มนัส สัตยารักษ์ : มันปากจนปากเป็นมัน พวกนักวิชาการเหยียบย่ำตำรวจ

เมื่อมีข่าว “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น” จัดเสวนาเรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” ในฐานะตำรวจเก่า ผมฉุนกึกขึ้นมาทันที เพราะหัวข้อดังกล่าวบอกให้รู้ว่า จุดประสงค์ของการเสวนาครั้งนี้เพื่อเหยียบย่ำตำรวจ “เอามัน” เป็นหลัก ไม่ได้มุ่งหวังจะเสนอความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์อะไรเลย

ยิ่งเมื่อเห็นรายชื่อผู้เข้าสัมมนาบางคนก็ยิ่งเห็นชัดถึงเจตนา

ชื่อขององค์กร, ชื่อของหัวข้อที่ตั้งขึ้นเพื่อเสวนา ตลอดจนรายชื่อของนักวิชาการบางคน ทั้ง 3 ประการนี้ประมวลกันแล้วมันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการ “เอามัน”


ชื่อองค์กร

ความเป็น “เอ็นจีโอ” ทำให้อดกังขาไม่ได้ว่า น่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อหาเงินสนับสนุนจากใครก็ได้ อาจจะเป็นผู้หลงเชื่อบริจาค หรือจากรัฐบาลที่สนับสนุน หรือจากเศรษฐีต่างประเทศอย่าง จอร์จ โซรอส (George Soros) เป็นต้น

ความสงสัยทำให้เปิดดูในกูเกิล จึงได้เห็นชื่อเต็มๆ ขององค์กรนี้ต่อท้าย อยู่ในวงเล็บว่า (ประเทศไทย) เป็นองค์กรที่รัฐบาล คสช. ตั้งขึ้นทำนองเดียวกับหลายสิบองค์กรอื่น เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร งบประมาณการดำเนินการ เบี้ยประชุม ฯลฯ มาจากเงินของรัฐ

การที่ถูก “จัดตั้ง” ขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันเอง ทำให้แต่ละองค์กรต่างฟาดฟันกับพรรคการเมืองและหน่วยงานอื่นที่เห็นต่างหรืออยู่กันคนละขั้ว สับสนและซับซ้อนในลักษณะเดียวกับนิยายกึ่งพงศาวดารจีนเรื่อง “สามก๊ก”

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กร เคยถูกภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจจิตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ยื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าในฐานะเป็นประธานโตโยต้าฯ นายประมนต์เข้าข่ายเลี่ยงภาษีรถยนต์กว่า 11,000 ล้านบาท

เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในระหว่างการฟ้องกันไปมาในศาล ไม่รู้ใครถูก-ผิด แต่อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกเสื่อมศรัทธาไปแล้ว


ชื่อหัวข้อเสวนา

ชื่อองค์กรว่า “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น” แล้วทำไมไม่เสวนากันเรื่องคอร์รัปชั่นที่กำลังร้อนๆ ฮือฮากันอยู่ เช่น

– อันดับคอร์รัปชั่นไทยในโลก ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International จัดอันดับภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น ปี 2559 ไทยหล่นจากอันดับ 76 ไปอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก

– เรื่องโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบน ก็น่าสนใจมากกว่าเรื่องตำรวจ องค์กรจะได้แฉการทุจริตของนักการเมืองระดับสูงหลายคน หลายพรรคและหลายรัฐบาล หรือว่าความเป็นนักการเมืองระดับสูงทำให้องค์กรไม่อยากแตะ?

– วิเคราะห์หามาตรฐานของคำว่า สินบน, ค่าหัวคิว, ส่วนต่างมากไปหน่อย, ของแถม, ใครๆ เขาก็ทำกัน ฯลฯ … คำและวลีใหม่ๆ เหล่านี้แปลว่า “ทุจริตคอร์รัปชั่น” – ใช่ หรือ ไม่ใช่?

สรุปได้ว่าเป็นการตั้งชื่อเพื่อ “เอามัน” กับตำรวจเท่านั้น เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นคำถามอย่างเด็กไร้วุฒิภาวะ เพียงเพื่อเหยียบย่ำองค์กรตำรวจ


ชื่อผู้เสวนา

อดีตนายตำรวจดัง ผมจำชื่อไม่ได้ แต่จำเรื่องราวได้ ท่านดังเพราะถูกลูกน้องไล่ด้วยระเบิด เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่พักใหญ่ด้วยว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันในแวดวงราชการ

ในวงเสวนาท่านพูดเหยียดหยามอาชีพตำรวจว่า “แม้แต่สอบนายสิบยังโกง”

ผมขอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด (จากการพูดเอามัน) ว่า คนที่โกงไม่ใช่ตำรวจ แต่ตำรวจต่างหากที่ถูกโกง และคนที่จับกลโกงได้คือตำรวจเอง ไม่ใช่เทวดาจากที่ไหน

ผู้เสวนาท่านหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตเป็นนายตำรวจเหมือนกัน ท่านพูดถึงการปฏิรูปตำรวจต้อง “กระจายอำนาจ”

ผมไม่ใช่นักวิชาการ อาจจะจำไม่ได้ แต่คลับคล้ายคลับคลาว่า เรามีกฎหมายกระจายอำนาจตำรวจและปฏิบัติกันอยู่แล้ว

อนึ่ง ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้เมื่อประมาณกลางปีที่แล้วว่า องค์กรที่มีเหตุทุจริตมากที่สุดคือ “อบต.” (ผลิตผลจากการกระจายอำนาจ) และเมื่อปลายธันวาคม 2559 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แชมป์ทุจริตมากสุด กว่า 1,496 เรื่อง เสียหายรวม 11,686 ล้านบาท”

กระจายอำนาจนั้นดีแน่ แต่มันก็เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย

ผู้ที่เสวนาได้น่าฟังและเป็นประโยชน์ในครั้งนี้ ก็คือ “กูรูยานยนต์” นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ เพราะท่านไม่มีอคติกับใครและหน่วยงานใด

ชื่อที่คุ้นเคยกันดีและเป็นหลักในงานเสวนาครั้งนี้ก็คือ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “นักสร้างราคา”

ในอดีต นักวิชาการท่านนี้แถลงผลการวิจัยทำนองว่าตำรวจมีผลประโยชน์จากบ่อนการพนันมหาศาล วิธีที่ทำให้ผลวิจัยน่าสนใจก็คือเพิ่มราคาผลประโยชน์ให้ “มากกว่ามหาศาล” เป็นร้อยเท่า และมากกว่างบประมาณแผ่นดิน จนสามารถยกระดับตัวเองจากนักวิชาการไม่มีราคา มาเป็นนักวิชาการที่น่าสนใจและ “พูดมัน” แม้ว่าต่อมาบ่อนก็ยังคงมีอยู่ ในขณะที่นักวิชาการเงียบไป

นอกจากสร้างราคาให้ตัวเองแล้ว ยัง “ลดราคา” คนใกล้เคียงด้วย…

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่อง สินบนของโรลส์-รอยซ์ ว่า การดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. อาจส่งผลกระทบเป็น “สึนามิทางเศรษฐกิจ”

เขากล่าวถึงประสิทธิภาพของ ปปง. ว่า “สถิติการยื่นคำร้องต่อศาลของ ปปง. เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1,200 ราย แต่ศาลให้เป็นไปตามคำขอเพียง 12 ราย”

สำนักงาน ปปง. ต้องออกเอกสารโต้การมั่วข้อมูล “เอามัน” ในครั้งนี้ โดยบอกสถิติที่ถูกต้องว่า “ปปง. ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 1,225 คดี ศาลให้ตามขอ 1,128 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.08

เอกสารที่แจกจ่ายสื่อมวลชน ปปง. กล่าวอย่างสุภาพว่า “การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ ปปง.”

ถ้าไม่คิดอะไรมากก็คงคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาของนักวิชาการ ที่ชอบจะลดราคาผู้อื่น แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งอาจจะเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้ต้องการปกป้องใครบางคนหรือหลายคนในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่อยากให้ ปปง. เข้าไป “ส่อง” ก็ได้

ที่แปลกประหลาดก็คือ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ปปง. อยู่ด้วย… ขับเคลื่อนกันมันจริงๆ พับผ่า