E-DUANG : บทสรุป”ร่วม”เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ต่อคสช.

ทัศนะอันแตกต่างจากกรณีของ “ร่างพรบ.พรรคการเมือง”น่าศึกษา น่าทำความเข้าใจ
เพราะ “กรธ.”มองอย่างหนึ่ง
เพราะพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ มองอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งๆที่เป็น”ร่างพรบ.”เดียวกัน
ที่ว่า น่าศึกษา น่าทำความเข้าใจ เพราะไม่เพียงแต่”ร่างพรบ. พรรคการเมือง”เท่านั้นที่สะท้อนปัญหาในลักษณะนี้
หากแม้”ร่างรัฐธรรมนูญ”ก็เช่นเดียวกัน
ที่มีความเห็นแตกต่างกันเป็นเพราะ ฝ่าย 1 คือกรธ. อีกฝ่าย 1 คือ พรรคการเมืองอย่างนั้นหรือ
อาจใช่
แต่ไม่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่า”ร่างพรบ.พรรคการเมือง”ก็สามารถสาวลึกไปยัง “ต้นตอ”
ต้นตออันเป็นที่มาของ “ร่างกฎหมาย”
ต้นตออันเป็นที่มาของการ “มองต่างมุม”

เนื้อหาอันปรากฏใน “ร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อสะท้อนจาก”กรธ.”เปี่ยมด้วยความยอดเยี่ยม
เท่ากับเป็นการสร้าง”ประวัติศาสตร์”ใหม่
ขณะเดียวกัน เมื่อสะท้อนจากพรรคเพื่อไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ กลับตรงกันข้าม
นี่คือ ความอัปลักษณ์ นี่คือ ปัญหา
หากย้อนกลับไปพิจารณาถึง “รากเหง้า” อย่างแท้จริงก็ต้องเริ่มต้นจากจุดแห่ง “รัฐประหาร”
เป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
แล้ววลีที่ผุดโผล่ขึ้นมาอย่างอัตโนมัติกับบทบัญญัติของ”ร่าง รัฐธรรมนูญ”
คือ การสืบทอด”อำนาจ”

มองเฉพาะจากประเด็นอันเกี่ยวกับ “พรรคการเมือง” โดยเฉพาะระ หว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์
น่าแปลกอย่างยิ่ง
หากพิจารณาสถานการณ์ก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เด่นชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์แนบแน่นกับ”กปปส.”
ความหมายก็คือ พรรคประชาธิปัตย์มีความโน้มเอียงที่จะเห็นด้วยกับกระบวนการของ “รัฐประหาร”
และตั้งความหวังว่ารัฐประหารนำไปสู่”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
แต่แล้วเมื่อปรากฏมาเป็น”ร่างรัฐธรรมนูญ”และ”ร่างพรบ.พรรคการเมือง” พรรคประชาธิปัตย์กลับมายืนเรียงอยู่เคียงข้างกับ พรรคเพื่อไทย
กลายเป็น “พันธมิตร” ใน”แนวร่วม”
สรุปความเห็นร่วมกันอย่างฉาดฉายต่อ”ร่างกฎหมาย”เหล่านี้ว่าคือ รูปธรรมแห่ง”การสืบทอดอำนาจ”
ภาษาเดียวกัน น้ำเสียงเดียวกัน