ย้อนอดีต ดีลจาก “สุเทพ” ดัน ‘อภิสิทธิ์’ สู่ นายกฯ และเหตุที่เพื่อไทย ตัดสินใจ ดัน “ประชา” ? เมื่อ ๒๕๕๑

  • จากบทความ ชุมนุม “มังกร” ซ่อน “พยัคฆ์” เผยแพร่ครั้งแรกใน  นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1479 เมื่อ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 29 

กลยุทธ์การพลิกขั้วทางการเมือง ที่ทำให้ความเป็น “ฝ่ายรัฐบาล” หลุดจากมือพรรคเพื่อไทย มาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น

หากเปรียบกับแวดวงเหล่า “ยุทธจักร” แห่งนิยายกำลังภายในแล้ว

นี่ย่อมเป็นการสัประยุทธ์ของเหล่า “จอมยุทธ์” ระดับเซียนเหยียบเมฆ เพื่อแย่งชิง “เจ้าสำนัก” ซึ่งมากด้วยชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยม สุดจะเพริศแพร้วพรรณราย

แน่นอน ผู้ชนะย่อมเป็นพระเอก ขณะที่ผู้พ่ายย่อมต้องกลายเป็นผู้ร้าย

ในฝ่ายผู้ชนะสำหรับการยุทธ์ครั้งนี้ คงไม่อาจมองข้ามบาทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายเนวิน ชิดชอบ ไปได้

เพราะหากบุคคลทั้งสองไม่สามารถสลาย “ศัตรู” ให้เป็น “มิตร” ได้ การเปลี่ยนขั้วก็คงไม่สำเร็จ

และที่สำคัญ ขั้นตอนแห่งการสลาย “ศัตรู” และสร้าง “มิตร” จะต้องดำเนินการอย่างปิดลับอำพราง ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามหรือสาธารณะล่วงรู้ เพราะหากข่าวรั่วโอกาสที่จะล้มเหลวก็มีเกือบ 100%

นายสุเทพได้ใช้จุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอาวุธสำคัญ

ขณะที่นายเนวินใช้จุดแข็งของพรรคพลังประชาชนที่แปรเปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นอาวุธสำคัญเช่นกัน

จุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ที่นายสุเทพนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นก็คือ การที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกคนปรามาสว่าเป็นพรรคที่ไร้น้ำยา ไม่สามารถจะพลิกกลับมาเป็นขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้แต่วันที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็ยังไม่แทบมีใครจะ “เฉลียว” หรือ “เชื่อ” ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่

แน่นอน รวมถึงคนในพรรคพลังประชาชนด้วย

AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เพราะความไม่เฉลียวใจนี้เอง ทำให้พรรคพลังประชาชนเชื่อว่าถึงอย่างไรตนเองก็จะต้องได้จัดตั้งรัฐบาล

เลยเกิดภาวะดันทุรังที่จะเข็ญเอาบุคคลที่ “ไร้สภาพ” ไม่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่สนใจว่า “สังคม” จะรับได้ หรือไม่ได้

ขณะเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นเสียงข้างมาก และด้วยภาพที่ยังขายได้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยิ่ง “ตายใจ” ว่า คงไม่มีใครหรือกลุ่มใดในพรรค กล้าที่แหกคอก หรือขัดขืนไปจากพรรคตนเองได้

รวมถึงกลุ่มของนายเนวินที่เจ็บลึกจากกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ตนเองสนับสนุน ถูกเชือดโดยกลุ่ม นายยงยุทธ ติยะไพรัช ขณะเดียวกัน ยังถูกลิดรอนอำนาจ เมื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนก็คงไม่กล้าหือ

แล้วที่สุด “จุดแข็ง” ก็กลายเป็น “จุดอ่อน” อันสำคัญ เมื่อกลุ่มนายเนวินหยิบฉวยไปใช้เพื่อ “อำพราง” ปฏิบัติการแยกตัวออกจากพรรคพลังประชาชนอย่างเงียบกริบ

แต่มากด้วยฤทธานุภาพ!

ปฏิบัติการครั้งนี้ นายสุเทพบอกอย่างภาคภูมิว่า ไม่มีใครระแคะระคายเลย

“คราวนี้เฮงด้วย แม้แต่พวกสื่อยังไม่สงสัยผมเลย ผมไปทั่วไม่มีใครสนใจผมเลย เขาดูว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีน้ำยา เชื่อว่าเราทำไม่ได้ คนในพรรคผมยังบอกเลยว่ายาก ไอ้ผมมันขยันเดินไปเรื่อย ทำสำเร็จก็ดีกับบ้านเมือง ไม่สำเร็จก็เท่าทุน กลับไปเป็นฝ่ายค้านอย่างเดิม ไม่กดดันอะไร” นั่นคือเบื้องหลังของเหตุการณ์ที่นายสุเทพเปิดเผย

การ “ขยันเดิน” ที่นายสุเทพว่ามีขึ้นก่อนการยุบพรรคการเมืองพลังประชาชนวันที่ 2 ธันวาคม พอสมควร

เมื่อมีสัญญาณมาจากพรรคพลังประชาชนว่ากลุ่มนายเนวินคิดจะมารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จะเลือก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ แทน นายสมัคร สุนทรเวช

แต่ตอนนั้น นายสุเทพบอกว่ามันฉุกละหุก ไม่มีใครมั่นใจใคร

แต่มันก็ทิ้ง “รอย” อะไรบางอย่างอยู่

นายสุเทพจึงเชื่อมต่อด้วยการบินไปพบกับนายเนวินที่ประเทศอังกฤษ เพื่อ “เคลียร์” ข้อสงสัยในทุกเรื่อง แล้วทุกอย่างก็ลงตัว

ลงตัวด้วยข้อสรุปที่ทำให้นายสุเทพเกิดความมั่นใจ

นั่นก็คือ ถ้าเอาพรรคประชาธิปัตย์ 165 บวกพรรคร่วมอื่นๆ แล้วรวมเสียงจากนายเนวินแค่ 20 เสียง สิ่งที่ทุกคนเชื่อว่าจะไม่น่าเกิดขึ้นได้ ก็เกิดขึ้น

และ “ความไม่น่าเชื่อ” ซึ่งเกิดขึ้นตรงนี้ นายสุเทพก็ได้หยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ เพื่อดึงเอาพรรคอื่นๆ มาร่วมโดยอาศัยคนเก่าของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แห่งพรรคชาติไทย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แห่งพรรครวมใจชาติพัฒนา นายไชยยศ จิรเมธากร แห่งพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นตัวเชื่อม

AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ซึ่งก็ให้ความมั่นใจแก่พรรคเหล่านั้น ว่าเมื่อกลุ่มนายเนวินยังสามารถกระทำ “ในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้” ได้แล้ว พรรคร่วมอื่นๆ ก็น่า “พิจารณาปฏิบัติการ” นี้ด้วย

แน่นอนว่า สำหรับ “มังกร” ทางการเมืองอื่นๆ

ไม่ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แห่งพรรครวมใจชาติพัฒนา นายพินิจ จารุสมบัต แห่งพรรคเพื่อแผ่นดิน ย่อมจับกระแสการเมือง “พิเศษ” นี้ได้

และยิ่งเมื่อนายสุเทพและนายเนวินได้ทำให้เกิดการพบปะกันระหว่าง ผู้นำเหล่าทัพ กับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

“ความมั่นใจ” ก็ยิ่งเกิดขึ้น

ที่สุด ก็ได้นำไปสู่การรวมตัวประกาศจับขั้วใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำดังกล่าว

แน่นอนว่า ฝ่ายที่ช็อกมากที่สุดกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือ พรรคเพื่อไทย

เพราะเอาเข้าจริงการเป็นพรรคเสียงข้างมาก ก็ไม่อาจจะรักษา “อำนาจ” เอาไว้ได้อีกต่อไป

AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ขณะเดียวกัน พิษจากการถูกยุบพรรค 2 ครั้ง ทั้งในช่วงพรรคไทยรักไทยรักไทยที่นำไปสู่การตัดสิทธิ กรรมการบริหารพรรค 111 คน และ พรรคพลังประชาชน ที่มีผู้ถูกตัดสิทธิไปอีก 35 คน ทำให้สภาพพรรคอยู่ในภาวะอ่อนเปลี้ย มีแต่ภาพลวงตา ในเรื่องการเป็นพรรคเสียงข้างมากเท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองยังได้เปรียบ

แต่เมื่อเจอการรุกแบบเหนือชั้นของนายสุเทพและนายเนวิน ก็เกิดสภาพระส่ำระสาย และถอยกรูดอย่างไม่เป็นขบวน

นับตั้งแต่ประกาศยอม “สละสิทธิ์” ไม่ให้คนในพรรคเพื่อไทยขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะยอมเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลแทน

ถึงจะสร้างแรงกระเพื่อมได้แต่ก็ดูเหมือนจะสายไปแล้ว เพราะอีกฟากได้จับขั้วกันแน่นแล้ว

ข้อเสนอดังกล่าวจึงมีอันแท้งไป

แต่ก็ใช่พรรคเพื่อไทยจะยอมยกธงขาวง่าายๆ

เพราะจังหวะนั้นเอง นายเสนาะ เทียนทอง ที่พลาดขบวนรถไฟเที่ยวประชาธิปัตย์ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญทางการเมืองระดับ “มังกร” การเมืองอีกตัวหนึ่ง เสนอทางเลือกขึ้นมาอีกทาง

นั่นคือ การจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อชาติ”

โดยใช้กลยุทธ์ดึงทุกพรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล และเพื่อความสมานฉันท์ให้พรรคใหญ่ทั้งสองพรรค สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้พรรคเล็กที่เป็นกลางทางการเมือง ขึ้นมาแทน

ด้วยการชูชื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้นมา

พล.ต.อ.ประชา ซึ่งแม้จะเป็นหัวหน้าพรรค แต่อำนาจการต่อรองภายในพรรคก็มีน้อยอย่างยิ่ง จนแทบไม่มั่นใจว่าจะมีเก้าอี้รัฐมนตรีที่เหมาะสมให้หรือไม่ เมื่อมาเจอ ข้อเสนอ “ดีๆ” เช่นนี้ มีหรือจะปฏิเสธ

และยิ่ง เมื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่รู้จะเดินเกมไปทางไหน ถูกไฟต์บังคับให้เกาะหาง “มังกร” เสนาะ ชูธงรัฐบาลเพื่อชาติด้วย

พล.ต.อ.ประชา ยิ่งมั่นใจขึ้น

ประกอบกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเป็นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อที่จะรักษาอำนาจผ่านพรรคเพื่อไทยต่อไป ทำให้มีการส่งสัญญาณผลักดัน พล.ต.อ.ประชา ขึ้นมาเป็นคู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งนั่นก็ได้นำไปสู่การยื้อแย่งเสียงกันอย่างดุเดือด

พรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่า ชาติไทย มัชฌิมาประชาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนาและเพื่อแผ่นดิน แตกเป็นเสี่ยง ภายใต้กระแสข่าวเรื่องผลประโยชน์ เรื่องการซื้อตัว เรื่องการล็อบบี้ เรื่องการล็อกตัว

รวมไปถึงการข่มขู่ทั้งด้วยกลุ่มม็อบ ไปจนถึงการขว้างระเบิดเข้าใส่บ้าน ส.ส.

ถือเป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ที่ครบเครื่อง ทั้งใต้ดินบนดิน

เวทีสภา ซึ่งใช้ตัดสินว่าใครจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคราวนี้

จึงเปรียบเสมือน เวทีชิงเจ้ายุทธจักรที่มากด้วยความพลิกผัน

ครบสมบูรณ์ด้วยเล่ห์เหลี่ยม กลยุทธ์ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย

สภาอันอันทรงเกียรติ กลายเป็นแหล่งชุมนุมมังกร ซ่อนพยัคฆ์ ที่เชือดเฉือนกันจนนาทีสุดท้าย

แม้ที่สุด ชัยชนะจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่านั่นเป็นชัยชนะที่ยั่งยืนเพียงใด