E-DUANG : กรณี “เงินคงคลัง” กับบทบาท “สื่อออนไลน์”

กรณี “เงินคงคลัง” อันนำไปสู่กระแสความเชื่อในเรื่อง”ถังแตก”คือตัวอย่าง 1 แห่งการรุกคืบของ “ออนไลน์”
เพราะ”สื่อกระดาษ”ให้ความสนใจ “น้อยมาก”
มีเพียงไม่กี่ฉบับอย่างเช่น มติชน ข่าวสด ที่รายงานเรื่องนีอย่าง “เกาะติด”
แต่ “ส่วนใหญ่” กลายเป็น “ข่าวเล็ก”
อาจเพราะเห็นคล้อยตามกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ว่า
“ไม่จำเป็นต้องมีมาก”
อาจเพราะเห็นคล้องตามความเป็นจริงที่ว่าบางรัฐบาลเมื่อ 15 ปีก่อนเคยเหลือเพียง 20,000-30,000 ล้านบาทเท่านั้น
นั่นหมายถึงรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2545
ความสนใจเรื่องนี้จึงคึกคักอย่างยิ่งใน “โลกออนไลน์” แต่ค่อนข้างเงียบเชียบใน “สื่อกระดาษ”
มุมมอง “ต่าง” จึงมาจาก “สื่อกระจก” มากกว่า

ใน”โลกออนไลน์”จึงไม่ได้มีแต่การแสดงตัวเลขเชิงเปรียบเทียบอันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของ “เงินคงคลัง”
หากแต่ยังมากด้วย “คอมเมนต์”
ยิ่งติดตามเฟซบุ๊คของกูรูระดับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด และ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ยิ่งเสริมความรับรู้ในด้าน “เศรษฐศาสตร์”
คนแรกเป็นอาจารย์แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คนหลังสังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่านทั้ง 2 เป็น “นักเศรษฐศาสตร์”สายตรง มิได้เป็นโดดเด่นทางด้าน “การตลาด”
และมิได้เป็น “นักการเมือง”
จึงเป็น “แม่เหล็ก” แท่งมหึมา ดูดดึงเอา “นักเรียนน้อย” ทั้งหลายเข้าไป” ฟอลโลว์”จำนวนมากมาย
เรียกได้ว่าโต้กันช็อตต่อช็อต เม็ดต่อเม็ด

จาก “เงินคงคลัง” นำไปสู่การเจาะลึกไปยัง ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน นำไปสู่การไหลออกของ”เงินทุน”
ยิ่งกว่านั้น ยังพุ่งไปยัง “หนี้สาธารณะ”
อาจเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นให้สนใจในเรื่อง “หนี้สาธารณะ” รวมอยู่ด้วย
จึงปรากฏ “หนี้สาธารณะคงค้าง” เปรียบเทียบ
จากยุคของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ตัวเลข” เหล่านี้ยังไม่มี “บทสรุป”
ต้องรอแถลงจาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องรอการวิจารณ์ต่อคำแถลงจากกระทรวงการคลัง
“สื่อกระดาษ” อาจดำเนินไปอย่างเหงาๆหงอยๆ แต่ “สื่อกระจก” มากด้วยความคึกคัก