พระเอกตัวจริงน้ำท่วมปี54 “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” นั่งฮ.-ลุยน้ำ เรียลลิตี้ถึงบันไดบ้าน

ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี2553-2554 นั้น มีประโยคยอดฮิตในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ระทมว่า

“น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้คุณเห็นอะไร?”

นอกจากความเสียหายระดับแสนล้านตั้งแต่คนเดินตรอกหาเช้ากินค่ำ ไปยันเศรษฐีพันล้านเจ้าของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่จมน้ำลึกกว่า 2 เมตร

ที่น่าสนใจก็คือ การเกิดขึ้นจนกลายเป็น “ปรากฏการณ์” ของคนอย่าง เสรี ศุภทราทิตย์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา แห่งช่อง 3 ซึ่งบางคนอาจเหมารวมเอาการทำหน้าที่เป็นทั้ง “ตัวกลาง” เป็นทั้ง “สื่อ” และเป็นทั้ง “ผู้ให้ความช่วยเหลือ” ของสถานีโทรทัศน์อีกบางช่อง โดยเฉพาะที่โดดเด่นไม่แพ้ช่อง 3 คือ ไทยพีบีเอส ในเหตุการณ์ครั้งนี้

ต้องยอมรับว่า ชื่อของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กลายเป็น “ฮีโร่” ของพี่น้องคนไทยที่กำลังประสบภัยพิบัติน้ำท่วมไปแล้ว หลังจาก “ช่อง 3” ของ “เสี่ยประวิทย์ มาลีนนท์” ตัดสินใจให้ทีม “ครอบครัวข่าว 3” ทุ่มกำลังลุยทำข่าว “น้ำท่วม” อย่างเต็มที่ ตั้งแต่น้ำเข้าท่วมเมืองโคราชอย่างหนักเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2553

ปฏิบัติการครั้งนี้ได้ใช้ความคล่องตัวของ “คาราวานข่าว 3” เป็นทัพหน้าในการระดมทีมเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเพิ่มการเจาะลึกในทุกช่วงข่าว ตั้งแต่เรื่องเล่าเช้านี้ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ เจาะข่าวเด่น เรื่องเด่นเย็นนี้ ข่าว 3 มิติ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ทีมข่าวที่มีอยู่ทั้งหมดลงพื้นที่ ทำหน้าที่ทั้งรายงานข่าว และหน่วยให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน รวมถึงผู้ประกาศข่าวระดับแถวหน้าอย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” และ “กิตติ สิงหาปัด”

โดยเฉพาะ “สรยุทธ” ได้ถูกวางให้เป็นเหมือน “พรีเซ็นเตอร์” ของ “ครอบครัวข่าว 3” ที่นอกจากจะทำหน้าที่เล่าข่าวแล้ว ยังต้องเป็นตัวแทนในการรับมอบสิ่งของต่างๆ ที่องค์กรต่างๆ นำมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งนำไปพูดออกอากาศในรายการ

untitled-2แนวทางดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของ “ครอบครัวข่าว 3” มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หน่วยงานต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ฯลฯ บริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ต้องการบริจาคสินค้าและเงินช่วยเหลือ รวมทั้งผู้จัดละคร ดารา ทั้งนักข่าวภาคสนาม นักข่าวสกายนิวส์ และสมาชิกครอบครัวข่าว 3 ที่เป็นเสมือนนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ต่างออกมาปฏิบัติการช่วยเหลือชาวบ้านร่วมกับทีมข่าว ขณะที่สถานีเองก็เพิ่มเวลาในการนำเสนอข่าวมากขึ้น

ทุกกระบวนการเป็นการวางสเต็ปในการปฏิบัติการอย่างดี ทีมข่าวทุกคนทำงานกันเต็มที่ ใส่ขาสั้น รองเท้าแตะ โพกผ้าขาวม้า และแทบจะดำน้ำรายงานข่าวในทุกพื้นที่ไม่เว้นกระทั่ง “สรยุทธ” ที่ร่วมลงพื้นที่รายงานข่าว สัมภาษณ์ชาวบ้านผู้ประสบภัย พร้อมสิ่งของช่วยเหลือ ชนิดให้เวลายาวเหยียด

7สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ภาพของ “ครอบครัวข่าว” โดยฉพาะ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กลายเป็น “ฮีโร่” ไปโดยปริยาย ด้วยภาพลักษณ์ของพิธีกรข่าวผู้ “อิน” กับเหตุการณ์ ทุ่มเทกับการลงพื้นที่รายงานข่าว โดยวันหนึ่ง นุ่งกางเกงขาสั้นรายงานข่าวอยู่ที่ลพบุรี ช่วงบ่ายไปโผล่ที่นครราชสีมา ถัดมาอีกวันเดียวก็โหนประตูเฮลิคอปเตอร์ บินไปถึงจุดเกิดเหตุน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้คร่ำหวอดในวงการตลาดรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมา “ช่อง 3” ใช้นโยบายการนำเสนอข่าวแบบ “เรียลลิตี้” โดยเฉพาะในกรณีของ “สรยุทธ” ที่ลงพื้นที่ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของชาวบ้าน พร้อมนำเสนอข่าวภารกิจของตัวเองได้เต็มที่ ทำให้ภาพของรายการข่าวมีความโดดเด่นและคนดูก็รู้สึกจับต้องได้

จึงไม่แปลกที่ “สรยุทธ” จะกลายเป็น “ฮีโร่” ในสายตาของพวกเขา

8ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ “รัฐบาล” ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ค่อยเข้าตานัก แต่ในความเป็นจริงคนระดับนายกรัฐมนตรีคงไม่สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้แน่นอน เพราะถ้าแอ็กชั่นมากไปก็จะถูกกล่าวหาว่า ทำดีเอาหน้า หาเสียงล่วงหน้า

ที่สำคัญการบริหารวิกฤติทุกวิกฤติของรัฐบาลนั้นมีเงื่อนไขกำกับอยู่มากมาย จะทำอะไรทันทีทันใดเหมือนภาคเอกชนไม่ได้ ต้องรอมติคณะรัฐมนตรี รอการอนุมัติกฎหมาย เรียกว่าทุกอย่างมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กำกับไว้หมดทุกด้าน และการทำงานของสื่อก็จะรายงานข่าวเป็นปกติเท่านั้น

ต่างจาก “สื่อ” ที่สามารถใช้ความเป็นสื่อของตัวเองเป็นช่องทางในการรายงาน “ความทุ่มเท” ของตัวเองเท่าที่อยากจะทำ ทั้งๆ ที่อินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ ต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น