เชิงบันไดทำเนียบ : แผนสกัด ‘บิ๊กตู่’ แผนเผชิญ ‘รบ.ปริ่มน้ำ’ เปิดชื่อ ‘4 นายกฯ’ ผ่าทางตัน ?

ข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มีการพูดถึงตั้งแต่ปี60 แต่ถูกตีเป็นกระแสช่วงกลางปี61 ที่เริ่มเห็นหน้าตาพรรคการเมืองที่ไปจดจัดตั้งกับ กกต. หลายพรรคก็แสดงจุดยืนชัดเจน ทำให้ศึกการเลือกตั้งที่ผ่านมาเห็นกันตั้งแต่เสียงปี่กลองดังขึ้นว่าเป็นการงัดข้อของขั้ว ‘เอา-ไม่เอา คสช.’
.
อีกทั้งปรากฏการณ์เดินสายของ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ที่ลงพื้นที่พบ ‘นักการเมืองท้องถิ่น-ตระกูลการเมือง’ ในพื้นที่ต่างๆ หรือการมีนักการเมืองมาต้อนรับ

รวมทั้งปรากฏการณ์ ‘พลังดูด’ ที่เริ่มเกิดขึ้นคู่กัน จึงทำให้เกิดกระแสตีคู่ งานนี้เพื่อมารวมทัพ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่ได้กำเนิดขึ้น ทั้งการเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆที่ไปรวมกัน โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรที่นำโดย 2ส. ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ จนเป็นที่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ มีภารกิจสำคัญคือการดัน ‘บิ๊กตู่’ กลับมาเป็น นายกฯ อีกครั้ง
.
ข้อเสนอ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ มาจากแวดวงวิชาการ บุคคลที่ใกล้ชิด คสช. และนักการเมืองรุ่นใหญ่ ที่เกษียณฯตัวเองแล้ว เพราะเริ่มเห็นอนาคตทางการเมืองของ ‘บิ๊กตู่’ จึงมองว่าข้อเสนอนี้ อาจเป็นอีก ‘แผนเผชิญเหตุ’ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น ผสมกับข้อเสนอ ‘เปรมโมเดล’ ในกรณีของ ‘บิ๊กตู่’ ในเวลานั้น ผ่านการเป็น ‘นายกฯคนนอก’ เนื่องจาก ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างในเวลานั้น แต่สุดท้าย ‘บิ๊กตู่’ ตัดสินใจลงอยู่ใน ‘บัญชีนายกฯ’ ของ พปชร.
.
ซึ่งโมเดล ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ มีเค้าโครงกว้างๆ คือ ตั้งมาเพื่อ ‘เซตซีโร่ระบบการเลือกตั้งใหม่’ ทั้งหมด แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี โดยให้พรรคการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาตกผลึกกัน
.
โดยมี ‘นายกฯคนกลาง’ ที่เป็นที่ยอมรับมาทำหน้าที่ หรือที่เรียกกันว่า ‘นายกฯโทลเวย์’ นั่นเอง ในกรณีที่ ‘เกิดทางตัน’ ขึ้นมา แต่มีข้อจำกัด คือ ‘ไม่มีฝ่ายค้าน’ ทำให้ข้อเสนอนี้ถูกพับไปชั่วคราว
.
เมื่อเวลาผ่านมาเกือบ 1 ปี ข้อเสนอนี้ถูกดึงขึ้นมาอีกครั้งโดยฝ่ายการเมือง ที่มองเห็น ‘ทางตัน’ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากการเลือกตั้ง 24มี.ค.ที่ผ่านมา หากตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ ก็จะเป็น ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’ ไร้เสถียรภาพ

อีกทั้งระบบเลือกตั้งที่สร้างความชุลมุนไม่น้อย การทำงานของ กกต. ที่ถูกวิจารณ์หนัก และการงัดข้อระหว่าง ‘พรรคพลังประชารัฐ-เพื่อไทย’ ในการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล ไม่นับรวม ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ ที่เกิดขึ้นอีก 2-3 เหตุการณ์
.
ทำให้โมเดล ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ถูกหยิบยกมาอีกครั้ง และมีการพูดถึงชื่อ ‘นายกฯคนกลาง – นายกฯคนนอก’ ขึ้นมาด้วย ซึ่งในกรณีนี้ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ ทว่าในช่วงเวลานี้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเต็งหนึ่งอยู่ แต่สถานการณ์จนกว่าจะถึง 9พ.ค.นี้ สถานการณ์อาจมี ‘ปัจจัยเสริม’ เข้ามาได้เสมอ
.
ทั้งนี้รายชื่อ ‘นายกฯคนกลาง’ ที่มีการปล่อยออกมาเริ่มมาจาก ‘อ.’ ซึ่งก็มีการตีความไปที่ชื่อ ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล หน.พรรคภูมิใจไทย แต่สุดท้ายไปหยุดที่ชื่อ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามมาด้วยชื่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี อดีตรมว.ยุติธรรม
.
ต่อมา ‘เทพไท เสนพงศก’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อออกมาอีก 4 ชื่อ ได้แก่ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี อดีต ผอ.ศอ.บต. , พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี อดีต ผบ.ทบ. , นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ UNCTAD และ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ ‘เทพไท’ ให้น้ำหนักไปที่ชื่อ นายพลากร มากที่สุด เพราะมีประสบการณ์งานด้านการปกครองและไม่ใช่ทหาร
.
อย่างไรก็ตามพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ก็ยังคงอยากให้การเมืองเดินไปตามระบบ เพราะขั้นตอนต่างๆยังไม่ถึงทางสิ้นสุด แต่ข้อเสนอชื่อ ‘นายกฯคนกลาง’ ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล หรือ นายเทพไท เพียงคนเดียวเท่านั้น จึงทำให้ชื่อ ‘นายกฯคนกลาง’ ที่เสนอในเวลานี้ ยังไม่เป็นที่จับตานัก อีกมุมก็มีการมองว่าเป็น ‘การโยนหินถามทาง’ บ้างก็มองว่าเป็นการ ‘สกัดดาวรุ่ง’ หรือไม่

พรรคพลังประชารัฐ นำโดย ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ เจ้าของวลีเด็ด รธน.นี้ดีไซด์มาเพื่อพวกเรา ออกมาปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ และมองว่าเป็น ‘เทคนิคแผนสกัด’ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้เป็น นายกฯ ต่อ รวมทั้งพรรคที่คนละขั้วอย่าง ‘อนาคตใหม่’ ก็ออกมาย้ำว่าไม่เห็นด้วย เพราะขัดหลักประชาธิปไตยในการตรวจสอบถ่วงดุล ‘ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ’ ไม่แตกต่างจากยุค คสช. ที่มีรัฐบาลกับสนช.ทำหน้าที่
.
ด้าน ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. และ ‘บิ๊กตู่’ ก็เลี่ยงการตอบคำถามการเมืองในช่วงนี้ ปฏิเสธให้ความเห็นเรื่อง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ในสัปดาห์นี้ด้วย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า คนที่เสนอนั้น หวังผลอะไร รวมทั้งขั้นตอนต่างของกฎหมายเลือกตั้ง รธน. ในการได้มาของรัฐบาลใหม่ยังไม่เสร็จสิ้น รอ กกต. ประกาศผล 9พ.ค.นี้
.
ด้านพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เห็นด้วยตามสูตรนี้ แต่ก็ทิ้งช่องว่างไว้เช่นกัน ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ ชื่อที่แซง ‘หญิงหน่อย’คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชิงเก้านี้นายกฯของพรรค ออกมาระบุถึงแนวคิดไม่เห็นด้วยกับรับบาลแห่งชาติ เพราะ รธน. ไม่ได้กำหนดไว้ ควรเดินตามกติกา แต่ถ้าต้องเกิดรัฐบาลแห่งชาติขึ้นจริง ควรเป็นรัฐบาลแห่งชาติที่อายุสั้นที่สุด และต้องเป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย เพื่อมาแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดปัญหาติดขัดและเป็นอุปสรรค เมื่อแก้ปัญหาจบ ต้องให้มีรัฐบาลใหม่ทันที
.
‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล หน.พรรคภูมิใจไทย อีกพรรคตัวแปรที่รู้สถานะของตนเองเสมอว่า จะตัดสินใจในเกมนี้อย่างไร ในช่วงนี้ก็งดการให้ความเห็นการเมือง โดยให้เหตุผลรอทาง กกต.ประกาศผลที่นั่ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ 9พ.ค.นี้ก่อน

แต่ได้โพสต์ภาพทานข้าวกับ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ รองหน.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ กรุงลอนดอน ทำให้เกิดการตีความไปต่างๆนาๆ เพราะ ‘กรณ์’ ถูกจับตามองเป็นหนึ่งในแคนดิเดต หัวหน้าพรรคฯ คนใหม่ด้วย แม้ ‘เสี่ยหนู’ จะยืนยันว่าเป็นการโพสต์ขณะอยู่กับเพื่อนฝูง ไม่มีนัยยะแอบแฝงก็ตาม
.
สถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างสาย กปปส.เดิมที่พร้อมหนุน ‘บิ๊กตู่’ ขึ้นเป็นนายกฯ และสายที่ให้พรรคไปเป็น ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ อีกทั้งการหา ‘แม่ทัพคนใหม่’ สุดท้ายต้องรอดูมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะมีทิศทางอย่างไร
.
สถานการณ์ต้องจับตายาวไปถึงหลัง 9พ.ค.นี้ ในช่วงการตั้งรัฐบาลใหม่ การจับขั้วต่างๆ หลัง ‘พลังประชารัฐ’ ออกมาระบุว่าได้เก้าอี้ ส.ส. เกิน 251 ที่นั่งแล้ว แต่ผลที่จะตามมาคือ ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’ ที่ไม่มีเสถียรภาพ หาก ‘บิ๊กตู่’ ได้เป็นนายกฯ ต่อจริง ก็ต้องเผชิญกับสภาวะการ ‘ต่อรอง-งัดข้อง’ อย่างไม่สิ้นสุด อาจทำให้รัฐบาลใหม่มีอายุสั้น
.
แต่สถานการณ์ต่อจากนี้ อาจมี ‘ปัจจัยเสริม’ อื่นๆมาเป็นสิ่งกำหนดการมี ‘รัฐบาลชุดใหม่’ อีกสิ่งมีการพูดถึง ในกรณีหาก ‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้เป็น นายกฯ ต่อ จะมีตำแหน่งใดรองรับหรือไม่