โลกร้อนเพราะมือเรา : ยุคแห่งความเสี่ยง กระทบชิ่งไปถึงกลุ่มธุรกิจประกันภัย

โล่งอกไปกับม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เมื่อทุกอย่างจบลงด้วยดี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมปล่อยตัวแกนนำและรับฟังความเห็นของฝ่ายคัดค้าน พร้อมกับนำประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสุขภาพมาศึกษาใหม่อีกครั้ง

ต้องขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ที่มองม็อบเป็นผู้หวังดีต่อประเทศ ไม่ใช่โจรผู้ร้าย เช่นเดียวกันต้องขอบคุณม็อบชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย

เมื่อทั้งสองฝ่ายเปิดทางรับฟังด้วยเหตุและผลทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าจะยังคงมีม็อบลุกฮือขึ้นมาคัดค้านต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอื่นๆ อีกต่อไป ตราบใดฝ่ายรัฐบาลยังไม่สามารถลบภาพความทรงจำในอดีตที่ฝังอยู่ในใจผู้คนมาตลอดช่วง 3 ทศวรรษ

ดังเช่น ภาพการปล่อยก๊าซพิษของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย

ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในประเทศยูเครนระเบิด ชาวยุโรปแตกตื่น ไม่กล้ากินอาหารที่นำเข้าจากยูเครน รัฐบาลยูเครนต้องอพยพผู้คนออกจากเขตอันตราย ใช้เงินมหาศาลกำจัดกากกัมมันตรังสีและสร้างอุปกรณ์ครอบซากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอาไว้

หรือภาพความทรงจำล่าสุดในเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิซัดถล่ม

ภาพเหล่านี้ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะลบไปจากความทรงจำของผู้คน แต่ในทางกลับกันถ้าเกิดเหตุซ้ำ ก็ยิ่งตอกย้ำความทรงจำให้ฝังแน่น

 

คราวนี้ขอกลับไปพูดถึงรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสวิตเซอร์แลนด์ 2050 ในบทว่าด้วยอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้เขียนบทนี้ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาคาร ฉายภาพความเป็นเมืองในปัจจุบันและอนาคตของสวิตเซอร์แลนด์ กับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในด้านต่างๆ

ผู้เขียนมองว่า การพัฒนาประชากร แนวโน้มและพฤติกรรมของผู้คนในยุคปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน

ในระยะสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ตอนกลางของสวิสมีการขยายตัวของเมืองอย่างมาก

ชายขอบเมืองเติบโตรวดเร็ว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมการทำงาน โครงข่ายคมนาคม การจราจร และการออกแบบโครงสร้างอาคารต่างๆ

เมื่อชุมชนขยายมากขึ้น พื้นที่ชายขอบขยายตัวตาม บางพื้นที่รุกเข้าไปในเขตที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อเกิดสภาวะอากาศวิกฤต เช่นอยู่ตามแนวภูเขา ในหุบเขาลึก

ข้อมูลที่มีความจำเป็นต่อการวิเคราะห์ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในช่วงเกิดคลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ

ข้อมูลปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ

ความถี่ในการแปรปรวนของสภาวะอากาศ ทั้งในช่วงฤดูหนาว มีปริมาณหิมะเพิ่มขึ้นหรือลดลง การเกิดฟ้าผ่า ฟ้าคะนอง ความเร็วของกระแสลมและลมกระโชก

 

วิศวกรและสถาปนิก รวมทั้งนักผังเมืองจะนำข้อมูลเรื่องของสภาวะอากาศมาวิเคราะห์เพื่อลดหรือป้องกันความเสี่ยงจากโครงสร้างพื้นฐานหรืออาคารบ้านเรือนพังทรุดลงมาเนื่องจากฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่ โคลนทะลัก หิมะถล่ม

นอกจากนี้ ยังต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบวัสดุอุปกรณ์อาคารบ้านเรือนให้มีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ประหยัดพลังงานรวมถึงความน่าอยู่น่าอาศัย น่าทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดคลื่นความร้อน อากาศหนาวเย็นจัด หรือฟ้าผ่าทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง

นักผังเมืองใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมาคำนวณเรื่องของการบริหารจัดการแหล่งน้ำ แหล่งพลังงาน ถนน ทางรถไฟและระบบการจราจร

เมืองเติบโตมากเท่าไหร่ ข้อมูลเรื่องโลกร้อนยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นในการวางผัง

ปัจจุบันเมืองที่มีประชากรอยู่กันหนาแน่น เกิดปัญหาเรื่องของการไหลเวียนของอากาศ เพราะตึกอาคารแออัด แต่ละอาคารติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

ขณะที่ระบบการจราจรติดขัด เนื่องจากผู้คนใช้รถยนต์ส่วนตัว การปล่อยก๊าซเสีย ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีผลต่อสุขภาพและทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม

การวางผังเมืองยังต้องคิดถึงการเปิดพื้นที่โล่ง ทางเดินสาธารณะ และการปลูกต้นไม้เพิ่มแนวสีเขียว

ผู้เขียนสรุปในตอนท้ายของบทว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศในขณะนี้ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ในฤดูร้อนของปี 2546 เกิดคลื่นความร้อน ผู้คนล้มป่วย ชุมชนเมืองได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ชุมชนเมืองของสวิสตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย

 

ภาวะเสี่ยงภัยดังกล่าว กระทบชิ่งไปถึงกลุ่มธุรกิจประกันภัยซึ่งต้องเจอภาวะสุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น

บริษัท สวิส รี (Swiss Re) เป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ รวบรวมข้อมูลหายนภัยเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศทั่วโลกเช่นเฮอร์ริเคน ทอร์นาโด ภัยแล้ง พบว่า เมื่อปี 2558 เกิดเหตุเหล่านี้มากถึง 198 ครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สวิส รี” ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แก้ยาก และถือเป็นความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย

อุตสาหกรรมประกันภัยกำลังเดินเข้าสู่มุมอับเพราะภาวะโลกร้อน ไม่สามารถวิเคราะห์ได้แม่นยำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีความถี่มากน้อยแค่ไหน และรุนแรงอย่างไร

นักธุรกิจประกันภัยใช้ข้อมูลพื้นฐานในอดีตมาคำนวณราคาและการประเมินความเสี่ยง

แต่เวลานี้ ข้อมูลเรื่องหายนภัยจากภาวะโลกร้อนในอดีตนำมาใช้ไม่ได้แล้วเพราะเหตุการณ์ช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาแปรเปลี่ยนไปมาก

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อปี 2423 มีการวัดอุณหภูมิโลกปรากฏว่าเพิ่มสูงขึ้น แต่นับจากปี 2553 อุณหภูมิเพิ่มพรวดทำลายสถิติเก่าๆ ที่บันทึกไว้

นักประกันภัยชี้ว่าในอนาคตข้างหน้า ภาวะโลกร้อนจะซับซ้อนมากขึ้น และวิเคราะห์ประเมินได้ยาก เพราะข้อมูลประชากร ธุรกิจหรือการก่อสร้างแปรผัน

เมื่อก่อนนี้ บ้านเรือนไม่ได้สร้างใหญ่โต ผู้คนอยู่กันกระจัดกระจาย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญประกันภัยของสหรัฐ สำรวจพบว่ามีนักประกันภัยเพียง 22 คนจากทั้งหมด 148 คน ที่สามารถนำข้อมูลของรัฐบาล การจำลองเหตุหายนภัย การบริหารจัดการความเสี่ยง มาวิเคราะห์ประเมินผลการทำประกันภัยได้ถูกต้อง

บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งสวิส รี, มิวนิค รี และลอยด์ แห่งลอนดอน พยายามผลักดันรัฐบาลประเทศต่างๆ เตรียมแผนรับมือกับภัยพิบัติ การบรรเทาสาธารณภัย เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากภาวะโลกร้อน