รำลึก “ทองใบ ทองเปาด์” แบบอย่าง”ทนาย-นักต่อสู้” ปฏิเสธรับรางวัลจากผู้นำเผด็จการ

นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการกฎหมาย และวงการนักหนังสือพิมพ์ เมื่อ ทองใบ ทองเปาด์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษชน ทนายรางวัลแมกไซไซ ของคนยากไร้  ต้องรูดม่านฉากชีวิตลงในวัย 84  ปี เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2554 นับแล้วก็ผ่านมาเป็นเวลา 6 ปีพอดี หลังจากที่เขาใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในวงการกฎหมายและหนังสือพิมพ์มายาวนานเกือบ 60 ปี

ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตบั้นปลายของ  ทองใบ ทองเปาด์  คือ  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 

ตลอดระยะเวลา เกือบทั้งชีวิต  ทนายคนยาก-นักหนังสือพิมพ์ผู้แกร่งกล้าด้วยอุดมการณ์ผู้นี้ทุ่มเทอุทิศตัวให้กับสังคม ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน มาโดยตลอด โดยผ่านเรื่องราวอันเลวร้ายมามากมาย  ที่หนักหนาสากรรจ์ที่สุดในชีวิตเห็นจะเป็น การตกเป็น “นักโทษการเมือง” เมื่อ พ.ศ. 2501-2509  ในข้อกล่าวหาเป็น “คอมมิวนิสต์ ทั้งที่ความจริงเขาและเพื่อนๆ เป็นผู้บริสุทธิ์ จากนั้นเขาก็มุ่งมั่นทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และทนายความเป็นผู้ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย รู้ลึกในถึงจรรยาบรรณการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นอย่างดี ซึ่งหายากมากที่จะมีผู้ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพได้อย่างนี้แล้วในสังคมปัจจุบันที่กำลังถูก ระบบ “นายทุน”ครอบงำ

นายทองใบ ทองเปาด์ เกิดที่ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน ของนายหนู และนางเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นมัธยมศึกษา ที่จ.มหาสารคาม และมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างศึกษาในกรุงเทพฯ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงคราม มาตลอด

หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป “สยามนิกร” “สุภาพบุรุษ-ประชามิตร” และ “ข่าวภาพ” โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า “บ๊อบการเมือง” (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ)

ในปี 2501 ได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ.2509 ออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นายทองใบ ทองเปาด์ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2527-2529  และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่นายทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นมีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน (สามีของนางคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ.2526

ภาพของ “ทองใบ ทองเปาด์” ในความทรงจำ เมื่อครั้งที่เขายังมีลมหายใจ คือชีวิตนักสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ยังคงถูกจดจำไว้ในแวดวงและต่อประชาชนเสมอมา