ย้อนรอยอาชีพที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนะนำเป็นแนวทางในการปัญหา

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ก่อนจะเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสุโขทัย โดยได้กล่าวกับชาวนาที่ประสบปัญหานาข้าวถูกน้ำท่วมทุ่งให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าว เป็นการเลี้ยงปลาแทน เพื่อให้ชาวนามีอาชีพเสริม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลมีเดีย ว่าเป็นการเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป ไม่เข้าใจความซับซ้อน

ถ้านับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงตลอดระยเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า มีความพยายาม วางแผนการแก้ไขภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น โดยนอกจากประสบปัญหาเกี่ยวกับ ภัยแล้งและน้ำท่วม ยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีแนวคิด ที่ให้ประชาชนที่ประสบภัยหรือเกษตรกรพบเจอปัญหาภัยพิบัติ จัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อพาณิชย์ และการอุดหนุนธุรกิจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และรวมไปถึงการผลักดันให้มีการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ การเปลี่ยนจากไร่นาให้เป็นบ่อเลี้ยงปลาเพื่อให้ชาวนามีอาชีพในระหว่างที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังแนะแนวการประกอบอาชีพในการเจอปัญหาต่างอีกด้วย

เลี้ยงจิ้งหรีดปลูกถั่ว

ในปีพ.ศ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศวันที่ 26 มิ.ย 58 ถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้มีการปรับการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ แล้วก็พื้นที่ ที่ฝนตกน้อย ซึ่งระบบการส่งน้ำของชลประทานมีกำลังส่งที่ไม่เพียงพอ

“… ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชน้ำน้อย มีหลายพื้นที่ เลี้ยงจิ้งหรีดก็มีปลูกถั่ว ปลูกผัก ปลูกอะไรเยอะแยะไปหมด แล้วก็มีรายได้ดีกว่าปลูกข้าวด้วยซ้ำไป เพราะบางทีมันปลูกข้าวแล้วมันก็ตาย พอน้ำมันขาด ตอนจะออกรวงก็ไม่ออก ไม่มีน้ำก็แห้งตาย เป็นอย่างนี้ทุกปี…” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ

ปลูกพืชทดแทน “หมามุ่ย”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 58 เกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้แนะนำให้ชาวนาปลูกพืชทดแทนเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วงเวลานั้นเกิดปัญหาราคาข้าวตก เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแก้ปัญหา และรวมถึงใช้คำที่ดูอาจไม่เหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวไว้ว่า วันนี้เราขายหมามุ่ยได้ ก.ก. ละ 800 บาท และถ้าส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา หรืออะไรต่างๆ ราคาได้กลายเป็น ก.ก. ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงไม่กี่บาท อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธีเพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็งต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมารายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด (ข่าวสดออนไลน์)

ปลูกมังคุด ปลูกทุเรียน

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของราคายางพาราที่ตกต่ำ โดยที่เราต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งปัญหาสำคัญยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่อีก 3 ล้านไร่ แต่อย่างตามรัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้มีผลกระทบตามมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยากให้เกษตรกรลดการปลูกยางลง และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่สามารถทดแทนได้ เช่น ทุเรียน และมังคุด เป็นต้น เพราะพืชชนิดนี้ให้ราคาที่สูง และยังบอกต่ออีกว่า ถ้าเกิดไม่เปลี่ยนแปลงไปปลูกพืชทดแทน ราคายางก็ไม่สามารถขยับไปสูงมากกว่านี้ได้

ทำประมงเลี้ยงปลาแทนการปลูกข้าว

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัยโดยมีแนวทางแก้ไขโดยจะเช่าพื้นที่ของประชาชนเพื่อกักเก็บน้ำและสร้างอาชีพใหม่ให้กับประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่า ฝนตกใต้เขื่อนเกิดการสะสมและมีปัญหาในการระบายน้ำ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงต้องดูว่าพื้นที่ตรงนั้นสามารถใช้เป็นแก้มลิงได้ไหม ถ้าพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว ก็สร้างอาชีพใหม่ให้กับประชาชน โดยจะหาปลาเลี้ยงและสัตว์น้ำมาปล่อยให้เพื่อให้เป็นอาชีพและอาหารแก่ประชาชนด้วย และยังสามารถสร้างอาชีพประมงในชุมชน ถ้าปลูกอะไรไม่ได้ก็ให้เก็บน้ำและทำประมงแทน อาจจะดีกว่าการปลูกข้าวในปัญหาที่เป็นอยู่ ถ้าเราทำอย่างเดิมก็ได้อย่างเดิม