๆ เช่น การ respect ลูกในฐานะอีกคนหนึ่ง ก็จะนำไปสู่การเคารพและเข้าใจถึงคนอื่นๆ ที่มีความแตกต่างจากเราด้วย”

 

จันทนา เอกเอื้อมณี
: โลกในบ้านของจำปาและเพื่อน
ความไม่ปลอดภัยและไม่เป็นธรรม

จันทนา เอกเอื้อมณี เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มาเล่าประสบการณ์ผ่านสายตาของคนทำงานประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งสำหรับตัวเธอแล้ว อาชีพที่ถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่า “คนใช้” ที่ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะอะไรมากสำหรับคนทั่วไปนั้น กลับมีปัญหาที่ซับซ้อน โยเฉพาะกับหญิงรับจ้างทำงานบ้าน หรือ “คนใช้” ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

“อย่างแรกคือ ก่อนที่จะมาเมืองไทย สาวๆ พม่าจะถูกให้ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุยังน้อย เมื่อเทียบกับลูกชาย เนื่องด้วยสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ถ้าพ่อ-แม่มีลูกหลายคนก็จะเลือกส่งให้ลูกชายเรียนหนังสือ ไม่ว่าลูกผู้หญิงจะเก่งกว่าหรือไม่” จันทนานำเสนอชีวิตแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาเป็นลูกจ้างทำงานบ้านผ่านเรื่องราวของจำปาและเพื่อนๆ

นอกจากถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้ว จำปาและเพื่อนๆ ต้องทำงานหาเงินส่งให้พี่ชาย น้องชายได้เรียน

จำปาถูกส่งมาทำงานเมืองไทยในฐานะแรงงานข้ามชาติเด็ก ที่แม้จะผิดกฎหมาย แต่เด็กที่เลือกอาชีพทำงานเป็นลูกจ้างทำงานบ้าน มักมองว่า เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะไม่ถูกตำรวจจับส่งกลับบ้าน ปลอดภัย และไม่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน ทำให้เงินเดือนที่หาได้ทั้งหมดส่งกลับบ้านได้

แม้จะดูเหมือนไม่มีปัญหา แต่จันทนาเล่าว่า “การเป็นลูกจ้างทำงานบ้านทำให้จำปาต้องเจอกับเจ้านายผู้หญิงที่ไม่มีเหตุผล ตั้งแต่สั่งไม่ให้เธอทาปากมาทำงาน ประหยัดให้กินแต่น้ำแกง ขณะที่เจ้านายผู้ชายกลับมีการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งกางเกงในโชว์เดินไปเดินมาในบ้าน หรือการเรียกไปนวด แม้ว่าจะต้องเจอกับความเสี่ยง แต่การหางานทำใหม่ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับแรงงานข้ามชาติอย่างจำปา เพราะกฎหมายไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนงานได้เมื่อนายจ้างตาย, นายจ้างล้มละลาย, นายจ้างทารุณกรรม, นายจ้างทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และในกรณีที่ลูกจ้างมองว่าสภาพการทำงานอาจจะเกิดความรุนแรงต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจ”

เมื่อการย้ายนายจ้างต้องทำภายใน 15 วันเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ ในกรณีของเพื่อนจำปาที่ต้องการย้ายงาน แม้ว่าจะแจ้งนายจ้างแล้ว แต่ก็ถูกข่มขู่ว่าจะแจ้งตำรวจจับในข้อหาขโมยของเพื่อไม่ให้เธอย้ายงาน สถานการณ์กลับตาลปัตรไปเสียอย่างนั้น

การกดขี่ของนายจ้างที่มีต่อแรงงานข้ามชาติทำให้จำปาและเพื่อนต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยและความไม่เป็นธรรม บ้านของนายจ้างจึงเป็นโลกที่จำปาและเพื่อนต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเอง เพื่อแลกกับเงินที่ต้องส่งกลับบ้าน ในมุมมองจันทนา

“แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายกลับมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น”

 

กำพล จำปาพันธ์
: ทะเล พื้นที่ที่ผู้หญิงเป็นได้มากกว่าผู้หญิง

กําพล จำปาพันธ์ เจ้าของผลงานครุฑยุดนาคและอื่นๆ ปิดวงสัมมนาด้วยหัวข้อ “โจรสลัดหญิง” ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของผู้หญิงในฐานะกบฏทางทะเล ผู้ซึ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระเสรีจากพื้นที่ในบ้านและอำนาจรัฐจากศูนย์กลาง

คำว่า โจรสลัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือดินแดนอุษาคเนย์ เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคการค้าทางทะเล ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-19 โดยเอกสารราชสำนักจีนเรียกโจรสลัดเหล่านี้ว่า กบฏทะเลหรือโจรทะเล

กำพลเล่าว่า โรเบิร์ต แอนโทนี่ (Robert Anthony) นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาโจรสลัด กล่าวถึงชีวิตของโจรสลัดไว้อย่างน่าสนใจว่า โลกของโจรสลัดเป็นโลกที่กลับตาลปัตร เพราะเป็นโลกที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ก่อนที่จะมีประชาธิปไตยในภาคพื้นทวีปเสียอีก

หนึ่งในเรื่องที่ตาลปัตรคือ ในสังคมของโจรสลัดเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง มีการเลือกตั้ง มีการจัดชุมชนสวัสดิการ ไม่มีศาสนา มีภาษาและระบบสัญลักษณ์เฉพาะ

ดังนั้น การพยายามทำลายโลกของโจรสลัดในทะเล จึงเป็นการทำลายโลกที่แตกต่างจากผืนแผ่นดิน ก่อนศตวรรษที่ 19

ทะเลจึงมีความหมายที่โรแมนติก ปราศจากอำนาจรัฐเข้ามาควบคุม

ขณะเดียวกัน กำพลกล่าวว่า ในโลกของโจรสลัด ผู้หญิงยังมีบทบาทที่หลากหลาย ทั้งในฐานะผู้ช่วยและผู้กระทำ เช่น แม่ เมีย ชู้รัก ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษา คู่คิด เป็นแม่ครัว สายลับสืบข่าว

โดยก่อนศตวรรษที่ 19 การที่ผู้หญิงจะสามารถขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่เท่าเทียมกับผู้ชายได้มีเพียงอย่างเดียวคือการเป็นผู้ชายเทียม โดยการแต่งกายปลอมแปลงเป็นผู้ชาย เข้าไปทำงานควบคู่ เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ในฐานะกะลาสีเรือ ท่องโลกไปด้วยกันกับผู้ชาย

ส่วนโจ สแตนลี่ ได้เสนอเพิ่มเติมว่า การออกท่องโลกของผู้หญิงไม่ได้ไปในฐานะการตามสามีหรือชู้รักเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีจุดมุ่งหมายของการแสวงหาเสรีภาพ การผจญภัย และการแสดงบทบาทท้าทายต่อโลกที่ครอบงำโดยผู้ชาย หรือผู้ชายเป็นใหญ่ ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง

นอกจากนี้ โจรสลัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ได้มีแค่จีน แต่รวมถึงโจรสลัดเวียดนาม มลายู กัมพูชา จำปา บูกิส ชวา เช่นเดียวกับโจรสลัดหญิงในสยาม เช่น อำแดงเหลียง อำแดงแก้ว อำแดงเกตุ ที่มีชีวิตโลดแล่นในรัชกาลที่ 3-4 จนถูกจับในต้นรัชกาลที่ 5

ในโลกทางทะเล ผู้หญิงจึงเป็นได้มากกว่าผู้หญิง คือเป็นทั้งผู้หญิงที่แต่งตัวเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงที่รักกับผู้หญิง และมีบทบาทมากกว่าการเป็นแม่และเมียอย่างที่เราเคยเข้าใจ

วงสัมมนาทั้ง 5 หัวข้อย่อยนี้ ได้ท้าทายมายาคติที่มีต่อผู้หญิง ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงที่เคยถูกฝังกลบผ่านความเป็นหญิง มากกว่าการเป็นบุคคลที่ยอมจำนน หากแต่คือผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายของตนเอง