รู้จัก พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาฯนายกฯฝ่ายการเมือง เบื้องหลังงานสำคัญบิ๊กป้อม

หลายคนอาจเคยได้ยิน-เห็นชื่อผ่านตามข่าวสารต่างๆมาบ้าง สำหรับ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร)  ซึ่งเป็นตำรวจนักบริหารที่ไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ แต่ในวงการตำรวจพี่ๆ น้องๆ รู้จักกันดีในนาม “ดร.โอ๋” รับราชการเจริญก้าวหน้าในสายวิชาการ ติดยศพลตำรวจตรีเมื่ออายุ ๔๔ ปี เป็นคนแรกของ นรต. รุ่น ๓๒ มีเพื่อนร่วมรุ่น ตท. ๑๖ ที่เกษียณในตำแหน่งหลัก อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ. เหล่าทัพครบทุกเหล่า และ รอง ผบ.ตร. ที่ยังมีตำแหน่งในรัฐบาล พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห. แต่เริ่มเป็นข่าวในช่วงที่เข้ามารับงานด้านการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และ การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ท จนเป็นที่ยอมรับในวงการตำรวจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง NGOs เป็นหน่ึ่งในทีมงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ที่สร้างผลงานให้รัฐบาลในการเลื่อนลำดับจากเทียร์ ๓ ในปี ๒๕๕๘ ขึ้นถึงเทียร์ ๒ ในปี ๒๕๖๑

ในช่วงปลายปี ๒๕๖๑ สื่อให้ความสนใจเนื่องจากเป็นผู้มีความเหมาะสมที่จะขึ้นชิง รอง ผบ.ตร. ที่ว่างเพียงตำแหน่งเดียว แต่สมัครใจโอนมากินตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เทียบเท่าปลัดกระทรวง หรือ ซี ๑๑ โดยก่อนเกษียณอายุราชการ ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อ ๒๐ ส.ค. ๒๕๖๒

สำหรับผลงานระหว่างรับราชการ นายตำรวจรายนี้ฉายแววตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกรัฐศาสตร์ สาขาการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะจาก NIU สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๓๒ เพื่อนนักศึกษาในคณะเดียวกันมี ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. เริ่มต้นก็ได้เข้าร่วมเขียนแผนแม่บทกรมตำรวจฉบับแรก ต่อมาได้รับไม้ต่อจาก พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ ในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ หรือ ILEA และเริ่มโดดเด่นเมื่อได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ที่ทุ่มเทขับเคลื่อนผลักดันในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จนได้รับรางวัล PM Award ในปี ๒๕๕๙ เป็นที่รู้จักในนาม “มือปราบค้ามนุษย์” ได้รับความเชื่อมั่นจากตำรวจมิตรประเทศและ NGO ว่าเป็นนักบริหารจัดการที่ครองใจทีมงาน โดยเฉพาะในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ควบ หน.คณะทำงาน TICAC จนทำให้ผลงานเข้าตาทางการสหรัฐอเมริกาทั้งในสถานทูตและที่กรุงวอชิงตันดีซี ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวพ้นจากเทียร์ ๓ ในปี ๒๕๕๘ ขึ้นไปอยู่ที่เทียร์ ๒ ในปี ๒๕๖๑ “ผมมีวันนี้เพราะนายป้อมให้โอกาส ได้ขึ้นที่ปรึกษา (สบ ๑๐) ติดยศ พล.ต.อ. โอนมาเป็น ซี ๑๑ ช่วยงานที่ทำเนียบ แล้วตั้งให้เป็นเลขาดูงานทางด้านทำเนียบ นายท่านเมตตาใช้งานผม เป็นบุญคุณที่ผมต้องทดแทน นึกเสมอว่านายจัดให้ เอาเราไปวางไว้ตรงไหน ก็ต้องไปทำให้เรียบร้อย เปรียบท่านเป็นแม่ทัพ เราเป็นนายกอง แม่ทัพสั่งให้นายกองนำทัพไปรบ ที่ไหนก็ต้องไป ไม่ไปก็ถือว่าหนีทหารซิครับ” พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวยำ้ “ผ่าน รร.ตท. และ รร.เหล่า (นรต.) ต้องจงรักภักดี มีวินัย ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ”

แนวทางการทำงานในตำแหน่งนี้เพื่อช่วยงาน รอง นรม.
หน้าที่และอำนาจของรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รอง ลธน.ม.) ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย จึงยึดตามหลักนิยมจารีตประเพณี คือ เป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามเหตุผลในทางการเมือง โดยรองนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน มี รอง ลธน.ม. ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานเลขานุการและงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นงานนัดหมายภารกิจ ประสานงานกับหน่วยงานในกำกับดูแลของ รอง นรม. รวมทั้งงานที่ รอง นรม. มอบหมาย ซึ่งต้องเป็นคนที่ไว้วางใจ แบ่งเบาภาระในเรื่องบริหารราชการ ค่อยติดตามงานให้เรียบร้อย ราบรื่น

เป็นที่ทราบดีว่า รอง นรม. ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ๔ กระทรวงใหญ่ กับอีก ๕ หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการอีกกว่า ๔๐ คณะ ความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีปริมาณงานมากขนาดนี้ ต้องใช้แนวทางการบริหารจัดการที่ดี โดยผมเริ่มต้นที่การจัดทำคำสั่ง รอง นรม. แบ่งมอบงานภายในสำนักงานให้ชัดเจน ให้มีผู้รับผิดชอบกำกับดูแลงานของกระทรวง หรือ หน่วยในสำนักนายกรัฐมนตรี และงานของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบกลั่นกรองงานเพื่อเสนอ รอง นรม. พิจารณาอนุมัติ สั่งการ ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อเสนอเรื่องต่อไปยัง นรม. หรือนำเข้า ค.ร.ม. รวมทั้งการจัดทำนัดหมายเชิญเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจงเรื่องก่อนกำหนดการประชุมคณะกรรมการ จนกลายเป็นระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) ตามที่กล่าวมานี้ เป็นภาคบังคับที่สำนักงาน รอง นรม. ตั้งรับงานต่างๆ ที่ตามกระบวนการเลื่อนไหลขึ้นมาจากกระทรวงและหน่วยงานในกำกับดูแล ขึ้นอยู่กับหน่วยข้างล่าง หากหน่วยปล่อยเกียร์ว่างหรือมีไอ้เข้ขวางคลอง งานไม่ถูกจัดเตรียมส่งขึ้นมา ปัญหาที่ติดตามมาก็ยากที่จะคาดเดา ผมทราบดีว่าในเมื่อเราได้รับความไว้วางใจ เกมตั้งรับเรียบร้อยดีอย่างเดียวไม่พอ ระบบกลไกในการเดินเกมรุกรบ ไม่เพียงเพื่อการเฝ้าระวังเคลียร์เส้นทางเดินให้ราบรื่นในการขับเคลื่อนผลักดันให้เป็นตามทิศทางนโยบาย รู้เท่าทันและดักให้ถูกทาง แก้ปัญหาอุปสรรคล่วงหน้าได้แต่เนิ่นๆ ยังมีงานเชิงรุกที่ฝ่ายนโยบายต้องใช้ภาวะการนำในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มคะแนนนิยมทางการเมือง

สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าจำเป็นในการบริหารจัดการ คือต้องมองเกมทั้งกระดาน ทั้งตั้งรับ และรุกรบ ไปพร้อมๆ กัน ผมก็เหมือนหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ ทำเนียบขาวเรียกว่า Chief of Staff ส่วนในภาษาสามก๊กเรียกว่า Junshi แปลเป็นไทยว่า กุนซือ เห็นว่า ณ เวลานี้เข้าโหมดการเมืองเต็มตัว ภาพลักษณ์และผลงานที่สร้างคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นต่อท่าน รอง นรม. คือสองปัจจัยที่สำคัญมากๆ เพื่อเติมเต็มบางสิ่งบางอย่างที่ขาดไป จึงสร้างทีมงานประชาสัมพันธ์ และคณะทำงานติดตามข้อสั่งการของ รอง นรม. ขึ้น ช่วงแรกเร่ิมก็จะคลุกคลักบ้างเป็นธรรมดาครับ แต่คิดว่ามาถูกทางเลยทีเดียว ผมวางกรอบและขั้นตอนในการติดตามและขับเคลื่อนงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตรงนี้เรียนว่า ได้มาตอนศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา แนวคิดที่เรียบง่าย ปฏิบัติได้จริง มีขั้นตอน นำมาประยุกต์ใช้เท่าที่สอดคล้องกับสถานการณ์ คือ (๑) เร่ิมต้นสำรวจเนื้องานที่มีอยู่บนหน้าตักทั้งหมด (๒) จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน (๓) ติดตามและขับเคลื่อนงาน (๔) บูรณาการทุกภาคส่วนนำไปสู่การปฏิบัติ (๕) รายงานผลการปฏิบัติ (๖) รับนโยบายและข้อตกลงใจ จัดทำคำสั่งหรือหนังสือแจ้งหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ภายในหน้าที่และอำนาจของ รอง นรม. ซึ่งผมเรียกว่ากระบวนการนี้ว่า SPM – IRC (Scanning, Prioritizing, Monitoring & Mobilizing, Implementing & Integrating, Reporting, Commanding) เชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้่งานได้ทุกเรื่องทุกประเด็นนโยบาย ผมเคยใช้สำเร็จมาแล้วในเรื่องค้ามนุษย์ และกำลังใช้ในการติดตามมติ กนป. ซึ่ง นายป้อม (พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน กนป.) ดันราคาปาล์มน้ำมันเกิน กก.ละ ๔ บาท เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ รัฐบาลประหยัดงบประมาณ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ เปิดใจ “กลไกนี้ช่วยแบ่งเบาภาระงานให้รอง นรม. ได้ แบบที่ไม่ห่วงหน้า พะวงหลัง สิ่งที่ผมยึดมั่นอยู่เสมอ คือ ผมไม่จัดการนอกสั่ง รายงานนายทุกเรื่อง ไม่แน่ใจขอข้อตกลงใจก่อนที่จะทำ ที่ถือมาก คือ ไม่อ้างชื่อนายไปหาประโยชน์เด็ดขาด”

มองภาพการเมืองไทยในอนาคตอย่างไร
ประเด็นแรก ผมมองจากรัฐศาสตร์พื้นฐานที่ได้รำ่เรียนมาเหมือนแว่นตา เราจะเห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนผ่านเพื่อทำความเข้าใจกับปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวผมเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเปลี่ยนผ่านตามกระบวนการอยู่ในขณะนี้ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องปรับตัว หยุดเล่นการเมืองเพียงระยะสั้นๆ ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ สุดท้ายประเทศชาติจะต้องอยู่ได้ อีกประการหนึ่ง ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โลก อาทิ สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลัทธิกีดกันทางการค้าที่โลกตะวันตกนำมาใช้เครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ สถานการณ์ Disruption ทางเทคโนโลยีด้านสื่อสารและพลังงานทดแทนต่างๆ ซึ่งกำลังเผชิญอยู่ตรงหน้าของทุกคน ย่อมกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคลงไปถึงรากหญ้าทั่วทุกประเทศ ประการสำคัญ การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนบ้านเมืองไร้ขื่อแปแทบล่มสลาย การสถาปนาความสงบเรียบร้อยในการบริหารบ้านเมืองภายใต้การนำของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือว่าเปลี่ยนผ่านเฟสแรกไปได้ มาถึงวันนี้เรามีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนับว่าเข้าสู่เฟสสองระยะต้น ไม่ลืมว่ารัฐบาลผสมย่อมมีเสถียรภาพตราบเท่าที่ทุกอย่างลงตัว ผมเชื่อรัฐบาลนี้อยู่ได้ แต่ต้องประคับประคองกันไป ไม่สะดุดขาตัวเองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ทุกพรรคก็ต้องพยายามสร้างคะแนนนิยมตามประเด็นนโยบายที่หาเสียงไว้ โดยส่วนตัวผมเชื่อมั่นทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มีความจงรักภักดี ตั้งใจทุ่มเท เพื่อสถาบัน ประเทศชาติ และประชาชน มีผลงานตั้งแต่ยังรับราชการทหาร โดยเฉพาะในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถแก้ไขปัญหานำพาประเทศผ่านวิกฤตการณ์มาได้ ยังแก้ปัญหาที่หลายรัฐบาลในอดีตปล่อยให้ลุกลามขยายตัวถึงขั้นถูกยื่นใบแดงจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ปัญหาการค้ามนุษย์ ประมงผิดกฎหมาย มาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านการบินที่ไทยปลดธงแดง ICAO IUU Fishing รวมทั้งหลุดจาก US TIP Report เทียร์ ๓ ขึ้นมาอยู่เทียร์ ๒ ได้ เป็นต้น

จากมุมมองข้างต้น การเมืองไทยควรสร้างสรรค์นโยบายที่ตอบโจทย์แบบยั่งยืน ไม่ใช่แบบขายฝันหรือปั่นกระแสนิยมข้ามคืน ในประเด็นนี้ผมเชื่อว่าไทยมาถูกทางเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี การพัฒนานโยบายบนพื้นฐานของการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ คือการแข่งขันทางการเมืองที่ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แรงสนับสนุนจากฝ่ายข้าราชการประจำคือหลักประกันว่านโยบายที่ดีจะนำไปสู่การปฏิบัติ “ข้อพิสูจน์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วงเร่ิมแรก เห็นได้ชัดว่า มติ กนป. ที่ พล.อ.ประวิตร เป็นประธานกรรมการในการผลักดันราคาปาล์มนำ้มันตามหลักอุปสงค์-อุปทานของกลไกตลาด การดูดซับนำ้มันปาล์มดิบ (อุปทาน) ออกจากสต็อกส่วนเกิน ควบคู่ไปกับการเพ่ิมความต้องการนำ้มันปาล์มดิบ (อุปสงค์) ในการผลิต บี๑๐๐ สำหรับไบโอดีเซล บี๑๐ ถือเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับทฤษฎีการตลาด เชื่อว่างบประมาณที่เตรียมไว้รองรับมติ กนป.ในครั้งนี้อาจใช้เพียงแต่ ๑ ใน ๓ ไม่เพียงชาวสวนปาล์มที่มีรายได้เต็มกอบเต็มกำ มากกว่าส่วนต่างในการประกันรายได้ ผู้ประกอบการขายนำ้มันปาล์มมีกำไรแบบอยู่ได้ ไบโอดีเซลมีราคาที่จูงใจ ลดการนำเข้านำ้มันดีเซล มลพิษจากท่อไอเสียรถบรรทุกลดลง นี่แหละคือ ทุกอย่างที่ตอบโจทย์ ผมเชื่อว่าฝ่ายประจำเต็มใจที่จะนำนโยบายที่ดีแบบนี้ไปสู่การปฏิบัติ หากฝ่ายนโยบายมีความจริงใจ ผลักดันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติให้ราบรื่นเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และนี่แหละคือ การเมืองที่คนไทยอยากเห็นเกิดขึ้นจนกว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกื้อหนุนให้ประเทศชาติก้าวต่อไปได้” พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

———————————————————————————————

ประวัติและผลงาน

๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๐๕/๒๕๖๒ ลง ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๒

๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พ้นจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เนื่องจากได้มีคำสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๔๗/๒๕๖๒ ลง ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ประกาศ ณ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒)

๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ โอนเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เทียบเท่าปลัดกระทรวง

๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ ครองยศพลตำรวจเอก ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ ๑๐)

๒๕๕๖ – ๒๕๕๙ ครองยศพลตำรวจโท ตำแหน่งจเรตำรวจ (สบ ๘) ผู้บัญชาการสำนักงานงบประมาณและการเงิน และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

๒๕๔๕ – ๒๕๕๖ ครองยศพลตำรวจตรี ในตำแหน่ง ผู้บังคับการบริการการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศฯ (ILEA Bangkok) รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (๒๕๕๘) มหาวชิรมงกุฎ (๒๕๕๓) ประถมาภรณ์ช้างเผือก (๒๕๔๘) ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (๒๕๔๕)

ประวัติการศึกษาฝึกอบรม รร.ตท. รุ่นที่ ๑๖; รป.บ.(ตร.) รร.นรต. รุ่นที่ ๓๒; ป. โท M.P.A. จาก Kentucky State University สหรัฐอเมริกา; ป. เอก Ph.D. สาขารัฐศาสตร์ (การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ) จาก Northern Illinois University สหรัฐอเมริกา; ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ ๑๓; หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๕๔; หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ ๓

รางวัลเชิดชูเกียรติและความสามารถพิเศษ ได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์จากรัฐบาล ประจำปี ๒๕๕๙; ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น นักศึกษาปริญญาโทและเอกในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ๑๙๘๗ Gene Carte Student Paper Competition Award First Place Winner by the American Society of Criminology (๒๕๓๐);

ได้รับรางวัลนักศึกษาปริญญาเอกดีเด่น Gerald Maryanop Fellow ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเทอร์นอิลลินอยส์ (๒๕๓๒); ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Simple Theory, Hard Reality : The Impact of Sentencing Reforms on Courts, Prisons, and Crime by State University of New York Press, 1995 (๒๕๓๖); มีความสามารถพิเศษในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และภาษาจีนกลาง อยู่ในเกณฑ์ดี