E-DUANG : บทเรียน จาก “ปัญหา” ในแบบ “คนๆ เดียว”

เหมือนกับว่า กรณีของ “ธรรมกาย” มีจุดเริ่มต้นอย่างที่หลายฝ่ายสรุปออกมา
นั่นคือ เป็นเรื่องของ “คนๆ เดียว”
คือ เป็นเรื่องของ พระเทพญาณมหามุนี หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ธัมมชโย”
เป็นเช่นนั้นจริง
เพราะว่า “หมายจับ” เพราะว่า “หมายค้น” มุ่งไปยัง พระเทพญาณมหามุนี
แต่ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด
1 พระเทพญาณมหามุนี มิได้ดำรงอยู่อย่างลอยๆหากแต่ยังเป็น “พระ”
เคยเป็น “เจ้าอาวาส” วัดพระธรรมกาย
1 สถานะแห่งการเลื่อนระดับจาก พระธัมมชโย ในเบื้องต้นกระทั่งกลายเป็น พระราชภาวนาจารย์ และที่สุด พระเทพญาณมหามุนี ก็มีรากฐานและความเป็นมาที่แน่นอน
สะท้อนว่ามิได้เป็น “คนๆ เดียว”

พลันที่มีการนำเสนอบทสรุปในลักษณะที่ว่ากรณีวัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องของ “คนๆ เดียว”
ก็นำไปสู่นัยประหวัดไปถึง “อดีต”
อดีตในห้วงแห่งการเคลื่อนไหวของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
ก็เริ่มจาก “ปัญหา” ในแบบ “คนๆ เดียว” มิใช่หรือ
อดีตในห้วงแห่งการเคลื่อนไหวของ “กปปส.” ก็เริ่มจาก “ปัญหา” ของ “คนๆ เดียว” มิใช่หรือ
ในที่สุดก็นำไปสู่ “รัฐประหาร”
ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็น รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็มาจาก “คนๆ เดียว” เช่นกัน
ถามว่าแล้วปัญหาจาก “คนๆ เดียว” นั้นจบหรือไม่ ตอบได้เลยว่ายังไม่จบ
ที่ยังไม่จบ “สะท้อน” อะไร

สะท้อนว่า ไม่ว่าปัญหาก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่า ปัญหาก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
น่าจะมีอะไรมากกว่า “คนๆ เดียว”
เพราะว่า “คนๆเดียว” นั้นมิได้ดำรงอยู่อย่างไร้รากฐาน มิได้ดำรงอยู่อย่างไร้ความสัมพันธ์ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง
จากปัญหาของ “คนๆ เดียว” ในยุคก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังปัญหาของ “คนๆ เดียว” ในยุคการออกหมายจับ หมายค้นนับแต่เดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นมา
น่าจะเป็น “บทเรียน” น่าจะเป็นข้อควรคำนึง
ที่เห็นว่าเป็น “คนๆ เดียว” อาจไม่ใช่ก็ได้ เพราะ “คนๆ เดียว” ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 คงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียเป็นอย่างมากตามมา
“คนๆ เดียว” ในเดือนมิถุนายน 2559 ต่อเนื่องมายังเดือนมีนาคม 2560 จึงน่าจะมิใช่ “คนๆเดียว” อีกแล้ว