(S)election : เสียงจากคนรุ่นใหม่ ถึงปัญหาในปัจจุบัน และเรื่องแรกที่รัฐบาลใหม่ควรทำ

การเลือกตั้งครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใกล้เข้ามาทุกที หลายพรรคต่างทุ่มหาเสียงประชาชนทั่วสารทิศ รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนนับตั้งแต่การรัฐประหาร ปี 2557

ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงรุ่นใหม่ (New Voters) หรือคนรุ่นใหม่ซึ่งปัจจุบันพบว่า ตัวเลขผู้มีสิทธิ์ที่เป็นคนรุ่นใหม่และกำลังจะได้เลือกตั้ง 24 มีนาคม เป็นครั้งแรกอาจสูงกว่า 7 ล้านคน หรือคิดสัดส่วนคะแนนจะได้จำนวน ส.ส.ในสภาถึง 70 ที่นั่ง หลายคนกำลังอยู่ในวัยเรียนไม่ว่ามัธยม มหาวิทยาลัยหรือเพิ่งสำเร็จการศึกษาและกำลังเข้าสู่โลกของการทำงาน

พวกเขาเหล่านี้คือกลุ่มประชากรที่ต้องใช้ชีวิตในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าอีกหลายปี และใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหามากมายไม่เหมือนกัน พวกเขาจึงเป็นอีกกลุ่มประชาชนในประเทศนี้ ที่คาดหวังการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลใหม่ที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่แพ้ความต้องการของคนรุ่นก่อนที่ตอนนี้หลายคนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

เสียงของ “คนรุ่นใหม่” จึงเป็นเรื่องที่หลายพรรคการเมืองไม่อาจมองข้ามได้

 

“อาย” และ “เปรียว” 2 นักศึกษาสาวรัฐศาสตร์ปี 2 จากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าถึงความยากลำบากในการเดินทางไปเรียนหนังสือแต่ละวันว่า เส้นทางที่เดินทางไปเรียนหนังสือใช้เวลานานเพราะการจราจรติดขัด รถโดยสารประจำทางก็ไม่เพียงพอ จนบางครั้งอาจใช้ได้อย่างเดียวคือรถตู้ โดยเฉพาะเปรียวที่อาศัยอยู่ในย่านนวมินทร์ ยังไม่เห็นรถโดยสารประจำทางครอบคลุมถึงพื้นที่

“ส่วนใหญ่ปัญหาที่เจอคือรถติดตอนเช้า อย่างช่วงนี้ที่มีการก่อสร้างรถไฟสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ก็ทำให้รถติดมาก เวลาไปเรียนก็ต้องเผื่อเวลาไว้ แม้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่เข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังส่งผลต่อการเดินทางด้วย” เปรียวกล่าว

อายได้กล่าวถึงงานสำคัญชิ้นแรกที่รัฐบาลใหม่ควรทำคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แม้จะไม่ได้ประสบด้วยตัวเองเพราะยังเรียนหนังสืออยู่ แต่ถ้าติดตามข่าวก็จะมีเสียงบ่นกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การท่องเที่ยวไม่ค่อยดี และมีความกังวลต่อการได้งานทำหลังเรียนจบ

“เรื่องเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ตัวเราต้องรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็ต้องเข้ามาช่วย”

อายกล่าว

 

ด้านสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ หรือ “ง้วง” ที่กำลังศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเล่าความเหมือน-ต่างของไทยกับไต้หวันว่า หลายทศวรรษก่อน ไต้หวันเป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลักและมีรายได้ต่อหัวที่เรียกว่าจนพอกัน แต่พอมีการพัฒนาเศรษฐกิจ ไต้หวันก็กลายเป็นประเทศที่พัฒนาก้าวกระโดด แต่ของไทยเหมือนจะไปได้แต่ก็ตกหลุม การพัฒนาไม่สามารถไปได้ดีเท่าที่ควร อยู่ในสภาพติดกับดักรายได้ปานกลาง

ส่วนเรื่องแรกที่อยากให้รัฐบาลใหม่ทำมากที่สุดนั้น ง้วงกล่าวว่า เรื่องปากท้องสำคัญมาก เพราะถ้าประชาชนไม่มีความสุขไม่ว่าระบบไหนก็มีแต่ไม่ดี จึงต้องทำให้ทุกคนอิ่มท้องอยู่ดีกินดี ผมคิดว่ารัฐบาลที่ได้เสียงจากประชาชนย่อมเข้าใจปัญหาที่ประชาชนเผชิญ เมื่อพรรคเข้าใจปัญหาประชาชน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้

เมื่อถามว่าหน้าตาของประเทศไทยในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หากเป็นรัฐบาลของพรรคที่ คสช.สนับสนุนในการสืบทอดอำนาจและบริหารประเทศต่อ

ง้วงกล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองของ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งใช้เสียง ส.ว. 250 ที่นั่งสร้างความได้เปรียบ สภาพของประเทศไทยก็ไม่ต่างจาก 5 ปีที่ผ่านมาคือ “รวยกระจุก จนกระจาย” แม้รัฐบาล คสช.อ้างว่าเศรษฐกิจดี จีดีพีโต แต่ทำไมคนทั่วไปไม่รู้สึกเหมือนกับอย่างที่รัฐบาลอ้าง แสดงว่าต้องมีปัญหาบางอย่าง

เศรษฐกิจโตแต่ประชาชนไม่มีความสุข รายได้ไม่เพิ่ม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ขณะที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองที่ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยซึ่งไม่ใช่งานประจำ และปัญหาหนึ่งสำหรับอาชีพอิสระคือ ความมั่นคงในการงานเป็นสิ่งที่ต้องการมาก

“ไม่มีหลักประกันรายได้ในช่วงที่ไม่มีงานทำ อย่างผมที่งานมีลักษณะเป็นโปรเจ็กต์ ถ้าระยะยาวก็โชคดีหน่อย แต่รายได้จะมีต่อเมื่อโปรเจ็กต์จบแล้ว ทำให้ต้องไปหยิบยืมประคองตัวระหว่างทำโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นข้อเสียของงานอิสระ อาจไม่เหนื่อยเท่าคนทำงานประจำ แต่งานที่ทำอาจไม่ได้วันละ 8 ชั่วโมง บางวันต้องทั้งวันเพื่อให้โปรเจ็กต์เสร็จ” จ่านิวกล่าว

สำหรับสิรวิชญ์ เรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งทำคือความมั่นคงทางอาหาร เพราะว่าจากนโยบายการจัดระเบียบแผงลอยทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงอาหารเพิ่มขึ้น รัฐบาลอาจแก้ไขเรื่องความเป็นระเบียบ แต่ไม่ได้สร้างทางเลือกในการเข้าถึงอาหาร ราคาจับต้องได้

รัฐบาลจะทำยังไงให้สองสิ่งนี้สมดุล

นอกจากนี้ “ยุทธ์” หรือที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเรียกว่า “พอล” ปัจจุบันเป็นพนักงานของโฮสเทลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำงานหลายที่ จนมาทำงานในโฮสเทล (ที่พักรวมราคาถูก) ปัญหาที่เจอคือ ตอนนี้ข้อกฎหมายยังไม่เอื้อกับโฮสเทล อีกทั้งโฮสเทลยังไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ลักษณะโฮสเทลที่อื่นในไทยก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้าทำแบบถูกกฎหมายจะดีกว่า

เรื่องการทำให้ที่พักราคาถูกอย่างโฮสเทลถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่ยุทธ์อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการ หรือการเปิดช่องทางกับคนรุ่นใหม่บางคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ แต่ติดข้อกฎหมาย โดยยุทธ์ยกตัวอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะด้วยความชอบส่วนตัวของยุทธ์และมีความฝันอยากผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ทั้งที่จริงภูมิปัญญาในหลายที่สามารถทำได้หมด แต่สุดท้ายไม่ได้และกลายเป็นเหล้าเถื่อน

“ด้วยประสบการณ์ส่วนตัว บางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือมีกรรมวิธีแบบเฉพาะในพื้นที่ แต่ทุกวันนี้ พอกฎหมายไม่เปิด เหล้าเหล่านี้กลายเป็นของเถื่อน ถ้าเห็นคือโดนจับ นับเป็นความน่าเสียดาย กฎหมายควรเปิดผู้ประกอบการรายย่อยและส่งให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี แต่ทุกวันนี้ผูกขาดอยู่ไม่กี่ราย” ยุทธ์กล่าว

นอกจากนี้ ยุทธ์กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วางตามตลาดด้วยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติรายหนึ่งถามผมว่า มีเบียร์แค่นี้เองหรือ? หรือเคยมีโอกาสคุยกับคนเบลเยียม เขาเล่าให้ฟังว่า ถ้านึกถึงเบียร์ ของเยอรมันและเบลเยียมจะเยอะมาก มีหลากหลายให้เลือก

ถ้าแก้ไขโดยเร็ว จะเป็นอะไรที่ดีมาก เศรษฐกิจฐานรากจะดี