กองทัพ: ตัวแสดงถาวรในการเมืองไทย? | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ปกติแล้ว เราแทบจะไม่เคยเห็นผู้บัญชาการทหารบกคนใดจัดบรรยายในเวทีสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการบรรยายมีนัยที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้นเมื่อผู้บัญชาการทหารบกท่านปัจจุบัน เปิดบรรยายพิเศษเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงสาระสำคัญของการพูดดังกล่าว เพราะปรากฎอยู่ในหลายแห่ง แต่บทความนี้จะขอตั้งข้อสังเกตที่เป็นนัยของเนื้อหาการพูด ดังนี้

1) การออกมาแสดงความเห็นในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ทหารจะยังคงดำรงบทบาทในการเมืองไทยต่อไป แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม แล้วก็ตาม และประเด็นสำคัญที่ผู้นำทหารจะต้องตระหนักว่า การแสดงออกทางการเมืองของผู้นำทหารในที่สาธารณะ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ และการแสดงออกเช่นนี้เป็นดังการ “แบล็คเมล์” ทางการเมือง (political blackmail) และเป็นสัญญาณการแทรกแซงของผู้นำทหารหลังเลือกตั้งอย่างชัดเจน

2) หากย้อนกลับไปดูในอดีตจะเห็นได้ว่า หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ผู้นำกองทัพมักจะไม่แสดงท่าทีทางการเมืองในลักษณะที่เป็นการท้าทาย เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับสถาบันทหาร และพยายามแสดงให้เห็นถึงการขยับกองทัพออกจากการเมือง แต่ครั้งนี้กลับเป็นทิศทางที่แตกต่างออกไป อันเท่ากับบ่งบอกถึงความพยายามของทหารในการเป็น “ผู้ควบคุม” การเมือง และเป็นสัญญาณคู่ขนานว่า นักการเมืองจะไม่ใช่ผู้ควบคุมการเมืองไทย และทหารจะไม่อนุญาตให้นักการเมืองคุมการเมือง

3) เนื้อหาของการบรรยายสะท้อนให้เห็นทัศนะที่ไม่แตกต่างจากชุดความคิดของทหารในละตินในช่วงทศวรรษของปี 1960 ถึงปี 1980 ที่เรียกว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) กล่าวคือ ผู้นำทหารมองว่า นักการเมืองและพรรคการเมือง ตลอดรวมถึงระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นภัยคุกคาม และกองทัพจะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ หรืออาจกล่าวสรุปจากเนื้อหาได้ว่า ผู้นำกองทัพมองว่านักการเมืองและพรรคการเมือง (ฝ่ายประชาธิปไตย) เป็นข้าศึก
4) การนำเสนอเนื้อหาเช่นนี้กำลังส่งสัญญาณที่ชัดเจนในทางการเมืองว่า กองทัพเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมปีกขวาสุด ที่ปฏิเสธแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งการแสดงท่าทีเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับสถาบันทหารในระยะยาว เพราะจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า กองทัพคือสถาบันที่เป็นตัวแทนของปีกขวาจัดไทย

5) การแสดงออกในลักษณะในท่าทีต่อต้านประชาธิปไตยเช่นนี้ เท่ากับส่งสัญญาณว่า กองทัพไม่ใช่ตัวแสดงที่จะช่วยให้เกิดการประนีประนอมและ/หรือความสมานฉันท์ในทางการเมือง (เหมือนเช่นที่มีการกล่าวอ้างเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ ที่สุดท้ายแล้วเหลือแต่เพียงตุ๊กตาผ้า ที่ไม่เกิดผลใดๆ ในทางการเมือง) แต่ในทางตรงข้าม ท่าทีเช่นนี้กำลังชี้ให้เห็นว่า กองทัพกำลังแสดงบทเป็น “คู่ขัดแย้ง” โดยตรงในทางการเมือง และอาจถูกตีความเพิ่มเติมว่า ผู้นำทหารกำลัง “ปลุกกระแสขวาจัด” อีกครั้ง

6) น่าสนใจอย่างมากว่า การบรรยายครั้งนี้มีการกล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก “พวกคอมมิวนิสต์เดิม” ซึ่งสะท้อนทัศนะในการมองปัญหาภัยคุกคามของผู้นำทหารอย่างชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยดำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างมากในระดับต่างๆ กับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ จึงอาจจะเป็นความ “ย้อนแย้ง” ในเชิงทัศนะ และที่สำคัญลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยคุกคามในเวทีโลกและเวทีไทยแล้ว การกล่าวเช่นนี้จึงอาจทำให้ผู้นำกองทัพถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์”

7) ผู้นำทหารและบรรดากลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยที่นิยมจีน อาจจะต้องยอมรับความจริงถึงความเป็น “รัฐอธิปไตย” ของไทย ดังนั้นหากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองไทยคนใดจะมีทัศนะที่แตกต่างจากรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในปัญหาฮ่องกง ก็จะต้องถือว่าเป็น “เอกสิทธิ์ทางการเมือง” ของพรรคการเมืองไทย ผู้นำทหารไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการ “ปราม” เพราะอาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า ผู้นำทหารระดับสูงของไทยกำลังแสดงบทบาทเป็น “ตัวแทน” (proxy) ของรัฐบาลจีน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมในกิจการระหว่างประเทศของไทยแต่ประการใด

ผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจัดไทยควรจะต้องยอมรับได้แล้วว่า เมื่อการเมืองอยู่ใน “ระบบเปิด” ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ย่อมจะนำไปสู่การมี “เสรีภาพในการแสดงออก” ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองย่อมไม่ใช่ความผิดทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมาย ตลอดรวมถึงเรื่องทางการเมือง การจับกุมหรือความพยายามที่จะกล่าวโทษในทางกฎหมายอันเป็นผลจากการแสดงความเห็นในที่สาธารณะนั้น จะเป็นการยืนยันในทางลบว่า การเมืองไทยยังอยู่ใน “ระบอบเผด็จการ” ไม่เปลี่ยนแปลง

9) การแสดงออกของผู้นำทหารด้วยท่าทีในลักษณะที่ “แข็งกร้าว” ในทางการเมืองนั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสถาบันทหาร เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นสัญญาณของการแทรกแซงทางการเมืองของผู้นำทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญญาณของ “การคุกคาม” ทางการเมืองในอีกแบบหนึ่งด้วย

10) ท่าทีแข็งกร้าวเช่นนี้มีนัยโดยตรงว่า ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพที่มีการนำเสนอตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งอาจรวมถึงเรื่องการปฏิรูปการเกณฑ์ทหาร และการปฏิรูปกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.) น่าจะเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากลำบาก และอาจต้องใช้เวลามากขึ้นในอนาคต

11) ผู้นำทหารและปีกขวาจัดไทยควรจะต้องยอมรับถึงความ “ซับซ้อน” ของปัญหาภาคใต้ และการนำเสนอความคิดในการแก้ปัญหาภาคใต้ ที่แม้อาจจะดูขัดแย้งในทางความคิดกับฝ่ายทหาร ก็ไม่สมควรที่จะถูกจัดว่าเป็นภัยคุกคาม และอาจจะต้องยอมรับในกรณีนี้ว่า ขบวนของฝ่ายตรงข้ามได้เฝ้ามองทิศทางการใช้อำนาจของรัฐและฝ่ายทหารด้วยความสนใจ และรัฐไทยจะต้องระมัดระวังว่า การกระทำของรัฐและกองทัพจะต้องไม่ถูกสร้างให้กลายเป็นประโยชน์ทางการเมืองสำหรับฝ่ายตรงข้ามในภาคใต้

12) ผู้นำทหารไทยในโลกสมัยใหม่จะต้องตระหนักเสมอว่า การแสดงบทบาททางการเมืองของทหารไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับในมาตราฐานสากล และจะทำให้กองทัพถูกมองจากประชาคมภายนอกว่า ทหารไทยไม่เป็น “ทหารอาชีพ” แต่กำลังแสดงบทบาทเป็นเพียง “นักการเมืองในเครื่องแบบ” เพื่อสนับสนุนระบอบการเมืองที่สืบทอดมาจากรัฐบาลทหารเดิม

ข้อสังเกตที่เป็นนัย 12 ประการข้างต้นนี้จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้ากองทัพไทยเป็นทหารอาชีพที่ “ไม่ยุ่งการเมือง” และผู้นำทหารไทย “ใจกว้าง” พอที่จะทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งของโลกและของไทย อีกทั้งผู้นำทหารที่ดีจะต้องตระหนักเสมอที่จะไม่เอา “สถาบันทหาร” เข้าไปสู่ความยุ่งยากทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เพราะกองทัพถูกออกแบบให้เป็นองค์กรเพื่อการป้องกันประเทศ ไม่ใช่องค์กรเพื่อการบริหารประเทศ!