มนัส สัตยารักษ์ : ตำรวจไม่มีประโยชน์อะไร

ผู้ใหญ่ที่น่านับถือท่านหนึ่งพูดไว้นานแล้วว่า เมื่อเกิดเหตุอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมอย่างรุนแรง สิ่งแรกที่คนไทยทำคือ “หาตัวคนผิด”

หลังจากนั้นถัดมาอันดับสองจึงคิดทบทวนถึงมูลเหตุ ปัจจัย แล้วจึงลงมือแก้ไข เยียวยา และต่อไปอันดับสาม จึงคิดต้นหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก หรือวางแผนล่วงหน้าเผื่อไว้สำหรับดำเนินการถ้าหากเกิดเหตุวิกฤตทำนองนี้อีก

ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าใครเป็นเจ้าของคำพูด ด้วยว่าผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ที่ผมนับถือมีมากมายหลายท่าน ผมหยิบออกมาจากความจำมาเรียบเรียงใหม่ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องคำต่อคำ เพียงแต่ยืนยันได้ว่าเป็นความจริงตามนี้ครับ

คือ…หาคนผิดก่อน!

 

ที่คนบางจำพวกต้อง “หาตัวคนผิด” ไว้ก่อน เหตุผลหลักก็คือตัวเองจะได้พ้นผิด เหตุผลที่สองก็คือได้ทำลายฝ่ายตรงข้าม และเหตุผลที่สามก็เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น… เบี้ยวแค่ครั้งเดียวได้ผลโคตรคุ้ม

ลองนึกถึงเมื่อเวลาบ้านเมืองต้องประสบกับภัยพิบัติ… ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย สึนามิ ภัยแล้ง ไฟไหม้ แผ่นดินไหว อาชญากรรมร้ายแรงหรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ฯลฯ แต่ผู้รับผิดชอบมัวแต่ “หาตัวคนผิด” หรือมัวแต่ค้นคว้าข้อกฎหมาย ระเบียบ กฎข้อบังคับต่างๆ เพื่อป้องกันตัวให้ไม่ต้องถูกกล่าวโทษในภายหลัง หรือเพื่อให้พ้นผิดไว้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องนิรโทษกรรม

หมดเวลาไปกับเรื่องเหล่านี้จนความเสียหายของประชาชนบานปลาย

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เกือบทุกเหตุการณ์วิปริต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ พระองค์ท่านไม่ต้องรอ “หาตัวคนผิด” ท่านจึงช่วยเหลือประชาชนได้ทันกาลและทั่วถึง

ผมจำเรื่องประเภทนี้ค่อนข้างแม่น เพราะน้ำเคยท่วมอำเภอบ้านเกิดของผมเมื่อหลายปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งให้เรือรบของราชนาวีไทยนำอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค ฯลฯ ลงไปช่วยประชาชนก่อนที่รัฐบาลจะกระดิกตัว!

หรือเมื่อคราว “สึนามิ” ก็เช่นกัน ส.ส.ปักษ์ใต้แทนที่จะพูดถึงสภาพของปัญหาและการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หลายคนกลับเอาแต่ให้สัมภาษณ์ว่า “ค่าใช้โทรศัพท์มือถือแพง” เพราะนายกรัฐมนตรียุคนั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของสัมปทานผูกขาดโทรศัพท์มือถือ…เป็นคนผิด

ผู้สื่อข่าวทีวีบางช่องก็เอาแต่ด่าราชการว่าไม่เก็บศพผู้เสียชีวิต เพราะพวกผู้สื่อข่าวที่ตามไปทีหลัง ไม่รู้และไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่เขาเก็บศพจำนวนมากไม่ทัน

 

มาปีนี้บ้านเมืองแตกแยกมากกว่าสามก๊กจนชุลมุน ไม่แน่ใจว่าใครเป็นสีอะไร อยู่ฝ่ายไหน เป็นวงใน แกนนำหรือเปล่า หรือเป็นพวกเฮตามกระแส หรือเป็นแค่พวก “เอามัน”

การจะกล่าวโทษใครต้องระมัดระวังรอบตัว อาจถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ดีไม่ดีอาจจะถูกวิพากษ์หรือตอบโต้ด้วยถ้อยคำแสนหยาบเอาจากหลายฝ่าย

หนทางที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ “โทษตำรวจ” ด้วยว่าตำรวจถูกด่าเสียจนชินชา โกรธใครไม่เป็นอยู่แล้ว และตำรวจมีเรื่องที่ควรตำหนิมาแต่ดึกดำบรรพ์ มาปีนี้มีทั้งเรื่องเก่ามา “อัพเดต” และเรื่องใหม่ร้อนๆ หลายเรื่องก็ควรถูกตำหนิและถูกกล่าวโทษถึงฟ้องศาลก็มี

ด่าได้หลายเรื่องก็จริง แต่ไม่น่าจะบ้าถึงขนาดว่าต้องยกเลิกตำรวจและเหยียบย่ำตำรวจว่าไม่มีประโยชน์อะไรต่อบ้านเมือง

ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบอำนาจให้ พ.ต.อ.วรวิทย์ ญาณจินดา รรท.ผกก.ฝอ.8 บก.อก. บช.น. ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดีกับ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กับพวก ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีการเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)

ผมซึ่งเกษียณอายุจากความเป็นตำรวจมา 20 ปีแล้วยังรู้สึกถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และรู้สึกถูกหมายหัวกาหน้าว่าเป็นศัตรู!

 

ผมเคย “ปะหน้า” ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ หนหนึ่งในคืนรำลึกถึง “14 ตุลา” ที่สนามหลวง ผมจำปีไม่ได้ จำได้แค่ว่าเพิ่งเกษียณอายุไม่นาน เพื่อนรุ่นน้องผู้มีบทบาท “14 ตุลา” จากธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่รู้บทบาทของผมดีเป็นผู้ชักชวน

ก็แค่สบตากันอย่างระแวดระวัง เพราะผมรู้ดีว่าเขาเคยเสนอให้ยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจโดยเหตุผลว่า “ไร้วุฒิภาวะ”… เป็นข้อเสนอแค่ “เอามัน” เท่านั้น

ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะรู้จักผมหรือไม่ เพราะผมไม่ใช่คนดัง ผมไม่อยากรู้จักและไม่อยากเป็นเพื่อน แม้จะโกรธที่เขาเหยียดหยามสถาบันการศึกษาของผม แต่ก็เชื่อว่าไม่มีใครบ้าทำตาม ผมไม่คิดจะต่อกรด้วย เจียมตัวว่าจบปริญญาตรี ไม่ใช่นักพูด โกหกบิดเบือนไม่เก่ง

แต่ถ้ามีโอกาสเขียนก็จะเขียน

สัปดาห์ที่แล้วเขียนถึงที่เขาให้สัมภาษณ์ดูหมิ่นผลงาน ปปง. ผมไม่แน่ใจว่าเขายังเป็นคณะกรรมการ ปปง. อยู่หรือเปล่า (มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ให้สัมภาษณ์บิดเบือนดูหมิ่นหน่วยงานที่ตัวเองร่วมรับผิดชอบด้วย) จึงส่งต้นฉบับไปโดยไม่ยืนยันฐานะนี้

ต่อมาผมนึกได้ว่า พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันกุล เลขาธิการ ปปง. กับ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีตเลขาธิการ ต่างเป็นศิษย์เก่า นรต. ซึ่งเขาเหยียดหยามจนรับไม่ได้นั่นเอง

ผมเริ่มสงสัยอาจารย์ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ผมนับถือมาตั้งแต่ท่านเป็นเลขาธิการ ก.พ. สอนเรื่อง “การวิเคราะห์ปริมาณงาน” และประทับใจในความกล้าหาญของท่าน เมื่อครั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ผมสงสัยว่าเหตุใดอาจารย์จึงเลือกคนแค่พูดเอามันโดยไม่รับผิดชอบ มาเป็นคณบดีวิทยานวัตกรรมสังคม ในมหาวิทยาลัยรังสิต อันมีชื่อเสียง

และผมโกรธรัฐบาล คสช. ที่แต่งตั้งคนมีแต่อคติมาทำงานสำคัญระดับชาติกินเงินเดือนเป็นแสน ก็เท่ากับรัฐเอาเงินผมมาจ่ายให้คนไม่เป็นมิตรมาเหยียบย่ำผม… ผมอยู่ในอารมณ์โกรธแค้นอย่างนี้จะไปสนับสนุนรัฐบาลได้อย่างไร?