วิรัตน์ แสงทองคำ : โรงเรียนจากอังกฤษ (1) : ที่มาที่ไป มาเมืองไทยได้อย่างไรกัน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สังคมไทยเปิดประตูต้อนรับโรงเรียนแบบฉบับอังกฤษอย่างกว้างขวาง อย่างไม่น่าเชื่อ

“โรงเรียนนานาชาติ Rugby School Thailand ที่ใช้หลักสูตรจากโรงเรียนชั้นนำ Rugby School จากประเทศอังกฤษ จะเปิดการศึกษาครั้งแรกในเดือนกันยายน 2560” ข่าวการศึกษาชิ้นหนึ่งข้างต้น เมื่อบวกกับผู้คนเกี่ยวข้องแล้ว กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมา

เรื่องราวข้างต้นเกี่ยวข้องกับครอบครัวทีปสุวรรณ ทั้ง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. และ ทยา ทีปสุวรรณ (นามสกุลเดิม ศรีวิกรม์) อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริบัตร) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในฐานะประสบการณ์บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์ ย่านสุขุมวิท

ทั้งสองมาจากครอบครัวธุรกิจ ซึ่งมีรากฐานมานาน เติบโตตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ยุคอเมริกันมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก ซึ่งไม่ถือว่าเป็น “หน้าใหม่”

ณัฏฐพล เป็นบุตรนักบริหารซึ่งทำงานอยู่กับตระกูลรัตนรักษ์มานาน วีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ ปัจจุบันเป็นทั้งประธานกรรมการธนาคารกรุงศรีอยุธยา และปูนซีเมนต์นครหลวง

ส่วนทยา เป็นบุตรี เฉลิมพันธ์-ศศิมา ศรีวิกรม์

ที่น่าสนใจ ทั้งวีระพันธุ์ และเฉลิมพันธ์-ศศิมา ล้วนเป็นนักเรียนอเมริกัน (จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา)

เรื่องราวโรงเรียนนานาชาติแบบฉบับอังกฤษ กับชนชั้นนำ และกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของไทย กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และเป็นภาพเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ว่าด้วยโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งก่อตั้งในสังคมไทยมาแล้วเกือบๆ 70 ปี แต่อยู่ในวงแคบๆ

และแล้วการก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติมีขึ้นอย่างครึกโครมในช่วงรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน เป็นปรากฏกาณ์ตามนโนบาย เปิดธุรกิจเสรี เป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีโรงเรียนนานาชาติขึ้นอย่างครึกโครม เป็นแห่งเดียวในโลกที่โรงเรียนเอกชนชั้นนำของอังกฤษถึง 6 แห่งเปิดเครือข่ายของตนเองในประเทศไทย ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประเทศที่มิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเป็นประเทศที่มี “ความล้มเหลว” ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างมากด้วย

ท่ามกลางระบบการศึกษาไทยในระดับพื้นฐานกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย มิใช่มาจากความพยายามปรับตัวของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใดไม่ หากยังถือได้เป็นผลพวงมาจาก “ความล้มเหลว” ของระบบการศึกษาซึ่งมีดัชนีบ่งชี้หนักแน่นอย่างไม่เคยมีมาก่อนมากขึ้นๆ

เรื่องราวการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ผมได้ให้ความสนใจนำเสนอมานานพอสมควร

ซึ่งปรากฏว่ามหาวิทยาลัยไทยอยู่ในฐานะไม่ดีเลย เช่นเดียวกันให้ความสนใจนำเสนอรายงานวิจัยที่น่าตกใจ ว่าด้วยศึกษาความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี จาก OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ที่เรียกว่า PISA (The Programme for International Student Assessment)

รายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งปรากฏว่าเด็กไทยอยู่ในฐานะไม่ดีเลยเกือบตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนเพิ่งตื่นตัว ตื่นเต้นกันไม่นานมานี้เอง

ผมเชื่อว่าผู้คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวมานานแล้ว มองเห็นว่าเรากำลังเผชิญแรงบีบคั้นจากโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ ทั้งสร้างโอกาสครั้งใหญ่ และเผชิญวิกฤตกาณ์ครั้งใหญ่ในช่วงปี 2540 มาแล้ว

“เชื่อมโยงเป้าหมาย เข้ากับยุทธศาสตร์ในการสร้างคน มิใช่เพียงเป็นบุคลากรที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ในสังคมไทยเท่านั้น หากจะเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติในการทำให้ชาติไทยสามารถ ทั้งแข่งขันในระดับโลก หรือดำรงอยู่ในโลกในฐานะที่สำคัญและบุคลิกของชาติไทย” แนวคิดหนึ่ง (คัดมาจากคำนำ หนังสือของผมเอง “หาโรงเรียนให้ลูก” แนวคิดแนวทางการศึกษาระดับมัธยมในต่างประเทศ พิมพ์ครั้งแรก ปี 2545) เชื่อว่า สอดคล้องกับความเชื่อของผู้คนกลุ่มดังกล่าวข้างต้นบ้างไม่มากก็น้อย

โรงเรียนนานาชาติที่อาศัยความมีชื่อเสียงของโรงเรียนชั้นนำอังกฤษ เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกในช่วงเวลานั้น เมื่อราว 2 ทศวรรษที่แล้ว ถือว่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่น่าสนใจ

เชื่อว่ามีรากฐานความสัมพันธ์กับสังคมไทยมานานกว่า 100 ปี และเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลทางความคิดที่ระบบการศึกษาอังกฤษมีต่อสังคมไทย

“ภาพปะติดปะต่อความเคลื่อนไหวในช่วงกว่า 100 ปีของชนชั้นนำในสังคมไทย ว่าด้วยแนวคิด และแรงบันดาลใจ ในการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อระดับมัธยมในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการเตรียมความพร้อมบุคลากรในการศึกษาในสถาบันขั้นอุดมศึกษาระดับโลกต่อไป เหตุการณ์เริ่มต้นจากรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปในปี 2440 เป็นเวลาใกล้เคียงกับพระราชโอรสหลายพระองค์ถูกส่งไปศึกษาในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นระบบของการศึกษาหาความรู้จากต่างประเทศของคนไทย โดยเริ่มต้นจากราชวงศ์ ข้าราชบริพาร ต่อมาได้ขยายสู่ชนชั้นนำอื่นๆ แวดวงธุรกิจ และสามัญชนที่มีโอกาสจากการสอบชิงทุน” (ตอนหนึ่งในหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก”)

อีก 100 ปีต่อมามีเรื่องราวต่อเนื่อง แต่มีบริบทแตกต่าง

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับ Dulwich College สร้างประวัติการณ์หลายอย่างในฐานะผู้บุกเบิก ขณะเดียวกัน ต้องเผชิญปัญหา จากประสบการณ์ธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์

ขณะนั้นมีเครือข่ายโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นสูตรความสำเร็จในการบุกเบิกลงทุนครั้งใหญ่ จัดตั้งโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จึงมีฐานะเป็นผู้นำขบวนเปิดเสรีการศึกษาครั้งแรกๆ ในเมืองไทย

ดร.อาทิตย์ สามารถชักนำโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษออกนอกประเทศครั้งแรก โดยเลือกโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำของไทย โดยเฉพาะ อานันท์ ปันยารชุน ในฐานะทั้งคนที่ออกนโยบายเปิดเสรีโรงเรียนนานาชาติ และศิษย์เก่า Dulwich ด้วย

อานันท์ ปันยารชุน ศึกษาระดับมัธยมที่อังกฤษที่ Dulwich College ในปี 2491 ตามคำแนะนำของพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าที่นี่ในฐานะเป็นเพื่อนกับบิดาของเขา

พระยาศรีวิสารวาจา เป็นอาของ สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นนักเรียนไทยที่มีชื่อเสียงมากในฐานะคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมคนแรกของไทยจาก Oxford University

กลับมาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 มีบทบาทในกิจการต่างประเทศและการเมืองเป็นอันมาก

ในหนังสืออนุสรณ์โกศล ฮุนตระกูล 2502 เล่าเรื่องชีวิตของพี่ชายพระยาศรีวิสารวาจา ที่เดิมชื่อ ฮุนกิมฮวด ในการสร้างกิจการตั้งแต่ผลิตน้ำมะเน็ดโซดา และขยายตัวไปสู่ร้านขายยา ดำเนินกิจการเรือสินค้าจนถึงธนาคาร ช่วงกิจการเจริญเติบโตเขาได้ส่งน้องๆ ไปเรียนที่อังกฤษหลายคน ในนี้รวมทั้ง เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล (พระยาศรีวิสารวาจา) ในปี 2454

อานันท์ ปันยารชุน หลังจากใช้เวลาศึกษาที่ Dulwich College 4 ปี สามารถเข้าเรียนกฎหมายที่ Cambridge University แล้วรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ

ตั้งแต่จบการศึกษาจากอังกฤษ ปี 2498 จนเติบโตสูงสุดในตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ใช้เวลาเพียง 22 ปี เขามีบทบาทในภาคเอกชนอยู่พักหนึ่งก่อนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 ครั้งในปี 2534-2535 สำหรับ Dulwich College มีความภาคภูมิใจในศิษย์เก่าคนนี้ ปรากฏรายชื่อในทำเนียบศิษย์เก่าดีเด่น (Eminent Old Alleynians) เลขประจำตัว 15391

คงจำกันได้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคต่อเนื่องเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร แทนที่จะเสนอหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ตกลงกันไว้ กลับเสนอคนนอก-อานันท์ ปันยารชุน จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (10 มิถุนายน-23 กันยายน 2535)

เป็นเรื่องฮือฮา เป็นที่พอใจของสังคมธุรกิจและชนชั้นกลางไทยอย่างมาก

ปี2537 Dulwich International College เริ่มเปิดที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยการออกแบบจำลองภาพอาคารและอาณาบริเวณโดยรอบให้มีความละม้ายกับ Dulwich College ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางกระแสธุรกิจอังกฤษค่อยๆ กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง หลังจากถอยร่นในช่วงสงครามเวียดนาม

ทว่า กลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จนต้องแยกทางกับ Dulwich College ประเทศอังกฤษ ในปี 2548 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ British International School, Phuket) ขณะที่โรงเรียนอังกฤษอีก 2 แห่งตามกันเข้ามาเมืองไทย

ปี 2541 Harrow International School ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของราชนิกุลและชนชั้นนำในอดีตมากมาย ที่อ้างอิงเป็นพิเศษคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (ขณะนั้นดำรงตำแน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)

อีกแห่งตามมาคือ Shrewsbury School ในปี 2545 ความจริงเกิดขึ้นเป็นการทดแทน Harrow ซึ่งย้ายออกจากที่ตั้งเดิม สู่แห่งใหม่ ที่ตั้งเดิมเป็นของ ชาลี โสภณพนิช นักเรียนอเมริกันอีกคน ซึ่งเป็นบุตรชายของ ชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจจึงร่วมมือก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติแบบฉบับอังกฤษแห่งที่ 3 ในไทย

Shrewsbury School มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำไทย รวมทั้ง อานันท์ ปันยารชุน ด้วยบิดาของเขา (เสริฐ ปันยารชุน) เป็นศิษย์เก่าโรงเรียน ทั้งนำมาเป็นโมเดลโรงเรียนวชิราวุธ ในฐานะ เสริฐ ปันยารชุน เป็นผู้บังคับการคนแรก “เสริ ปันยารชุน เป็นผู้สร้างความสัมพันธ์สำคัญ ทางโรงเรียนได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรก ระหว่างโรงเรียนชรูสส์เอรี่ กับประเทศไทยและสำนักงานราชวัง” อ้างจากเอกสารของ Shrewsbury School (ฉบับภาษาไทย) นำเสนอในงานนิทรรศการการศึกษาอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ (ตอนหนึ่งในหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก”)

สำหรับ Rugby School ไม่เพียงมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับภาพ และบริบทข้างต้น ยังเชื่อมโยงกับบางกระแสสังคมในปัจจุบัน จะขอกล่าวในตอนต่อไป