จุดบอดกลไกความคิดกับ ‘ลัทธิการเมือง’ แบ่งพวกแบ่งเผ่า

ในทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกแยกทางความคิดในสังคม ไม่ว่าจะสะท้อนให้เห็นทางชุมชนเสวนาในโลกออนไลน์ หรือการรวมกลุ่มของผู้คนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมตามหลักคิดของตน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ต่างก็ทำให้เมืองหลวงใหญ่ๆ หรือแม้กระทั้งสภาในประเทศประชาธิปไตยเอง ต้องหยุดชะงักมาแล้ว (เช่น Government Shutdown ในสหรัฐ และ ความยืดเยื้อของ Brexit) แน่นอนว่าความขัดแย้งทางความคิดในแต่ละสังคมหรือองค์กรต่างมีปัจจัยภายใน ปัจจัยแวดล้อม และบริบทที่ต่างกันอกไป อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า กระแสนี้มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และยังเปิดช่องให้แต่ละปัจเจกมีเครื่องมือ มีกระบอกเสียงในการสื่อสาร โน้มน้าวผู้รับสาร และมีอำนาจในการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมในสังคมนั้นๆด้วยการแลกเปลี่ยนเรื่องราวและความคิดเห็น โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลัก อาทิ โทรทัศน์ เป็นช่องทางในการเปล่งเสียงแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป


ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้-ตีความ ย่อมตกผลึกเป็นความเชื่อความเข้าใจของแต่ละกลุ่มสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้ว คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่ายุคสมัยแห่งเทคโนยีข่าวสารนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนกลไกการแบ่งขั้วความเชื่อ ขั้วอุดมการณ์ทางการเมือง และเนื่องจากผู้เขียนห็นว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์เป็นความขัดแย้งที่มีต้นตอมาจากความคิด ความเชื่อ ที่สัมพันธ์ต่ออัตลักษณ์ปัจเจกและอัตลักษณ์กลุ่ม ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดบอดของกลไกความคิดของมนุษย์ควรจะถูกหยิบยกมาศึกษาและนำเสนอ เพื่อตระหนักว่ามนุษย์ไม่ได้ใช้เหตุผล (rational) ในการตัดสินใจเสมอไป
ทุกวันนี้การศึกษาเชิงบูรณาการเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น มีการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมนอกกรอบองค์ความรู้เดิมมากขึ้น ซึ่งในช่วงไม่กี่ไปให้หลังมานี้มีนักวิจัยจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาใช้ทฏษฎีจากวิทยาศาสตร์การรับรู้ (cognitive science) และจิตวิทยา เพื่ออธิบายความไม่ลงรอยกันของผู้คนต่างอุดมการณ์ความเชื่อ ที่ดูเหมือนจะทวีวามรุนแรงและยากที่จะหาจุดปรองดองได้มากขึ้นเรื่อยๆ
แดเนียล สตาลเดอร์ นักจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยวิซคอนซินไวท์วอเทอร์ ได้พูดถึงปรากฏการณ์ Political Tribalism หรือลัทธิการเมืองแบ่งพวกแบ่งเผ่า(1) โดยหยิบยกหลักเหตุผลทางจิตวิทยามาอธิบาย เขาให้ความเห็นว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อคำพูดที่มาจากปากคนที่เราไม่ชอบ หรืออารมณ์ที่ว่า “ฉันไม่เชื่อเธอหรอก เพราะฉันไม่ชอบเธอ”(2) คนเรามักจะไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเราอย่างทันควัน โดยไม่สนใจเนื้อความที่ฝ่ายนั้นนำเสนอ ซึ่งแนวโน้มนี้สัมพันธ์กับธรรมชาติความลำเอียงที่แฝงในจิตใต้สำนึกมนุษย์

AFP PHOTO (Photo by CHOO YOUN-KONG / AFP)

ความลำเอียงข้างต้น พิจารณาได้จาก group-centric bias ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่คนเราจะเห็นดีเห็นงามต่อความคิดเห็นคนในกลุ่มกันเอง เช่นอารมณ์ที่ว่า “ยังไงๆกลุ่มเราก็ดีกว่า”(3) ผลการศึกษาโดยเจฟรี่ โคเฮนเมื่อปี 2003 บ่งชี้ว่ากลุ่มนักศึกษาตัวอย่างเปลี่ยนทัศนคติต่อนโยบายสวัสดิการทันที เมื่อรู้ว่านโยบายนั้นเสนอโดยสมาชิกสภารัฐรีพัลบลิกัน ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าคนเรามีแนวโน้มเข้าข้างหรือเลือกสนับสนุนเพราะ’ชื่อพรรค’มากกว่าที่จะพิจารณาประเมินเนื้อหานโยบายเป็นเรื่องๆอย่างตรงไปตรงมา(4)
หลายๆครั้ง คนเราก็มีพฤติกรรมเห็นพ้องกับกลุ่มเพราะแรงกดดันจากคนในกลุ่มด้วยกันเอง(5) คนส่วนมากจะไม่กล้าไปเห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้าม เพราะกลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ กลัวถูกตราหน้าว่าไม่เข้าข้างช่วยเหลือพวกพ้อง หรืออย่างร้ายที่สุดก็คือถูกกล่าวหาว่าหักหลังพวก และถูกให้ออกจากกลุ่ม
การปกป้องความคิดเห็นตนเอง ที่มาจากอัตตา หรือ ego ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถยอมรับความคิดฝ่ายตรงข้าม ถึงแม้ว่าความคิดนั้นจะไม่ได้แย่หรือเลวร้ายนักก็ตาม


ศาสตราจารย์อารัช จาวอนแบกท์ จากคณะจิตเวช มหาวิทยาลัยเวน แห่งรัฐมิชิเกน กล่าวว่า หลายครั้งความกลัวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ความกลัวเป็นหนึ่งในสัญชาตญานของมนุษย์มาตั้งแต่จุดเริ่มกำเนิดของมนุษย์เลยก็ว่าได้ ความกลัวเกิดได้ทั้งจากประสบการณ์ตรง เรียนรู้จากสิ่งที่เห็น หรือแม้กระทั่งเรียนรู้จากเรื่องกล่าวขาน ยิ่งเรามีข้อมูลหรือการรับรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆน้อยเท่าไหร่ เราก็ยิ่งถูกปั่นให้เชื่อและกลัวสิ่งนั้นๆได้ง่ายมากขึ้น (ความไม่รู้ = ความกลัว) ความกลัวทำให้เราไม่ใช้เหตุผล ด้วยเหตุที่ว่าสัญชาตญานเพื่อการเอาตัวรอดจะตอบสนองว่องไวกว่าการใช้ตรรกะและเหตุผล ขั้นร้ายสุด ความกลัวสามารถนำมาซึ่งความรุนแรง ซึ่งหมายถึงทั้งการใช้กำลังทางกายภาพและประทุษวาจา

AFP PHOTO (Photo by CHOO YOUN-KONG / AFP)

เครื่องมือทางการเมือง = เครื่องจับจุดอ่อน ?
ข้างต้นเป็นเพียงคำอธิบายบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่ากลไกการรู้คิดของมนุษย์มีจุดอ่อน เปิดโอกาสให้กับนักกลมายาที่มีอำนาจในมือสามารถเป่าหู ปั่นกระแส และสร้างความเชื่อในหมู่ประชาชนได้ไม่ยาก ความกลัวถือเป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศของผู้กุมอำนาจและผู้มีกระบอกเสียงในสังคม กระตุ้นให้คนเกิดความกลัวพรรคคู่แข่ง กลัวภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ กลัวสถาณการณ์ความไม่สงบ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากทำให้ผู้สนับสนุนทุนเดิมและประชาชนในวงกว้างเชื่อสมมติฐานภัยคุกคามและรู้สึกกลัวได้ ก็จะสามารถควบคุมให้เขาน้อมรับนโยบายที่กล่าวอ้างว่าจำเป็นต่อความอยู่รอด
คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นและกระตุ้นให้รู้สึก เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรักษาฐานอำนาจของคนเฉพาะกลุ่ม หรือเป็นข้อบ่งชี้ภัยที่กำลังมาเยือนได้อย่างเที่ยงตรง อาจต้องพิเคราะห์ว่าผู้ส่งสารนั้นๆแสดงหลักฐานพิสูจน์สมมติฐานไว้หรือไม่อย่างไร ถ้าเขาอ้างถึงเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตและสวมบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราคงต้องมาไตร่ตรองว่าบริบทในอดีตและปัจจุบันต่างหรือเหมือนกันอย่างไร และพิจารณาว่าอะไรคือเงื่อนไขที่จะทำให้ภัยในอนาคตย่ำที่เฉกเช่นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็น ’ความอยู่รอด’ ก็เป็นที่น่ากังขาอยู่ไม่น้อย เราควรไตร่ตรองว่าเป้าประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาเป็นภัยต่อความอยู่รอดของใคร ใช่ความเป็นอยู่ของประชาชนและการธำรงอยู่ซึ่งรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อคำพูดนามธรรมที่ฟังดูยิ่งใหญ่แต่อาจแฝงด้วยแก่นสารที่ไม่ได้คำนึงถึงส่วนรวม
วาทกรรมทางการเมืองเป็นตัวกระตุ้นการสร้างภาพศัตรู (enemy image) วาดภาพให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งชั่วร้ายในขณะที่วาดภาพให้ตนเป็นฝ่ายธรรมะ เมื่อผู้รับสารคล้อยตามและเชื่อในภาพเหล่านั้นแล้ว มันก็ยากนักที่จะทำให้เขาคิดได้ว่าฝ่ายอธรรมก็มีสามารถเสนอความเห็นดีๆและมีข้อคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่องการให้อภัยและสมานฉันท์ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เขายอมจับมือกับผู้มีตราบาปในภาพจำ

การวิเคราะห์จากหลักจิตวิทยาสะท้อนให้เห็นว่า เรามีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อวาทกรรมทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะลดทอนคุณค่าเนื้อหาความคิดของกลุ่มที่เราตั้งป้อมเป็นศัตรู มีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจที่จะรับฟังหรือไม่รับฟัง และมีแนวโน้มที่จะรู้ไม่เท่าทันกลไกเครื่องมือการเมืองหรือแม้กระทั่งจุดอ่อนความนึกคิดตนเอง

อ้างอิง

(1) Daniel R. Stalder, “Tribalism in Politics,” Psychologytoday.com. 18 June 2018.
(2) Less Ross and Constance Stillinger, “Barriers to Conflict Resolution,” Negotiation Journal 7 (1991): 389–404; ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ https://storylog.co/story/57118217ae2753102281d479
(3) Arie W. Kruglanski et al., “Groups as Epistemic Providers: Need for Closure and the Unfolding of Group Centrism,” Psychological Review 113 (2006): 84–100.
(4) Geoffrey L. Cohen, “Party over Policy: The Dominating Impact of Group Influence on Political Beliefs,” Journal of Personality and Social Psychology 85 (2003): 808–22.
(5) พฤติกรรม “Groupthink”