กานดา นาคน้อย : ‘เสือ’ โดนดาวน์เกรดเป็น ‘เห็บ’

ฉันอ่านรายงานข่าวเกี่ยวกับ“เห็บสยามโมเดล”ที่นำเสนอโดยปลัดกระทรวงการคลังแล้วคิดว่าวาทกรรมนี้ย้อนแย้งอย่างน่าอัศจรรย์ [1] [2] เขาเสนอว่า

“เห็บสยามโมเดลจะช่วยทำให้เราเติบโตไปกับประเทศที่กำลังขยายตัวได้ เราไม่จำเป็นต้องโตคนเดียว แต่สามารถพึ่งพาพันธมิตรได้ เช่น ถ้าจีนโต เราก็จะอ้วนด้วย ถ้าจีนเลิกโต เราก็จะไปอยู่กับอินเดีย หรือแอฟริกาใต้ต่อ นี่คือกลยุทธ์การโตของเรา คือถ้าใครโตเราก็จะเกาะไปกับเขาด้วย” แต่ในขณะเดียวกันก็อ้างอิงดัชนีต่างๆเพื่อชี้นำว่าเศรษฐกิจไทยโดยภายรวมไม่มีปัญหา

ถ้าสาธารณชนเข้าใจ “ความหมาย”ของดัชนีต่างๆที่ปลัดกระทรวงการคลังอ้างอิงก็จะเข้าใจว่าอัศจรรย์อย่างไร

ก)ปลัดคลังอ้างอิงว่า “ตัวเลขการว่างงานต่ำ”

ที่จริงแล้วสถิติอัตราว่างงานของไทยเป็นสถิติที่ไม่มีประโยชน์ต่อการศึกษาตลาดแรงงาน สมมุติว่าชายคนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทที่โดนไล่ออกจากงานแล้วหันไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา สถิติไทยก็นับว่าชายคนนี้ไม่ตกงาน ประเด็นนี้สำคัญเพราะแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 40% ของแรงงานทั้งหมด ฤดูที่ยังไม่เก็บเกียวไม่มีรายได้แล้วไปรับจ้างตัดหญ้า 1 ชั่วโมงหรือไปซื้อผลไม้ที่ตลาดมาจัดใส่ถุงเร่ขายก็นับว่าไม่ตกงาน ปีที่แล้วสำนักงานข่าวบลูมเบิร์กก็เผยแพร่บทความที่เล่าความน่าขำขันของสถิติอัตราการว่างงานของไทย [3]

ข)ปลัดคลังอ้างอิง“กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์”

กำไรดังกล่าวไม่นับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ภาครัฐไม่สนใจผลกำไรของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์หรือ? แม้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์มีขนาดเล็กกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ก็อาจมีศักยภาพในการสร้างสินค้าใหม่ที่สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจได้ ผลกำไรของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ดูได้ไม่ยากจากข้อมูลการเสียภาษี ถ้าภาคเอกชนกำไรดีรัฐบาลก็ควรเก็บรายได้ภาษีได้ตามเป้า แต่มีรายงานข่าวว่ารายได้ภาษีเดือนพฤษภาคมต่ำกว่าเป้าถึง 20% [4]

ค)ปลัดคลังอ้างอิง “ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์”

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในบัญชีแบงค์ชาติ มีระดับสูงเพราะส่วนต่างดอกเบี้ยและการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ทำให้เงินทุนไหลเข้าในระยะสั้นจึงเกิดความต้องการซื้อเงินบาท มีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เงินทุนเหล่านี้ไม่ช่วยสร้างงานนอกภาคการเงิน ดอกเบี้ยปรับลดลงเมื่อไรทุนระยะสั้นก็จะไหลออก ทุนต่างชาติที่สำคัญต่อการผลิตและสร้างงานนอกภาคการเงินเรียกว่า“การลงทุนตรง” (Direct investment) ซึ่งปลัดคลังไม่อ้างอิง ที่จริงแล้วการลงทุนตรงจากต่างชาติในครึ่งปีนี้ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และการลงทุนตรงโดยทุนไทยในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น [5] กล่าวได้ว่า “ทุนตรงไทยไหลออก และทุนตรงนอกทรุดตัว”

ทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนตรงในไทยจ้างคนญี่ปุ่นให้มาทำงานที่ไทยทั้งในระดับบริหารและวิชาชีพแล้วทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศจ้างงานคนไทยกลุ่มไหน? ถ้าลงทุนในภาคที่เน้นใช้แรงงานท้องถิ่นราคาถูกก็ไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานมีทักษะจากไทยมาก ถ้าลงทุนในภาคเทคโนโลยีจะจ้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์คนไทยไหม?

ง)ปลัดคลังอ้างอิง “ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล”

ดุลบัญชีเดินสะพัดวัดความแตกต่างระหว่างเงินออมและการลงทุนในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพราะเงินออมสูงขึ้นและการลงทุนหดตัวซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของภาคส่งออก ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวการส่งออกจะไม่หดตัว ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลควบคู่ไปกับการขยายตัวของภาคส่งออกถึงสมควรยินดีปรีดา แต่สัปดาห์นี้มีรายงานข่าวว่าการส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันมา 6 ไตรมาสแล้ว [6]

ที่จริงแล้วงานวิจัยพบว่าเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดุลบัญชีเงินสะพัดจะลดลงและอาจติดลบ เพราะการนำเข้าขยายตัวพร้อมๆกับการส่งออก มีทั้งการนำเข้าสินค้าทุน (เช่น เครื่องจักร)และวัตถุดิบเพื่อลงทุน และการนำเข้าสินค้าและบริการเพื่อบริโภค ยิ่งขยายตัวนานๆดุลบัญชีเดินสะพัดยิ่งลดลง ถ้าลดลงจนดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบนิดหน่อยก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ถ้าติดลบเกิน 5% ของผลผลิตประชาชาติติดต่อกันหลายไตรมาสก็อาจเป็นสัญญาณว่าการลงทุนมากเพราะสถาบันการเงินปล่อยกู้ง่ายเกินไปและอาจทำให้มีวิกฤตการเงินในอนาคต

จ)ปลัดคลังอ้างอิง “สถาบันจัดอันดับระดับโลกคือ ฟิชท์ เรตติ้ง และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส”

สถาบันเหล่านี้จัดอันดับการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของ “ผู้กู้เงิน” กล่าวคือ สถาบันการเงินต่างๆที่กู้เงิน บริษัทต่างๆที่กู้เงิน และรัฐบาลประเทศต่างๆที่กู้เงิน [7] [8] ไม่ใช่การจัดอันดับความน่าลงทุนแบบ“ลงทุนตรง” อย่าสับสนระหว่างความน่าลงทุนด้วยการปล่อยกู้ด้วยการซื้อตราสารหนี้ไทย และความน่าลงทุนด้วยการร่วมทุนผลิตสินค้าและบริการในประเทศไทย ความน่าลงทุน 2 แบบนี้แตกต่างกัน แบบหลังมีความเสี่ยงสูงกว่าแบบแรกมาก

อันดับเรตติ้งพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ในขั้นดีเพราะรัฐบาลยังมีความสามารถในการใช้หนี้สูง เนื่องจากหนี้สาธารณะยังไม่สูงมากและกระทรวงการคลังมีทรัพย์สินที่นำมาขายใช้หนี้ได้ถ้าเก็บภาษีไม่พอใช้หนี้ เช่น หุ้นการบินไทย หุ้นธนาคารทหารไทย หุ้นปตท. ฯลฯ

ส่วนอันดับเรตติ้งสถาบันการเงินไทยและบริษัทไทยหลายแห่งอยู่ในขั้นดีด้วยเหตุผลคล้ายกัน คือมีความสามารถในการใช้หนี้สูง เนื่องจากมีทรัพย์สินมาก (เช่น ปริมาณเงินฝากในสถาบันการเงิน กรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ)

ไทยน่าลงทุนระยะยาวเพื่อ“การผลิต”แค่ไหนก็วัดกันได้จากตัวเลขการ“ลงทุนตรง”อย่างที่เสนอไปแล้วข้างต้น เพราะการลงทุนตรงไม่ใช่การลงทุนระยะสั้นที่ถอนทุนกันรวดเร็วแบบการลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือตลาดหลักทรัพย์

ภาวะ“ทุนตรงไทยไหลออก และทุนตรงจากนอกทรุดตัว” ก็บ่งบอกแล้วว่าภาคการผลิตในไทยไม่น่าลงทุนในสายตาบริษัทข้ามชาติทั้งไทยและเทศ ก็ย่อมมีผลเชิงลบต่อตลาดแรงงาน

ปลัดคลังสรุปว่า “เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมไม่มีปัญหา” พร้อมกับเสนอ “เห็บสยามโมเดล” เห็บเป็นสัตว์ที่ต้องอาศัยสิ่งมีชิวิตอื่นเพื่อการอยู่รอด เช่น สุนัข ดังนั้นวาทกรรม“เห็บสยาม”สะท้อนถึงข้อจำกัดด้านศักยภาพการผลิตเพื่อเติบโต ที่จริงความหมายนี้ก็สอดคล้องกับบทความนี้ที่ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทย

เมื่อ 25 ปีที่แล้วคนไทยภาคภูมิใจว่าไทยเป็น“เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” แต่ตอนนี้โดนปลัดคลังดาวน์เกรดฮวบฮาบเป็นเห็บเกาะเพื่อนกินซะแล้ว !!!


หมายเหตุ

[1] คลังชู”เห็บสยามโมเดล” จับมือพันธมิตร ตปท.หนุน ศก. เผยข้อมูลคนไทยยังมีเงินฝากสูง-บริษัทเอกชนกำไรดี http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1470134631

[2] ปลัดคลังผุดโมเดลเศรษฐกิจ’เห็บสยามโมเดล’เกาะไปกับประเทศที่เติบโต