E-DUANG : เผือกร้อน “โรลส์-รอยซ์”ในมือแกร่ง “คสช.”

การปรากฏขึ้นของข่าวสินบน “โรลส์-รอยซ์” กำลังแปรเป็นอีกปัจจัยที่ยากแก่การควบคุม

หากเทียบกับกรณี”แม่ผ่องพรรณ”

หากเทียบกับกรณี “อุทยานราชภักดิ์” หรือแม้กระทั่ง “อโลฮา ฮาวาย”

ทั้งๆที่มิได้เป็นเรื่องของ “คสช.”

เพราะว่ากรณี “โรลส์-รอยซ์”แทบไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับ”คสช.” หรือ”รัฐบาล”

เป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ปี 2534

แล้วเหตุใดกรณี “โรลส์-รอยซ์” จึงทำท่าว่าจะบานปลายและยากต่อการควบคุมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

คำตอบ 1 เพราะว่ามาจากปัจจัย”ภายนอก”

ขณะเดียวกัน คำตอบ 1 ซึ่งมากด้วยความละเอียดอ่อนอย่างเป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นเรื่องซึ่งสัมพันธ์กับกระบวนการ”รัฐประหาร”

รัฐประหาร” ต่างหากคือจุด”เปราะบาง”

 

แม้ว่าจะมีความพยายามใน “เบื้องต้น” ที่จะขยายผลและโยนให้กับรัฐบาลในห้วงระหว่าง 2544-2548

แต่กลับกลายเป็น “มุกแป้ก”

เพราะในที่สุด ปลายหอกทะลวงเข้าไปยังสถานการณ์รัฐประ หารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

เป็นรัฐประหารโดย “รสช.”

แม้ว่ารัฐบาลขณะนั้นคือรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งยกย่องกันว่าเป็น “คนดี”แห่งรัตนโกสินทร์

แต่”คนดี”ก็อยู่ใต้ฉายาแห่ง “รสช.”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอาจเป็น นายนุกูล ประจวบเหมาะ

แต่รัฐมนตรี”ช่วย”ก็มาจาก”รสช.”

 

ในที่สุด กระบวนการ“สินบน”จากกรณี”โรลส์-รอยซ์”ก็คือ เงาสะท้อนกระบวนการสมคบคิด

โยงสายยาวไปยัง “รัฐประหาร”

ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งก็คือ ทำให้รับรู้ได้ว่าความเป็นจริงของ “คอรัปชั่น”มิได้มาจาก “นักการเมือง” เท่านั้น

หากแต่มาจาก “ทหาร” มาจาก”รัฐวิสาหกิจ”

ยิ่งบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่ง “รัฐประหาร” ยิ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบ

เมื่อตรวจสอบยาก การรั่วไหลจึงบังเกิด

ยิ่งหาก “คสช.” ไม่ทำให้กรณีสินบน”โรลส์-รอยซ์”มีความกระจ่างอย่างโปร่งใส โอกาสที่จะเข้าตัวยิ่งจะเกิดขึ้นตามมา

นี่คือ “เผือกร้อน” ในมือ “คสช.”

ยากยิ่งที่จะโยนออกไปแบบ”อุทยานราชภักดิ์” หรือแบบ”ฝายแม่ผ่องพรรณ”

เพราะฝันร้ายจาก”รถถังยูเครน”และ”ทีจี 200″ยังวนเวียน